วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินก.ล.ต. ไทย “อ่อนหัด”

Related Posts

ก.ล.ต. ไทย “อ่อนหัด”

“…กรณีที่เกิดขึ้นกับ ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกา พิสูจน์ให้เห็นว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ก็จริง แต่เมื่อผิดแล้วแก้ไขทันที มีประสิทธิภาพ สำคัญกว่า นั่นก็คือการตรวจสอบความจริง กล่าวโทษความผิด และชดใช้ความเสียหายให้กับนักลงทุนเร็วที่สุด  แตกต่างกัน กรณี  Zipmex Global ที่มีการนำเงินของลูกค้าในหลายประเทศ รวมถึงลูกค้าในเมืองไทย ไปลงทุนจนเกิดความเสียหาย เมื่อศาลสิงคโปร์พิพากษาให้คืนเงินลูกค้า ปรากฏว่า Zipmex Global เลือกคืนเงินให้ผู้เสียหายในประเทศอินโดนีเซียก่อน จนศาลสิงคโปร์ต้องออกมาตำหนิ Zipmex Global ว่าทำไมถึงคืนเงินให้ผู้เสียหายในอินโดนีเซียก่อนประเทศอื่น  ขณะที่ผู้เสียหายในไทยตั้งคำถามว่า ก.ล.ต.ไทย ทำอะไรอยู่ ถ้ากระตือรือร้นและจริงจังกับ Zipmex ได้สักครึ่งหนึ่งของที่ไล่บี้กระดานเทรดเจ้าอื่น ผู้เสียหายในไทยคงจะได้รับเงินคืนแบบอินโดนีเซียไปแล้ว…”

ขณะที่ผู้เสียหายในไทยตั้งคำถามว่า ก.ล.ต.ไทย ทำอะไรอยู่ ถ้ากระตือรือร้นและจริงจังกับ Zipmex ได้สักครึ่งหนึ่งของที่ไล่บี้กระดานเทรดเจ้าอื่น ผู้เสียหายในไทยคงจะได้รับเงินคืนแบบอินโดนีเซียไปแล้ว กลายเป็นคำถามดังๆ ไปยัง ก.ล.ต.ว่า ตรงนี้คือการเลือกปฏิบัติ..หรือเปล่า?

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา หรือ ก.ล.ต. สหรัฐฯ ได้ดำเนินคดีทางกฎหมายต่อบริษัท Genesis Global Capital LLC (Genesis) และ Gemini Trust Company LLC (Gemini) ในความผิดต่อการนำเสนอบริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านบริการ Gemini Earn Lending Program หรือ Gemini Earn นำเงินลูกค้าไปลงทุนในกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากข้อกำหนดชี้ชวนการลงทุนเบื้องต้น โดยไม่ได้รับอนุญาต

กรณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก Genesis ในฐานะบริษัทในเครือกลุ่มบริษัท Digital Currency Group ได้เข้าทำสัญญากับ Gemini เพื่อเสนอบริการนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า Gemini มาให้ Genesis กู้ยืม และ Genesis ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยแก่ Gemini ในฐานะโบรกเกอร์ และ Gemini ก็นำรายได้จากดอกเบี้ยส่วนหนึ่งจ่ายต่อให้กับลูกค้าของบริษัทซึ่งเป็นนักลงทุนราว 340,000 ราย

ดูจากแนวทางการดำเนินธุรกิจเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร แต่เรื่องมาแตกโพละ เมื่อ Genesis นำเงินที่ได้จากการลงทุนในบริการ Gemini Earn ไปลงทุนต่อ แต่เกิดการขาดทุน จน Genesis ต้องออกประกาศ “ระงับการถอนเงิน” แก่ลูกค้าที่ใช้บริการ “Gemini Earn” ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เนื่องจาก Genesis ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงจากความผันผวนของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล และต่อมา Gemini ได้ประกาศยกเลิกบริการ Gemini Earn เมื่อต้นเดือนมกราคม 2566 ทำให้ลูกค้าของ Gemini จำนวน 340,000 รายที่นำเงินมาลงทุนในบริการ Gemini Earn ไม่สามารถถอนสินทรัพย์ดิจิทัลออกมาได้

ประเด็นดังกล่าวทำให้ ก.ล.ต. ของสหรัฐอเมริกา ต้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่าบริการ Gemini Earn เป็นการนำเสนอบริการและจำหน่ายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยไม่ได้ขออนุญาตดำเนินการจากสำนักงานฯ เพื่อเสนอบริการต่อสาธารณชน และไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองนักลงทุน ทำให้ ก.ล.ต. ของสหรัฐอเมริกา กล่าวโทษความผิดดังกล่าวกับทั้ง Genesis และ Gemini เพื่อให้บริษัทนำเงินมาคืนนักลงทุนเร็วที่สุด ทุกบาท ทุกสตางค์

ขอบคุณภาพจาก : ลงทุนแมน

นี่ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ” นายแกรี่ เกนสเลอร์ ประธานกรรมการสำนักงาน ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องนักลงทุน “ผู้ให้บริการกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้เกี่ยวข้องทุกราย จะต้องทำตามกฎหมายหลักทรัพย์ที่เป็นเกราะปกป้องประโยชน์ของนักลงทุน และความเชื่อถือในตลาด”

ที่น่าประทับใจอย่างยิ่งคือ กรณีนี้ใช้เวลาดำเนินการไม่ถึง 2 เดือน หลังเกิดเหตุเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 12 มกราคม 2566

กรณีที่เกิดในสหรัฐ ไม่ต่างจากหลายประเทศทั่วโลกที่ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล แม้กระทั่งในเมืองไทยก็มีเรื่องในทำนองเดียวกับ Genesis และ Gemini เพียงแต่แนวทางการปฏิบัติ ความเอาจริงเอาจังกับผู้กระทำผิดแตกต่างกัน กรณี Zipmex Global ที่มีการนำเงินของลูกค้าในหลายประเทศ รวมถึงลูกค้าในเมืองไทย ไปลงทุนจนเกิดความเสียหาย เมื่อศาลสิงคโปร์พิพากษาให้คืนเงินลูกค้า ปรากฏว่า Zipmex Global เลือกคืนเงินให้ผู้เสียหายในประเทศอินโดนีเซียก่อน จนศาลสิงคโปร์ต้องออกมาตำหนิ Zipmex Global ว่าทำไมถึงคืนเงินให้ผู้เสียหายในอินโดนีเซียก่อนประเทศอื่น  ขณะที่ผู้เสียหายในไทยตั้งคำถามว่า ก.ล.ต.ไทย ทำอะไรอยู่ ถ้ากระตือรือร้นและจริงจังกับ Zipmex ได้สักครึ่งหนึ่งของที่ไล่บี้กระดานเทรดเจ้าอื่น ผู้เสียหายในไทยคงจะได้รับเงินคืนแบบอินโดนีเซียไปแล้ว

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 

แต่ในด้านหนึ่งก็เห็นใจ ก.ล.ต.ไทย เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่และอยู่ในระยะเริ่มต้น ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องสั่งสมประสบการณ์และติดตามศึกษาอย่างใกล้ชิดว่า เทคโนโลยีสามารถสร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้งานและเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไร แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่อยากให้ ก.ล.ต. เดินหน้าไล่บี้ ไล่ปรับเอกชนบางราย จนคนค่อนขอดว่าเรื่องใหญ่อยู่ตรงหน้า ผู้เสียหายร้องเรียน ความเสียหายระดับพันล้าน ท่านได้สนใจบ้างหรือไม่ เลขา ก.ล.ต.เคยลงมาตรวจสอบหรือไม่ว่าเหรียญบางค่าย ยังมีคุณสมบัติพอที่จะถูก List ในกระดานได้อีกหรือเปล่า กลายเป็นคำถามดังๆ ไปยัง ก.ล.ต.ว่า ตรงนี้คือการเลือกปฏิบัติ..หรือเปล่า?

หากมองในมุมสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่ ทุกประเทศในโลกต่างก็อยู่ในสถานะทำไปเรียนรู้ไป แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับ ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกา พิสูจน์ให้เห็นว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ก็จริง แต่เมื่อผิดแล้วแก้ไขทันที มีประสิทธิภาพ สำคัญกว่า นั่นก็คือการตรวจสอบความจริง กล่าวโทษความผิด และชดใช้ความเสียหายให้กับนักลงทุนเร็วที่สุด ไม่ใช่ปล่อยให้นักลงทุนลุ้นผลเอาว่าจะได้เงินคืนหรือไม่ ช้าหรือเร็วแค่ไหน จนหลายรายต้องทยอยปิดบัญชี โยกย้ายสินทรัพย์ดิจิทัลออกไปเปิดบัญชีกับกระดานเทรดรายใหม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เมืองไทย ยังติดหล่มกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล บางกฎเกณฑ์ยังหาความชัดเจนไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบอยู่เนืองๆ กฎระเบียบบางอย่างครั้งหนึ่งเคยทำได้ แต่ต่อมากฎหมายระบุว่าทำไม่ได้ และโดนความผิดย้อนหลัง การกำหนดคุณสมบัติการออกเหรียญดิจิทัลที่ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ว่า “ความสมดุล” อยู่ตรงไหน เช่นนโยบายเคยอนุมัติบางเหรียญเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ได้ แต่ต่อมาระบุว่าไม่ถึงเกณฑ์ ก่อให้เกิดความไม่เสถียร สร้างความสับสนอลหม่านและบั่นทอนธุรกิจนี้ให้ลดความน่าเชื่อถือโดยปริยาย

ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลต้องติดตามเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรม ความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแล คือการสร้างสมดุลระหว่างการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมกับการมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนผู้ประกอบการที่เหมาะสม สามารถรักษาเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินโดยรวม บทเรียนจากเหตุการณ์ของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. รู้ดีว่า ใครถูก ใครผิด ซึ่งจะนำไปสู่การออกนโยบายการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงเชิงระบบ และป้องกันความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดซ้ำได้อีกในอนาคต

ปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังได้รับความสนใจจากผู้คนในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน การลงทุน การธนาคาร กลายเป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง ก.ล.ต. ในการสร้างสมดุลระหว่างการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมกับการมีกลไกคุ้มครองผู้ประกอบการและนักลงทุนอย่างเหมาะสม ด้วยความเป็นธรรม เพื่ออนาคตคริปโตไทยนับจากนี้จะไม่สับสน ลักลั่น เหมือนที่ผ่านมา

#สืบจากข่าว  : รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts