กสม. วันที่ 5 ม.ค. 66 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปปลัดกระทรวงมหาดไทย ตำหนิผู้ใต้บังคับบัญชาของปลัดกระทรวงมหาดไทยในการประชุมข้าราชการกระทรวงฯ ซึ่งปรากฏกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมกันอย่างกว้างขวาง ว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ติดตามเรื่องดังกล่าวและเห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเกียรติยศชื่อเสียง ด้วยมีการใช้ถ้อยคำในลักษณะดูหมิ่น เหยียดหยามและลดทอนคุณค่าของบุคคล อันไม่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง รวมทั้งหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ระบุว่า การเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะด้วยเหตุแห่งสถานะทางสังคมหรือเหตุอื่นใดย่อมกระทำไม่ได้ นอกจากนี้หากพิจารณาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ข้าราชการต้องมีความประพฤติสุภาพเรียบร้อย และต้องรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการมิให้เสื่อมเสียด้วย
และในการประชุมกรรมการสิทธิฯ ด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ได้หารือถึงเรื่องดังกล่าวและมีความเห็นในเบื้องต้นว่า กรณีนี้เข้าข่ายการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น สะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยม และการขาดความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการสื่อสารที่เป็นการลดทอนคุณค่าและสร้างผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจหรือเกียรติยศของผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมทุกภาคส่วนโดยเฉพาะสถาบันการศึกษาต้องช่วยกันบ่มเพาะ ปลูกฝังและสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกัน
“กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่า เรื่องนี้ ผู้บังคับบัญชาของปลัดกระทรวงมหาดไทยควรจะเร่งตรวจสอบและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตามหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป” นางสาวสุภัทรา กล่าว
ด้านนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยสถิติเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคม 2565 มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 1,152 เรื่อง สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยประเด็นที่มีการร้องเรียนมายัง กสม.มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 สิทธิและสถานะของบุคคล คิดเป็นร้อยละ 36.72 อันดับที่ 2 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม คิดเป็นร้อยละ 13.72 และอันดับที่ 3 สิทธิชุมชน คิดเป็นร้อยละ 5.03 ส่วนประเด็นสิทธิอื่น ๆ ที่มีการร้องเรียนมายัง กสม. เช่น สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย สิทธิและความเสมอภาคทางเพศ การเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม สิทธิแรงงาน สิทธิเด็ก สิทธิคนพิการ สิทธิของผู้สูงอายุ และสิทธิทางการศึกษา เป็นต้น
สำหรับเรื่องร้องเรียนที่ กสม. รับไว้เป็นคำร้องเพื่อดำเนินการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในปี 2565 จำนวน 124 คำร้อง ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 96 คำร้อง อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของ กสม. จำนวน 6 คำร้อง และอยู่ระหว่างการติดตามผล การประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 22 คำร้อง โดย กสม. มีนโยบายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเร็ว ซึ่งการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนช่วยร่นระยะเวลาให้สั้นลง หลายคำร้องใช้ระยะเวลาไม่นานในการดำเนินการจนแล้วเสร็จ เช่น คำร้องเรื่อง สิทธิและสถานะของบุคคล กรณีการอำนวยความสะดวกติดตาม ประสาน เร่งรัดกระบวนการพิจารณาสัญชาติที่สามารถดำเนินการเเล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน
ส่วนการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปี 2565 มีจำนวน 181 เรื่อง โดยประเด็นสิทธิที่ กสม. มีมติว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่อมวลชน โดยละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และผู้เกี่ยวข้องในการเสนอข่าวต่อสาธารณะ กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่คืนทรัพย์สินที่ยึดไว้เป็นของกลางในคดีอาญา และกรณีพนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้า 2. สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เช่น กรณีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บสาหัสในการสลายการชุมนุม กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐทำร้ายร่างกายขณะจับกุมและควบคุมตัว และกรณีการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) หรือการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดแบบเหมารวมโดยไม่ได้รับความยินยอม และ 3. สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน เช่น กรณีแนวเขตของอุทยานแห่งชาติ ทับซ้อนที่ดินทำกินของราษฎร และกรณีปัญหาการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและการจัดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้แก่คนจนเมืองในชุมชนแออัด