“…ไม่อยากให้นโยบายดีๆ อย่าง “ก.ล.ต. Crypto Academy” บิดเบี้ยว ก.ล.ต. ต้องแสดงให้สังคมเห็นว่า การส่งเสริมดังกล่าวทำเพื่อสร้างระบบคริปโตไทยให้เข้มแข็ง ไม่ได้ดำเนินการเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับรายใดรายหนึ่ง เพราะยังมีเสียงสะท้อนร้องถึงการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ไม่อยากให้มีการเลือกปฏิบัติ อย่าเข้มงวดกับริษัทคริปโตไทย แต่กลับเปิดทางให้บริษัทข้ามชาติทำได้ เช่นเหตุการณ์ Zipmex Ziplock Zipup+ เป็นหนึ่งในกรณีที่ถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่าง exchange ไทยกับต่างชาติหรือเปล่า? และหากย้อนไปดูระยะเวลาตลอดเวลา 4 เดือน หากเปิดเว็บ ก.ล.ต.ดูว่าไล่บี้ใคร เรื่องอะไรบ้าง ไม่ว่าจะทั้งในแง่ของจำนวนครั้ง และปริมาณเงินที่ปรับ จะเห็นว่า ก.ล.ต.ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร หรือใครมากกว่ากัน…”
การเปิดตัวหลักสูตรเรียนรู้ออนไลน์ e-learning “ก.ล.ต. Crypto Academy” ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เปิดสอนแหล่งความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ประชาชนและผู้สนใจ ได้รู้ลึก ลดเสี่ยง เรียนสนุก ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเปิดห้องเรียนในเดือนมกราคม 2566 ถือเป็นเรื่องดีที่จะช่วยส่งเสริมวงการสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ยังมีเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลบางราย ร้องถึงการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ไม่อยากให้มีการเลือกปฏิบัติ เพราะในช่วงที่ผ่านมามีหลายประเด็นที่ ก.ล.ต. ถูกมองว่า “เลือกที่รัก มักที่ชัง” จนถูกตั้งคำถามว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่ ก.ล.ต. กำลังดำเนินการ..ทำเพื่อใคร?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการคริปโตว่า ยังติดหล่มกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล บางกฎเกณฑ์หาความชัดเจนไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบอยู่เนืองๆ ก่อให้เกิดความไม่เสถียร วันนี้เป็นอย่าง พรุ่งนี้เป็นอีกอย่าง สร้างความสับสนอลหม่านและบั่นทอนธุรกิจนี้ให้ลดความน่าเชื่อถือโดยใช่เหตุ กฎระเบียบบางอย่าง ก.ล.ต.เข้มงวดกับริษัทคริปโตไทย แต่กลับเปิดทางให้บริษัทข้ามชาติทำได้ เหตุการณ์ Zipmex Ziplock Zipup+ เป็นหนึ่งในกรณีที่ถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่าง exchange ไทยกับต่างชาติหรือเปล่า? กระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดคริปโตและลูกค้านักลงทุนเป็นวงกว้าง ZipUp+ ทำให้นักลงทุนเสียหายหลักพันล้านบาท ตั้งแต่เริ่มเกิดเรื่อง แต่ ก.ล.ต.กลับอ้ำอึ้ง แจ้งว่าไม่ทราบ ไม่รู้เรื่องว่ามีเอกชนนำเงินลูกค้าไทยไปลงทุนต่ออีกทอดหนึ่งที่บริษัทต่างชาติ ทั้งๆ ที่ zipmex โฆษณาอยู่ทุกวัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นระดับพันล้าน เป็นเวลากว่า 4 เดือน แต่ ก.ล.ต. ปรับเงินไปเพียง 1.92 ล้านบาท ด้วยข้อหาเล็กๆ น้อยๆ พร้อมทั้งสั่งการ กล่าวโทษ อีกครั้งสองครั้ง พอเป็นพิธีให้คนรู้ว่าติดตามเรื่องอยู่ แต่ประชาชนตั้งคำถามว่าทำเท่านี้เพียงพอแล้วหรือ ไม่มีกระบวนการดำเนินงานที่ชัดเจนจริงจังกับ Zipmex แล้วหรือ?
แม้กระทั่งเมื่อถึงเวลาต้องจ่ายเงินคืนลูกค้า Zipmex Global ก็คืนเงินให้ผู้เสียหายในประเทศอินโดนีเซียก่อน จนศาลสิงคโปร์ต้องออกมาตำหนิ Zipmex Global ว่าทำไมถึงคืนเงินให้ผู้เสียหายในอินโดนีเซียก่อนประเทศอื่น ขณะที่ผู้เสียหายในไทยตั้งคำถามว่า ก.ล.ต.ไทย ทำอะไรอยู่ ถ้ากระตือรือร้นและจริงจังกับ Zipmex ได้สักครึ่งหนึ่งของที่ไล่บี้กระดานเทรดเจ้าอื่น ผู้เสียหายในไทยคงจะได้รับเงินคืนแบบอินโดนีเซียไปแล้ว น่าเสียดายแทนคนไทย และยินดีกับผู้เสียหายชาวอินโดนีเซียที่มีหน่วยงานกำกับดูแลที่รักษาผลประโยชน์ของนักลงทุนจริงๆ
ในขณะเดียวกัน ก.ล.ต. กลับเดินหน้าไล่บี้ ไล่ปรับเอกชนอื่นๆ ตลอดเวลา 4 เดือน หากเปิดเว็บ ก.ล.ต.ดูว่าไล่บี้ใคร เรื่องอะไรบ้าง ไม่ว่าจะทั้งในแง่ของจำนวนครั้ง และปริมาณเงินที่ปรับ จะเห็นว่า ก.ล.ต.ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร หรือใครมากกว่ากัน ยังไม่นับเรื่องที่ผ่านมาแล้วเป็นปีๆ วันดีคืนดีก็ขุดขึ้นมาปรับ ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านั้นยังไม่มีผู้เสียหายสักคน จนคนสงสัยว่าเรื่องใหญ่อยู่ตรงหน้า ผู้เสียหายร้องเรียน ความเสียหายระดับพันล้าน ท่านได้สนใจบ้างหรือไม่ เลขา ก.ล.ต.เคยลงมาตรวจสอบหรือไม่ว่าเหรียญ Zipmex Token (zmt) ยังมีคุณสมบัติพอที่จะถูก List ในกระดานได้อีกหรือเปล่า เพราะในมุมมองของคนทั่วไปที่เข้าดู Trading Rules จากเว็บของ Zipmex เอง หรือถ้า ก.ล.ต.จะตรวจดูจากเอกสาร trading rules ที่ ก.ล.ต.มีอยู่และเป็นผู้อนุญาตเอง ก็จะเห็นว่าเหรียญ zmt นั้นเข้าข่ายที่จะถูก delist ออกจากกระดานเทรด จากการบริหารเงินที่ผิดพลาด (misuse of funds) แล้ว หรือว่ามาตรฐานการทำงานระดับนี้จะใช้ไม่ได้กับ Zipmex แต่ใช้เฉพาะกับกระดานเทรดเจ้าอื่นเท่านั้น ไม่แน่ว่าถ้า ก.ล.ต.ไทยเข้มงวดได้อย่างหน่วยงานกำกับอินโดนีเซีย ที่ออกประกาศไม่นานหลังจากเกิดเรื่อง จนทำให้ Zipmex อินโดนีเซียต้อง delist เหรียญ zmt ออกจากกระดานเทรดตัวเองไปตั้งแต่ 1 กันยายน 2565 และด้วยความเข้มงวดโดยไม่เลือกปฏิบัติของหน่วยงานกำกับอินโดฯ นี้ ทำให้ Zipmex เกรงกลัวจนต้องรีบเอาเงินกองกลางมาจ่ายให้ชาวอินโดนีเซียก่อนใคร หรือในกรณีที่ผู้เห็นต่างมองว่า exchange นอกสร้าง vollume เทรดเทียม ไม่เคยโดนสอบสวน ไม่เคยโดนลงโทษ ขณะที่ exchange ไทยกลับโดนลงโทษ หากทำแบบเดียวกัน กลายเป็นคำถามดังๆ ไปยัง ก.ล.ต.ว่า ตรงนี้คือการเลือกปฏิบัติ..หรือเปล่า?
เช่นเดียวกับกรณีเสนอออกระเบียบซื้อคริปโตขั้นต่ำ 5 พันบาท เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ประกอบการคริปโตมองว่า ก.ล.ต.ออกกฎต่างๆ มาใช้บังคับอย่างไม่สมดุล เน้นแต่การกำกับและควบคุมอย่างเข้มงวด แต่ไม่เคยส่งเสริมและพัฒนา ทำให้เอกชนไทยผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายประกอบกิจการ แข่งขันได้อย่างยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 5,000 บาทต่อธุรกรรม ที่หากผ่านจริงจะส่งผลกระทบมากมาย คนจะหนีไปเทรดต่างประเทศ ผู้ซื้อขายจะเปลี่ยนไปใช้บริการกับผู้ให้บริการในต่างประเทศแทน เนื่องจากกระดานซื้อขายต่างประเทศไม่มีเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ระบุราคาซื้อขายขั้นต่ำ เพราะต้องการให้ช่องทางนี้เป็นการออมรูปแบบหนึ่ง แต่เมื่อการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนดราคาซื้อขายเริ่มต้น 5,000 บาท จึงไม่แน่ใจว่าจะเป็นการแปรเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหนึ่งในช่องทางการออมเงิน เปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า โดยเฉพาะคนมีรายได้น้อยๆ จะถูกปิดกั้นโดยปริยาย ทำให้เกิดวาทกรรม “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น คนรวยกว่านั้นเล่นคริปโต” ปิดโอกาสชนชั้นกลางธรรมดาจะเข้ามาเลือกลงทุนในคริปโต เว็บเทรดรายเล็กจะตายเรียบ เนื่องจากสภาพคล่องที่ลดลงทำให้กระดานซื้อขายที่มีปริมาณการซื้อขายต่ำจะยิ่งต่ำลงไปอีก โชคยังดีที่ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบ ไม่กำหนดมูลค่าการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลขั้นต่ำ (minimum purchase) จำนวน 5,000 บาทต่อธุรกรรม ตามที่สำนักงานเสนอ หลังจากที่ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป ทำให้เรื่องนี้รอดพ้นประเด็นดราม่าจากสังคม
เมื่อเป็นเช่นนี้ การเปิดหลักสูตรเรียนรู้ออนไลน์ “ก.ล.ต. Crypto Academy” จึงต้องตามดูกันต่อไปว่าอานิสงส์จะตกอยู่กับใคร เพราะเป็นหลักสูตรที่ดี เป็นแหล่งความรู้พื้นฐานแก่นักลงทุนในการเตรียมตัวก่อนก้าวสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัล มีเนื้อหาที่สามารถเข้าใจได้ง่าย เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชน การใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ รวมทั้งความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และการประเมินตนเองก่อนเข้าลงทุน แต่พร้อมๆ กับการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุน ก.ล.ต.ต้องส่งเสริมการทำธุรกิจของภาคเอกชนอย่างเทียมกัน ไม่ออกกฎระเบียบเอื้อประโยชน์ให้กับบางราย ในขณะเดียวกันก็บีบอีกรายให้ไปต่อไม่ได้ ไล่บี้จน NFT ไทยย่อยยับ นักลงทุนต้องหนีเข้าแพลตฟอร์มต่างประเทศกันหมดสิ้น แทนที่จะนำความรู้ที่ได้มาซื้อสินทรัพย์-Token-NFT บนกระดานไทย กลายเป็นผลักดันเข้าสู่กระดานเถื่อน ไม่อยากให้นโยบายดีๆ อย่าง “ก.ล.ต. Crypto Academy” บิดเบี้ยว
ก.ล.ต. ต้องแสดงให้สังคมเห็นว่า การส่งเสริมดังกล่าวทำเพื่อสร้างระบบคริปโตไทยให้เข้มแข็ง ไม่ได้ดำเนินการเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับรายใดรายหนึ่ง
#สืบจากข่าว : รายงาน