ไว้ใจไม่ได้แล้วมั้ง… เลขา ก.ล.ต. ขย่ำคนถูก.. หากจุกตูดกับ โจรต่างแดน… พวกปล้นหนัก-ค่าปรับน้อย ออกระเบียบแต่ละครั้ง บอนไซของไทย เทใจกระดานเถื่อน
“…เหมือนกับขับไล่นักลงทุนให้แห่ไปใช้ของเถื่อน หนีไปสมัครใช้กระดานเทรดต่างชาตินอกการควบคุมของ ก.ล.ต. ส่อแววว่าอนาคตเอกชนผู้พัฒนาคริปโตฯ ไทย เสี่ยงเดี้ยงทั้งระบบ เงินหนีเข้ามือต่างชาติ ใครจะรับผิดชอบ ยังไม่รวมปัญหาหุ้น MORE ที่เกิดขึ้นส่งท้ายปีอีก แล้วจะยังไว้ใจท่านเลขาฯ ได้อย่างไร?…”
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคริปโตฯ ที่กระดานเทรดเอกชนบางราย พยายามพัฒนาขึ้น ก่อนที่ ก.ล.ต. จะคิดได้ ก็เผือกเข้าไปควบคุมเล่นงาน ปรับแล้วปรับเล่า จนเกือบ 100 ล้านบาทเข้าไปแล้ว…จ่ายเงินกันไม่หวาดไม่ไหว ทั้งที่ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อนักลงทุนสักแดงเดียว แต่งานที่กระดานเทรด Zipmex พ่นพิษใส่นักลงทุน ผิดกฎหมาย ก.ล.ต. เงียบไม่ได้กดดันอย่างเอาเป็นเอาตาย ปรับเงินก็เพียงแค่เล็กน้อย โดยโปรแกรม ZipUp+ ฝากเงิน ล็อคเหรียญ คือตัวอย่างความเสียหาย โดยนำทรัพย์สินที่นักลงทุนฝากไปลงทุนต่างประเทศ จนพังกันทั้งกระดานเมื่อกลางปี 2565 มูลค่าความเสียหาย 2,000 ล้านบาท โดน ก.ล.ต. ปรับเล็กน้อย 1.92 ล้านบาท บางคนถึงกับเปรียบเปรยว่า…
โจรข้ามถนนมายิงคนเสียชีวิต แต่ความผิดที่ได้รับคือค่าปรับ ข้อหาโจรไม่ข้ามสะพานลอย
ไม่แน่ใจจริงๆ ว่าจะไว้ใจ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาฯ ก.ล.ต. ทำงานควบคุมตลาดทุน และตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ได้อย่างไร เนื่องจากผลงานรอบปี 2565 นักลงทุนไทยได้รับความเสียหายจากหลายกรณี ทั้งที่บ้านเรามีหน่วยงานกำกับอย่าง ก.ล.ต. แต่คนคุมบังเหียนมีแต่สร้างเรื่องให้สังคมแคลงใจ
เลือกปฏิบัติ? กระดานเทรดเอกชนบางราย ปฏิบัติตามกฎหมาย แทนที่ ก.ล.ต. จะสนับสนุนกลับปรับแล้วปรับเล่า… จ่ายเงินกันไม่หวาดไม่ไหว ทั้งที่ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อนักลงทุนสักแดงเดียว
แต่งานที่กระดานเทรด Zipmex พ่นพิษใส่นักลงทุน ผิดกฎหมาย ข้อที่ว่า “บริษัทห้ามนำทรัพย์สินของลูกค้าไปหาดอกผล และต้องเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้อย่างปลอดภัย” ก.ล.ต. หรือ ท่านเลขาฯ รื่นวดี สุวรรณมงคล ส่อทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้กดดัน อย่างเอาเป็นเอาตาย ปรับเงินก็เพียงแค่เล็กน้อย โดยโปรแกรม ZipUp+ ฝากเงิน ล็อคเหรียญ คือตัวอย่างความเสียหาย พฤติการณ์ของ Zipmex นำทรัพย์สินที่นักลงทุนฝากไปลงทุนต่างประเทศ จนพังกันทั้งกระดานเมื่อกลางปี 2565 มูลค่าความเสียหาย 2,000 ล้านบาท โดน ก.ล.ต. ปรับเล็กน้อย 1.92 ล้านบาท บางคนถึงกับเปรียบเปรยว่า…
โจรข้ามถนนมายิงคนเสียชีวิต แต่ความผิดที่ได้รับคือค่าปรับ ข้อหาโจรไม่ข้ามสะพานลอย
ก.ล.ต. ไม่ได้สนพฤติกรรมเยาะเย้ย ปล่อยให้โฆษณา Zipup+ เผยแพร่มานานกว่า 2 ปี นอกจากนั้น ก.ล.ต. ยังถูก Zipmex มองข้ามศีรษะอย่างหน้าตาเฉย ไม่ต้องเกรงอกเกรงใจ เลขาฯ รื่นวดี แต่กลับเกรงใจหน่วยงานกำกับ อินโดนีเซีย มากกว่า ถึงขั้นแอบยอมเอาเงินกองกลาง ที่จะต้องทยอยชดใช้ผู้เสียหายทั่วโลกพร้อมๆ กัน แอบจ่ายเงินให้นักลงทุนอินโดนีเซียก่อน จนโดนศาลสิงคโปร์ด่า เพราะไม่แฟร์กับผู้เสียหายทั่วโลก
ทำไม ท่านเลขาฯ รื่นวดี สุวรรณมงคล ถึงปล่อยให้ ก.ล.ต. ไทย ถูกเหยียมหยามเกียรติเช่นนี้..?
ถ้า ก.ล.ต. ไล่บี้ Zipmex ให้ได้สักครึ่งหนึ่ง เฉกเช่นการไล่บี้หาเหตุเตะตัดขากระดานเทรดเอกชนเจ้าอื่น หาเรื่องสั่งปรับไปแล้วเป็น 100 ล้านบาท หรือทำงานให้เข้มแข็ง จัดการให้ตรงจุดเหมือนหน่วยงานกำกับอินโดนีเซียที่มีคำสั่งให้ถอดเหรียญ ZMT ออกจากกระดานเทรด ป่านนี้ผู้เสียหายในไทยอาจจะได้รับเงินคืนเช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซียไม่มากก็น้อย
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ดูจะเอาจริงเอาจังในการไล่บี้เหรียญของ Bitkub ถึงกับออกคำสั่งด่วน ระบุว่าเหรียญมีคุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับอนุมัติเข้ามาซื้อขายตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule)
เมื่อตัดภาพกลับมาที่ Zipmex ซึ่งมี Zipmex Token (ZMT) เป็นเหรียญของตัวเองเช่นเดียวกัน ที่หากใช้มาตรฐานการทำงาน ก.ล.ต.แบบเดียวกับ Bitkub ตัวเหรียญ ZMT เองก็ควรจะถูกตั้งคำถาม ในเรื่องคุณสมบัติการพิจารณาคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ว่าปัจจุบันเหรียญ ZMT ยังมีคุณสมบัติพอที่จะเทรดอยู่ในกระดานเทรดของ Zipmex อีกต่อไปหรือไม่ ก.ล.ต. ก็ควรไปดูข้อมูล ซึ่งบอกอยู่ชัดเจนบนเว็บไซต์ของ Zipmex เองว่า การลงทุนที่ผิดพลาด (misuse of funds) เป็นสาเหตุหนึ่งที่เหรียญจะต้องถูกถอดออกจากกระดานเทรด (De-list)
ตรงกันข้ามกับกระดานเทรดเอกชนไทยที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย โดนไล่หวดกวดขัน แต่กระดานเทรดเถื่อนต่างชาติอย่าง FTX ที่ทำให้นักลงทุนไทยจำนวนมากได้รับเสียหาย ก.ล.ต. ก็น่าจะทราบดี คำถามคือ ที่ผ่านมา ก.ล.ต. เคยมีมาตรการที่จริงจัง จัดการกระดานเทรดเถื่อนเหล่านี้บ้างหรือไม่ ทั้งที่ตัวเลขชี้ชัดว่า ประเทศไทยมีนักลงทุนเสียหาย อยู่อันดับที่ 13 เกือบ 130,000 คนต่อเดือน “ซ้ำ” แผลเดิมของวงการคริปโตเคอร์เรนซีที่ยังไม่หายดีจากเคส Terra LUNA และ UST เมื่อช่วงกลางปีนี้ อย่าว่าแต่การสนับสนุนส่งเสริมวงการสินทรัพย์ดิจิทัลเลย เอาแค่ปกป้องประชาชนยังไม่เคยทำได้
นอกจากนั้นการเตะตัดขาผลิตภัณฑ์ในวงการคริปโตฯ แบบรักตัวกลัวตาย ของ ก.ล.ต. 11 มิถุนายน 2564 ได้ทำหมันห้ามซื้อขายโทเค็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. Meme Token 2. Fan Token 3. NFT 4. Utility Token
อาจจะเพราะความไม่รู้.. ไม่ก้าวหน้า.. พาลกลัวไว้ก่อน แต่เรื่องที่สมควรกลัวไม่ขยับ
ยกตัวอย่างแนวคิดของ Fan Token ก็ไม่แตกต่างอะไรไปจากคูปองทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น มีคูปอง 10 ใบสามารถแลกตั๋วรับชมคอนเสิร์ตได้ กลับถูก ก.ล.ต.ห้ามไม่ให้มีการซื้อขายเด็ดขาด ขณะที่ NFT แนวก็คล้ายการสะสมของที่ระลึกต่างๆ ที่ปกติสามารถทำได้ แต่พอทำเป็นรูปแบบดิจิทัลโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน สิ่งนี้จะถูกเรียกว่า NFT และถูก ก.ล.ต.ห้ามซื้อขาย
ถามจริงๆ… ก.ล.ต. จะเป็นจะตายอะไรกับเทคโนโลยีบล็อกเชน
ทั้งที่ในตลาดคริปโตฯ เอกชนไทยมีความพร้อมอย่างมาก หลายอย่างได้ริเริ่มก่อนต่างชาติด้วยซ้ำ อย่างกรณีตลาดซื้อขาย NFT เอกชนไทยอย่างน้อย 3 รายได้ทำการเปิดตัวไปแล้ว แต่ ก.ล.ต.ก็มาไล่หวดกันตามหลัง ส่งผลให้วงการสินทรัพย์ดิจิตอลไทย ไม่เท่าทันโลก เสียโอกาสให้คนไปใช้แพลตฟอร์มของต่างชาติ ประเทศไทยเสียโอกาสหลายพันล้านดอลล่าต่อปี
ความวัวสันหลังหวะ…เหมือนกับขับไล่นักลงทุนให้แห่ไปใช้ของเถื่อน หนีไปสมัครใช้กระดานเทรดต่างชาตินอกการควบคุมของ ก.ล.ต. และดูแววแล้ว ไม่รู้จะมีปัญญาควบคุมหรือไม่ เพราะนักลงทุนต้องการวางเงินในสินค้าที่พวกเขาศึกษามาแล้ว และรับความเสี่ยงได้
ส่อแววว่าอนาคตเอกชนผู้พัฒนาคริปโตฯไทย เสี่ยงเดี้ยงทั้งระบบ หากปล่อย รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาฯ ก.ล.ต. คุมบังเหียนต่อไป เตรียมเลือดไหลหมดตัว เงินหนีเข้ามือต่างชาติ ใครจะรับผิดชอบ ยังไม่รวมปัญหาหุ้น MORE ที่เกิดขึ้นส่งท้ายปีอีก
แล้วจะยังไว้ใจท่านเลขาฯ ได้อย่างไร?
#สืบจากข่าว : รายงาน