วันเสาร์, กันยายน 21, 2024
หน้าแรกภูมิภาคกสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 2/2566 หัวข้อที่ 2

Related Posts

กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 2/2566 หัวข้อที่ 2

2.กสม. เผยผลการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงระบบในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในรอบปี 2565

นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงาน กสม. เปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเชิงระบบเพื่อเสนอต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 8 เรื่อง ได้แก่ (1) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 (2) ข้อเสนอแนะกรณีการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (3) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกรณีการดำเนินคดีล่าช้าอันเกี่ยวเนื่องกับการอายัดตัว (4) ข้อเสนอแนะกรณีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการชันสูตรพลิกศพ (5) ข้อเสนอแนะกรณีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (6) ข้อเสนอแนะกรณีสิทธิด้านสุขภาพและสิทธิเด็กต่อสถานการณ์การใช้กัญชาในประเทศไทย (7) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกรณี ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และ (8) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกรณี ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน

ในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงระบบในปีที่ผ่านมาข้างต้น สำนักงาน กสม. ได้ส่งรายงานข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการดำเนินการหรือการสั่งการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปยังหน่วยงานภายใต้สังกัดตามข้อเสนอแนะของ กสม. สำหรับข้อเสนอแนะที่ได้รับแจ้งว่ามีการแก้ไขปัญหาแล้วอย่างเป็นรูปธรรม คือ ข้อเสนอแนะกรณีการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นกรณีที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากถึง 36 คำร้อง ตั้งแต่ปี 2564 – 2565 จากผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และได้รับความไม่สะดวกจากการเข้าใช้บริการห้องน้ำในร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา หน่วยงานราชการ เช่น สถานีตำรวจ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ซึ่งไม่มีห้องน้ำที่เหมาะสมสำหรับบุคคลกลุ่มดังกล่าว โดย กสม. มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่ถูกร้องพิจารณาปรับปรุงห้องน้ำที่มีอยู่หรือปรับเปลี่ยนห้องน้ำบางส่วนให้เป็นห้องน้ำสำหรับบุคคลทุกเพศ (All Gender Restroom) และกำหนดแนวทางในการใช้ห้องน้ำในสถานที่ราชการโดยส่งเสริมให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถใช้ห้องน้ำได้ตามเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศตามเจตจำนงของตนได้ ซึ่งกรณีนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่งได้จัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และหรือห้องน้ำสำหรับบุคคลทุกเพศ (All Gender Restroom) แล้ว ขณะที่บางแห่งตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าวและอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงห้องน้ำตามนโยบายและการสั่งการของหน่วยงานที่กำกับดูแลต่อไป ส่วนหน่วยงานเอกชนบางแห่ง เช่น ห้างสรรพสินค้า แม้จะแจ้งว่าไม่อาจจัดหาสถานที่ที่เพียงพอสำหรับการสร้างห้องน้ำสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้ แต่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและยืนยันในหลักการให้ความเคารพในสิทธิความหลากหลายทางเพศ โดยระบุว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถเลือกใช้บริการห้องน้ำได้ตามเจตจำนงของตนเองอย่างอิสระ

นายภาณุวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2565 กสม. ยังได้มีความเห็นต่อร่างกฎหมาย จำนวน 39 เรื่อง เช่น ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. …. การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. ร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน และร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนร่วม พ.ศ. ….

นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมา กสม. โดยประธาน กสม. ยังได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี จำนวน 12 ฉบับ เพื่อเสนอความเห็นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นรายกรณีให้แก่ประชาชน เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับบุคคลที่ออกมาใช้เสรีภาพในการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง มาตรการคุ้มครองสิทธิคนพิการกรณีกำหนดให้โรคจิตหรือโรคอารมณ์ผิดปกติเป็นลักษณะต้องห้ามของการเข้ารับราชการพลเรือน ขอให้สั่งการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล และขอความอนุเคราะห์ชะลอการพิจารณาโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองปกาไสย จังหวัดกระบี่ เป็นต้น

“การให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และการเสนอความเห็นต่อรัฐบาล รัฐสภา และเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอื่นนั้น เป็นหน้าที่และอำนาจของ กสม. ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติตามหลักการปารีส (Paris Principles) เพื่อผลักดันให้รัฐบาลให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร กฎหมายบัญญัติให้ กสม. จัดทำรายงานแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรี และในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการได้หรือต้องใช้เวลาในการดำเนินการให้แจ้งเหตุผลให้ กสม. ทราบโดยไม่ชักช้า ในท้ายที่สุด หากเห็นสมควร กสม. อาจเผยแพร่รายงานผลการดำเนินการของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการติดตามและตรวจสอบผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตามข้อเสนอแนะหรือความเห็นของ กสม.” นายภาณุวัฒน์ กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts