“…เจ้าเสือน้อย 3 ชีวิต ถึงแล้ว บ้านใหม่ !ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ปลอดภัยทุกตัว โดยเสือทั้ง 3 ตัวมีอาการทั่วไปปกติ ไม่มีอาการเมารถหรือหายใจลำบาก แต่อย่างใดสามารถนั่ง นอน และหลับได้ตามปกติตลอดการเดินทาง ซึ่งหลังจากเคลื่อนย้ายมาถึงศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลูกเสือทั้ง 3 ตัวสามารถกินนมได้ตามปกติ มีการเดินสำรวจสถานที่เลี้ยงใหม่ และยังคงร่าเริงเล่นได้ปกติ…”
18 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจาก นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สบอ. 9 อุบลราชธานี ถึงความคืบหน้าการส่งมอบลูกเสือ 3 ตัวไปอยู่ที่ ศูนย์ฯ บึงฉวาก อย่างปลอดภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยลูกเสือทั้ง 3 ตัว เป็นเพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 2 ตัว เพศผู้ชื่อ “ข้ามโขง “ เพศเมียชื่อ “มุกดา” และ ”สะหวัน” ถูกยึดได้จากขบวนการค้าสัตว์ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 65 โดยทราบว่า ผู้ต้องหา ได้มีการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จึงได้ให้สายลับวางแผนล่อซื้อสัตว์ป่าจากผู้ต้องหา โดยผู้ต้องหาได้เสนอขายลูกเสือโคร่งซึ่งนำเข้ามาจากจากประเทศเพื่อนบ้าน ในราคาตัวละ 500,000 บาท จำนวน 4 ตัว รวมเป็นเงิน 2 ล้านบาท ซึ่งมีการติดต่อล่อซื้อหลายครั้ง แต่มีการเลื่อนการส่งลูกเสือโคร่งมาโดยตลอด จนในวันที่ 14 พ.ย 2565 เจ้าหน้าที่ได้ทำการล่อซื้อสัตว์ป่า (ลูกเสือโคร่ง) จากผู้ขายอีกครั้ง โดยต่อรองราคาเหลือ 1.5 ล้านบาท และมีการนัดหมายส่งลูกเสือโคร่งที่ปั๊มน้ำมัน ปตท.ลานทอง ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองฯ จังหวัดมุกดาหาร โดยขณะที่นำลูกเสือมามอบให้กับสายลับ คณะเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวและเข้าจับกุมส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองมุกดาหาร เพื่อดำเนินคดีและขยายผลต่อไป ส่วนลูกเสือโคร่งให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ จังหวัดศรีสะเกษดูแล
ลูกเสือโคร่งจึงเป็นของกลาง ตามคดีอาญาที่ 1684/2565 ยึดทรัพย์ที่ 250/2565 อยู่ภายใต้การกำกับการดูแลของ สอป.สบอ.9 (อุบลราชธานี) มาระยะหนึ่งแล้ว แต่เนื่องจากมีปัญหาในการดูแลที่ไม่พร้อม จึงประสานงานเพื่อส่งมอบให้ไปอยู่ในการดูแลของ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สอป. สบอ.3 (บ้านโป่ง) และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก
นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ก่อนถึงเวลาส่งมอบ ต้องมีการเตรียมการเคลื่อนย้ายเพื่อไม่ให้ลูกเสือตื่นตกใจ โดยในช่วงเช้าวันที่ 17 ม.ค. 2566 เวลา 10.00 -11.00 น. ต้องมีการซักซ้อมก่อน โดยทีมสัตวแพทย์ สัตวบาล ประชุมวางแผน-ซักซ้อม การขนย้ายลูกเสือโคร่งของกลาง จำนวน 3 ตัว
การเคลื่อนย้ายลูกเสือโคร่งดังกล่าวข้างต้น ใช้รถยนต์ราชการหมายเลขทะเบียน ฮต 6406 กรุงเทพมหานคร และหมายเลขทะเบียน กจ 2619 ราชบุรี เคลื่อนย้ายไปยังศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี นางสาวธชพรรณ ลีลาพตะ และนางสาวมาริษา ชุ่มวิจิตร ตำแหน่งนายสัตวแพทย์ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เป็นผู้แทนเป็นผู้ควบคุมการขนย้าย พร้อมคณะทำงานผู้ดูแลสุขภาพลูกเสือโคร่งระหว่างการเคลื่อนย้าย
“จากผลการซ้อมการขนย้าย ทดลองนำลูกเสือขึ้นรถตู้ วิ่งในระยะทาง 20 กิโลเมตร ลูกเสือไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด” นายชัยวัฒน์ กล่าว
ต่อมาเช้ามืดที่ 18 มกราคม 2566 เวลา 03:33 น. ทีมงานเคลื่อนย้ายลูกเสือโคร่งของกลาง 3 ตัวจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ถึง ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก แล้ว
โดย สพ.ญ.ธชพรรณ ลีลาพตะ, สพ.ญ.มาริษา ชุ่มวิจิตร สัตวแพทย์ กลุ่มงานจัดการ สุขภาพสัตว์ป่า , สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สอป.สบอ.3 (บ้านโป่ง), สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายลูกเสือของกลางทั้ง 3 ตัว ถึงปลายทาง ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่า บึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยระหว่างเดินทางเสือทั้ง 3 ตัวมีอาการทั่วไปปกติ ไม่มีอาการเมารถหรือหายใจลำบาก แต่อย่างใดสามารถนั่ง นอน และหลับได้ตามปกติตลอดการเดินทาง ซึ่งหลังจากเคลื่อนย้ายมาถึงศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลูกเสือทั้ง 3 ตัวสามารถกินนมได้ตามปกติ มีการเดินสำรวจสถานที่เลี้ยงใหม่ และยังคงร่าเริงเล่นได้ปกติ
ทั้งนี้ทีมสัตวแพทย์จะทำการประเมินสุขภาพของสัตว์เพิ่มเติมและทำการสังเกตอาการของตัวสัตว์อย่างใกล้ชิดหลังจากเคลื่อนย้ายเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง และจะรายงานให้ทราบเป็นลำดับต่อไป
สพ.ญ.ธชพรรณ ลีลาพตะ
สัตวแพทย์ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า รายงาน
#สืบจากข่าว : รายงาน