วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2024
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่สธ.เตรียมปลดโรคโควิดออกจากโรคฉุกเฉิน ให้รักษาตามสิทธิบัตรทอง-ประกันสังคม คาดเริ่ม 1 มี.ค.นี้

Related Posts

สธ.เตรียมปลดโรคโควิดออกจากโรคฉุกเฉิน ให้รักษาตามสิทธิบัตรทอง-ประกันสังคม คาดเริ่ม 1 มี.ค.นี้

สธ.เตรียมปลดโรคโควิด

ออกจากโรคฉุกเฉิน

ให้รักษาตามสิทธิบัตรทอง-ประกันสังคม คาดเริ่ม 1 มี.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมยกเลิกโรคโควิด ออกจากบริการยูเซ็ป หรือการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ว่า ขณะนี้ สธ.โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เตรียมจะเปลี่ยนแนวทางการรักษาโรคโควิดให้ออกจากบริการยูเซ็ป (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) และให้ใช้แนวทางรักษาแบบตามสิทธิของประชาชน เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และประกันสุขภาพต่างๆ โดยยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อการรักษาของประชาชนที่ยังมีสิทธิรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าจะลงนามได้เร็วๆ นี้ เพื่อให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นไป

โดยจะมีแนวทางการปรับการเบิกจ่าย คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะปรับค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ตรวจ 2 ยีนส์ จะอยู่ที่ 900 บาทและถ้าเป็น 3 ยีนส์ จะอยู่ที่ 1,100 บาท

ส่วนการตรวจด้วย ATK อยู่ที่ 250 และ 350 บาท ขึ้นอยู่กับเทคนิคของชุดตรวจ แต่จะต้องเป็น ATK แบบที่บุคลากรการแพทย์ใช้ และจะปรับอัตราการกรณีรักษาในฮอสพิเทลอยู่ที่ 1,000 บาทต่อวัน เท่ากับกรณีการแยกกักตัวเองที่บ้าน (Home Isolation)

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ติดเชื้อยังเข้ารับการรักษาได้ฟรีตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคล ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ ก็เป็นการเข้าระบบรักษาพยาบาลปกติเหมือนโรคอื่น

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องความพร้อมของระบบสถานบริการ โรงพยาบาล และเครื่องมือต่างๆ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานบริหารสถานการณ์นี้อยู่แล้ว จะประชุมทุกสัปดาห์ที่กรมการแพทย์ ก็ยังยืนยันว่า เรื่องจำนวนสถานพยาบาล ทรัพยากรที่จะนำมาใช้ดูแลผู้เจ็บป่วยโควิดยังมีความพร้อมอยู่เต็มที่ แต่เวลาทำการควบคุมสถานการณ์โรคระบาด ในบางช่วงก็ต้องไปดูเรื่องการติดเชื้อกรณีที่เชื้อยังมีความรุนแรงอยู่ เมื่อมีการกระจายวัคซีนไปแล้ว มีการใช้ระบบ Home Isolation มีความพร้อมของสถานพยาบาลแล้ว การที่จะไปโฟกัสอยู่ที่จำนวนผู้ติดเชื้อมันก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นการโฟกัสตรงการควบคุมผู้ป่วยที่มีอาการหนัก แล้วคุมจำนวนผู้เสียชีวิต ก็ไปดูในจำนวนผู้เสียชีวิต

“ถ้าเทียบสถานการณ์ปีต่อปี ปีที่แล้ว กับปีนี้ สิ่งที่แตกต่างกัน คือ ปีที่แล้วไม่มีวัคซีน พอมีการติดเชื้อระบาดขึ้นมากก็จะมีผู้ป่วยอาการหนักมากขึ้น เสียชีวิตจำนวนมาก แต่พอได้รับวัคซีน มีระบบ Home Isolation การเปิดเตียงในโรงพยาบาลเพื่อให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้สถานพยาบาลจริงๆ ก็ทำให้ประคับประคองได้” นายอนุทิน กล่าว

ทั้งนี้ในการประชุม ศบค. 11 ก.พ. 2565 นายอนุทิน กล่าวว่า จะมีหารือเพิ่มเติมอย่างแน่นอน เพราะว่าวันนี้ติดเชื้อก็เกือบ 15,000 ราย ซึ่งถ้าเทียบก่อนสิ้นปีถึงปัจจุบัน เดือนครึ่งผู้ติดเชื้อขึ้นมาประมาณ 5 เท่า แต่ป่วยหนักกับเสียชีวิต จำนวนคนยังเท่าเดิม ก็เท่ากับลดลงไป 5 เท่าเหมือนกัน ซึ่ง สธ.ไม่มองตรงนั้น เรามองคน เราไม่ได้มองเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้มองร้อยละ ก็ทำทุกอย่างขอให้รักษาชีวิตคนได้ ขอให้คนไม่เจ็บป่วยอาการหนักได้ นี่คือ เป้าหมายที่สำคัญของ สธ.

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สธ.เตรียมรองรับสถานการณ์มาตลอดอยู่แล้ว เตรียมสถานพยาบาล การควบคุมโรคก็มีระบบ VUCA อยู่แล้ว การฉีดวัคซีนเร่งปฏิบัติอยู่แล้ว จะเห็นวัคซีนเข็ม 3 ขณะนี้เร็วมาก ฉีดได้มากกว่า 20% แล้ว, ส่วนประชาชนทุกคน ก็ได้รับความร่วมมือใส่หน้ากากกัน แต่อาจจะมีบางกลุ่มที่ขาดความรับผิดชอบบ้าง ไปกินดื่มสุราแล้วเกิดคลัสเตอร์, COVID Free Setting ขณะนี้มีมาก อยากขอความร่วมมือสถานประกอบการทุกแห่ง ถ้าทำได้ ก็จะช่วยให้สถานที่นั้นเป็นสถานที่ ที่ปลอดภัย และการตรวจ ATK เป็นระยะ

“ส่วนตัวเลขการติดเชื้อ ถ้าวางแผนให้เป็นโรคประจำถิ่น การรายงานการติดเชื้อก็ไม่มีความจำเป็น จริงๆ แล้วความหมายของระบบสาธารณสุขต่อการติดเชื้อก็คือ การดูแลผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตก็ไม่ได้ขึ้น ไทยเคยมีผู้ป่วยหนักปอดอักเสบถึงวันละ 6,000 กว่า นอน ICU อยู่ประมาณ 1,200 ตอนนี้มีผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจอยู่เพียง 110 คน ต่ำกว่าสมัยก่อนถึง 10 เท่า ผู้ป่วยปอดอักเสบ 500 กว่าคนต่ำกว่าสมัยก่อน 10 เท่าเช่นเดียวกัน บวกกับ ได้มีระบบรองรับ ขณะนี้เตียงในโรงพยาบาลเหลืออยู่กว่า 70% ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในการให้ประชาชนแยกกักตัวที่บ้านหรือในชุมชนได้ด้วยตนเองจะดีมาก” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า จากตัวเลขที่พบว่าผู้ที่มีอาการรุนแรงมีราว 3-4% เสียชีวิตต่ำกว่า 0.2% และมีความแตกต่างตามช่วงอายุด้วย ช่วงอายุก่อน 60 ปีเสียชีวิตต่ำกว่า 0.1% ถ้าเกิน 60 ปีขึ้นไปก็จะสูงขึ้นตามช่วงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 70 กว่าปีขึ้นไป ก็จะเสียชีวิตมาก จึงอยากให้ลูกหลานช่วยกันพาคนที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มาร่วมใจกันฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันการป่วยหนักและการตายได้ 98-99%

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts