วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
หน้าแรกท้องถิ่นกสม.แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 46/2565

Related Posts

กสม.แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 46/2565

กสม. ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลขอฟังคำวินิจฉัยของหมอโดยผู้ป่วยไม่ยินยอม ชี้สิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับการคุ้มครอง – ระบุโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ นาบอน นครศรีธรรมราช ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ – เผยผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ กสม. กรณีมหาวิทยาลัยห้ามนักศึกษามุสลิมแต่งกายตามหลักศาสนา ล่าสุด มหาวิทยาลัยแก้ระเบียบแล้ว

วันที่ 29 ธันวาคม 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 46/2565 โดยมีวาระสำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้

  1. กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีพนักงานฝ่ายบุคคลของบริษัทขอเข้าร่วมรับฟังการวินิจฉัยโรคของแพทย์โดยผู้ป่วยไม่ยินยอม ย้ำสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับความคุ้มครอง

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 จากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า ผู้ร้องเป็นผู้จัดการฝ่ายอาหารของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้แจ้งทางบริษัทว่า มีอาการปวดศีรษะ อาเจียน และเป็นไข้ ขอลาป่วยเพื่อไปพบแพทย์ที่คลินิก ปรากฏว่าพนักงานฝ่ายบุคคลของบริษัทได้ติดตามผู้ร้องไปที่คลินิกและแจ้งความประสงค์ขอเข้ารับฟังการวินิจฉัยของแพทย์ด้วย ผู้ร้องให้ความยินยอมเนื่องจากเกรงว่าอาจกระทบต่อผลการปฏิบัติงาน สองวันต่อมาผู้ร้องได้แจ้งบริษัทว่าไม่สบายและเห็นว่าน่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานที่ทำงานไม่ถูกสุขลักษณะ จึงขอลาป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล พนักงานฝ่ายบุคคลของบริษัทได้แจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมรับฟังการวินิจฉัยของแพทย์อีกครั้ง แต่ผู้ร้องไม่ให้ความยินยอม และนำเหตุดังกล่าวไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นหลักฐาน ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 บริษัทได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างกับผู้ร้อง โดยอ้างผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และให้มีผลทันที จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล โดยบริษัทได้ชี้แจงว่า กรณีพนักงานฝ่ายบุคคลของบริษัทเข้าร่วมรับฟังการวินิจฉัยโรคของแพทย์เนื่องจากสงสัยว่าผู้ร้องมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงหรือเป็นอาการป่วยที่เกิดจากการทำงานหรือไม่ หากเป็นการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานบริษัทจะได้ส่งตัวผู้ร้องเข้ารับการรักษาตามสิทธิต่อไป อย่างไรก็ดี ผู้ร้องได้ฟ้องบริษัทต่อศาลแรงงานภาค 1 (พระนครศรีอยุธยา) เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อขอให้บริษัทจ่ายค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ผู้ร้องได้ถอนฟ้องบริษัทเนื่องจากมีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันแล้ว โดยบริษัทได้จ่ายเงินให้แก่ผู้ร้อง จำนวน 300,000 บาท และได้ขอถอนเรื่องร้องเรียนต่อ กสม.ด้วย จึงเป็นกรณีตามมาตรา 19 (7) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ กสม. สั่งยุติเรื่อง

“สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในข้อมูลส่วนตัวเป็นสิทธิพื้นฐานสำคัญที่ทุกคนต้องได้รับความคุ้มครอง ซึ่งในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลจะทำได้ก็ต่อเมื่อเจ้าของข้อมูลให้ความยินยอม เว้นแต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อยกเว้นอื่นที่กฎหมายให้อำนาจ กรณีดังกล่าวนี้แม้เรื่องจะเป็นที่ยุติแล้ว แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าทุกคนมีสิทธิที่จะปกป้องความเป็นอยู่ส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง” นายวสันต์กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts