เปิดสี่ร่าง
พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน
และอุ้มหาย
สร้างกลไกป้องกัน อุดช่องโหว่ปัญหาทรมาน-อุ้มหาย
“ยกสุดท้าย!” ร่าง กม.ป้องกันการทรมานและอุ้มฆ่าฯ กมธ.สภาฯ แปรญัตติแล้วเสร็จ เสนอ “ประธานชวน” บรรจุเข้าพิจารณาวาระ 2 วัดใจ ส.ส. และ ส.ว.ต่อไป!
การทรมานและการอุ้มหายเป็นหนึ่งในปัญหาของสังคมไทยมาเป็นเวลานาน ถึงแม้ว่าไทยจะเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) ซึ่งไทยมีพันธะที่จะต้องอนุวัติกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามอนุสัญญา แต่รัฐไทยก็ยังไม่ตรากฎหมายที่รับมือกับกรณีการซ้อมทรมานและการอุ้มหายโดยตรง
สภาวะที่รัฐไม่มีกฎหมายภายในรับรองกรณีการซ้อมทรมานและอุ้มหาย กลายเป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจยังคงลอยนวลพ้นผิด กรณีที่โด่งดังเมื่อไม่นานมานี้อย่างการอุ้มหาย พอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” แกนนำกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ “ต้าร์” นักกิจกรรมที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ก็ยังไม่มีวี่แววว่ารัฐจะสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ หรือกรณีล่าสุดที่เป็นประเด็นร้อนแรงระดับประเทศ อย่าง “ผู้กำกับโจ้” พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล ซึ่งทรมานผู้ต้องหาจนเสียชีวิต ทำให้ประเด็นการอุ้มหายและซ้อมทรมานกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง
หลังจากที่มีความพยายามผลักดันมาหลายครั้ง ในที่สุด ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … (ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ) ฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ ก็ถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร เท่ากับว่าตอนนี้มีร่างพ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ถึงสี่ฉบับที่อยู่ในระเบียบวาระการประชุม เพื่อเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะต้องจับตาต่อไปว่าจะสามารถพิจารณาแล้วเสร็จก่อนที่จะปิดสมัยประชุมในวันที่ 18 กันยายน 2564 ได้หรือไม่ สำหรับร่างพ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ทั้งสี่ฉบับได้แก่
1) ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ที่เสนอโดย ครม.
2) ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ที่เสนอโดยส.ส. ที่เป็นคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (กมธ.กฎหมายฯ) ซึ่งเดิมทีเป็นร่างที่ประชาชนเสนอ
3) ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ เสนอโดยส.ส.พรรคประชาชาติ
4) ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ เสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แม้ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ทั้งสี่ฉบับจะมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและอุดช่องโหว่ปัญหาการทรมานหรือการอุ้มหาย แต่ในรายละเอียดก็กำหนดไว้แตกต่างกัน ดังนี้
ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ มุ่งเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ กำหนดโทษหนักหากทำผิดฐานทรมาน-อุ้มหาย
หลักคิดของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ทั้งสี่ฉบับ มุ่งเอาผิดกับ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่กระทำความผิดฐานทรมาน ฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่ออุดช่องโหว่การทรมาน-อุ้มหายที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการกระทำที่จะมีความผิดฐานทรมาน ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ทั้งสี่ฉบับ กำหนดสาระสำคัญไว้ทำนองเดียวกัน กล่าวคือ การกระทำที่เข้าข่ายความผิดฐานทรมาน ต้องเป็นการกระทำให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ และต้องมีวัตถุประสงค์อย่างอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
1) เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากบุคคลที่ถูกทรมานหรือบุคคลที่สาม
2) เพื่อลงโทษบุคคลที่ถูกทรมานอันเนื่องมาจากการกระทำของบุคคลนั้นหรือสงสัยว่าบุคคลนั้นได้กระทำการสิ่งใด
3) เพื่อข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกทรมานหรือบุคคลที่สาม 4) เพราะเหตุผลอื่นๆ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
ความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ทั้งสี่ฉบับ กำหนดว่ากรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวหรือกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะจำกัดเสรีภาพทางร่างกายของบุคคล และปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำการเช่นนั้นหรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวของผู้ที่สูญหาย เจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นมีความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาชาติและฉบับที่เสนอโดยกมธ.กฎหมายฯ กำหนดตัวผู้กระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายกว้างกว่าร่างกฎหมายอีกสองฉบับ โดยกำหนดรวมถึงบุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับคำสั่ง การสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐให้กระทำความผิดด้วย นั่นหมายความว่าหากมีบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานนี้ ก็จะต้องรับโทษตามอัตราที่กฎหมายกำหนดสำหรับความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย
สำหรับอัตราโทษ ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ทั้งสี่ฉบับ กำหนดอัตราโทษสำหรับความผิดฐานกระทำการทรมานและฐานกระทำให้บุคคลสูญหายไว้เท่ากัน และหากผลของการกระทำความผิดนั้นร้ายแรงขึ้น ผู้กระทำความผิดก็ต้องรับโทษหนักขึ้นด้วย
- สำหรับผู้ทำผิดฐานกระทำการทรมานหรือความผิดฐานทำให้บุคคลสูญหายนั้นมีโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท
- หากผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส จะต้องรับโทษหนักขึ้นจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนถึงห้าแสนบาท
- หากผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย จะต้องรับโทษหนักขึ้นเช่นกัน มีโทษจำคุกสิบห้าปีถึงสามสิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
- หากผู้ถูกกระทำเป็นบุคคลที่อายุไม่เกินสิบแปดปี หญิงมีครรภ์ ผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือผู้ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โทษก็จะหนักขึ้นกึ่งหนึ่ง
ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ฉบับที่เสนอโดยกมธ.กฎหมายฯ ฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาชาติ และฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กำหนดความผิดฐานกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย โดยผู้กระทำความผิดจะต้องโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ฉบับที่เสนอโดยครม. ไม่ได้กำหนดความผิดฐานนี้ไว้แต่อย่างใด
สำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดด้วย ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ฉบับที่ครม. เสนอ กำหนดว่าหากเป็นผู้ที่มีส่วนสมคบเพื่อกระทำความผิด ก็จะต้องโทษหนึ่งในสามจากฐานความผิด ถ้าเป็นสนับสนุนรับโทษเหมือนผู้กระทำความผิด ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ฉบับที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เสนอ กำหนดว่าทั้งผู้สมคบ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน มีโทษเช่นเดียวกันกับผู้กระทำความผิด
กรณีเป็นผู้บังคับบัญชาซึ่งทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองนั้นกำลังจะทรมานหรืออุ้มหายแล้วไม่เข้าห้ามหรือดำเนินการตามกฎหมาย ผู้บังคับบัญชานั้นก็ต้องรับโทษกึ่งหนึ่งด้วยเช่นกัน
ประเด็นอายุความ ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ที่เสนอโดยครม. ไม่กำหนดอายุความคดีที่เกี่ยวข้องกับการทรมานหรือการอุ้มหายเอาไว้ จึงต้องใช้อายุความตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ซึ่งกำหนดอายุความไว้ตามอัตราโทษจำคุกของฐานความผิด อายุความสูงสุดอยู่ที่ 20 ปี ขณะร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาชาติ กำหนดอายุความไว้ที่ 50 ปี แต่หากเป็นการทรมานหรืออุ้มหายอย่างกว้างขวางและเป็นระบบก็จะไม่มีอายุความ ส่วนร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ที่เสนอโดยกมธ.กฎหมายฯ ระบุให้คดีที่เกี่ยวข้องกับการทรมานหรืออุ้มหายนั้นไม่มีอายุความในทุกกรณี รวมถึงยังกำหนดให้ฐานความผิดอุ้มหายนั้นเป็น “ความผิดต่อเนื่อง” จนกว่าจะมีการเปิดเผยชะตากรรมหรือปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว และจะเริ่มนับอายุความจนกว่าจะเจอบุคคลที่สูญหายหรือมีหลักฐานว่าบุคคลนั้นเสียชีวิตแล้วเท่านั้น
ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ฉบับครม. “คู่ชีวิต” ยังฟ้องดำเนินคดีแทนเหยื่อไม่ได้
การกำหนดตัว “ผู้เสียหาย” นั้นก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับกฎหมายที่มีบทลงโทษอาญา เพราะตัวผู้เสียหายก็จะเป็นผู้มีสิทธิในการฟ้องร้องดำเนินคดีเมื่อเกิดการทรมานหรือการอุ้มหายขึ้น ในกรณีทรมาน-อุ้มหาย ผู้ที่ผ่านการถูกทรมานหรืออุ้มหายมักจะมีบาดแผลทั้งทางกายและจิตใจ ทำให้ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น “ผู้เสียหาย” จึงต้องมีการนิยามให้ครอบคลุมถึงผู้อื่นด้วย
ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ฉบับที่เสนอโดยกมธ.กฎหมายฯ ฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาชาติ ต่างกำหนดให้ “ผู้เสียหาย” หมายความถึง ผู้เสียหายที่แท้จริง อันได้แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือเยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือผู้ถูกกระทำให้เป็นบุคคลสูญหาย และรวมไปถึงสามีภริยา คู่ชีวิต ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน และผู้อยู่ในอุปการะ ทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยของผู้เสียหายที่แท้จริง
จะสังเกตได้ว่า “ผู้เสียหาย” ตามร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ทั้งสามฉบับ นิยามให้รวมไปถึงทั้งคู่ชีวิตด้วย จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่คู่สมรสต่างเพศ แต่ยังครอบคลุมไปถึงคู่ชีวิตที่มีเพศตามทะเบียนราษฎรเพศเดียวกันที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรับรองสถานะในทางกฎหมาย แต่ก็ถูกจัดให้เป็นผู้เสียหายได้อีกด้วย
ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ที่เสนอโดยครม. ไม่ได้กล่าวถึงนิยามของผู้เสียหายที่แท้จริงไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันเป็นกฎหมายทั่วไป ซึ่งกำหนดว่าผู้เสียหาย คือ บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ทั้งนี้ในร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ มาตรา 10 ก็กำหนดให้สามี ภริยา ผู้บุพการี และผู้สืบสันดาน เป็นผู้เสียหายที่สามารถฟ้องร้องการกระทำผิดได้อีกด้วย
การทรมานหรืออุ้มหายเป็น “คดีพิเศษ” อัยการเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนตั้งแต่ต้น
ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ทั้งสี่ฉบับระบุให้ให้การซ้อมทรมานและอุ้มหายเป็น “คดีพิเศษ” ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษที่จำเป็นจะต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ และให้พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการสอบสวนตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ยังระบุไม่ให้การดำเนินคดีอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) อีกด้วย
ตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
แม้ว่าร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ทุกฉบับจะกำหนดให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” (คณะกรรมการฯ) ขึ้นมาเป็นกลไกหนึ่งเหมือนกัน แต่ทั้งสี่ฉบับก็มีความแตกต่างกันในโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ
ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ฉบับที่เสนอโดยครม. กำหนดคณะกรรมการฯ ไว้ 15 คน จะมีสัดส่วนของนักการเมืองและข้าราชการประจำค่อนข้างมาก โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทวงยุติธรรมเป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่งอีกเจ็ดคนซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการประจำและนายกสภาทนายความ นอกจากนี้ ยังระบุให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ครม. แต่งตั้งหกคน ผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนสี่คน ด้านการแพทย์หนึ่งคน ด้านจิตวิทยาหนึ่งคน
ในทางตรงกันข้าม ร่างของ กมธ.กฎหมายฯ มีการกำหนดสัดส่วนคณะกรรมการฯ ให้มีภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่า ประกอบไปด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการอีก 10 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกฯ โดยการเสนอของคณะกรรมการสรรหาของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการทรมานหรือการอุ้มหายสองคน ผู้เสียหายหรือผู้แทนผู้เสียหายจากการทรมานและการอุ้มหายสองคน ผู้แทนจากภาคประชาสังคมที่ไม่ได้แสวงหากำไรและทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิสองคน ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านการตรวจพิสูจน์หลักฐานด้านนิติเวชศาสตร์ ด้านจิตวิทยาจำนวนสองคน และอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นกรรมการอีกหนึ่งคน
สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ฉบับที่เสนอโดยครม. กำหนดไว้ดังนี้
1) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือมาตรการอื่นที่จำเป็น
2) กำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมาน การกระทำ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหาย
3) กำหนดนโยบายและมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้ได้รับความเสียหาย
4) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายด้านการเงินและจิตใจ รวมถึงการฟื้นฟูระยะยาวทางการแพทย์ให้แก่ผู้ได้รับความเสียหาย
5) กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการปกปิดการควบคุมตัวบุคคล
6) แต่งตั้งที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
7) วางระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
8) วางระเบียบอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติ
อย่างไรก็ดี ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ฉบับที่เสนอโดยกมธ.กฎหมายฯ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และส.ส.พรรคประชาชาติ กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ไว้มากกว่าร่างที่เสนอโดยครม. คณะกรรมการฯ นอกจากจะมีหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการทรมานและสูญหายแล้ว ยังมีอำนาจในเชิงรุก อย่างการติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียน ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในทางกฎหมาย ร้องขอข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทรมานหรืออุ้มหาย ตรวจเยี่ยมสถานที่ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวน ไปจนถึงสามารถขอเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนได้อีกด้วย
ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ฉบับที่เสนอโดยกมธ. ยังกำหนดความผิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่ส่งข้อมูลหรือเอกสารตามความต้องการของคณะกรรมการฯ หรือไม่ยินยอมให้คณะกรรมการฯ เข้าตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่จะมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
เจ้าหน้าที่ต้องบันทึก – เปิดเผยข้อมูลการจำกัดเสรีภาพ
กลไกการป้องกันหนึ่งที่เกิดขึ้นในร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ทั้งสี่ฉบับ คือการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องบันทึกข้อมูลของผู้ที่ถูกจำกัดเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นชื่อนามสกุลของผู้ที่ถูกจำกัดเสรีภาพ วันเวลาสถานที่ที่มีการคุมขัง การเคลื่อนย้ายและผู้ที่มารับตัวผู้ที่ถูกคุมขังไป รวมถึงชื่อของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบและผู้ออกคำสั่ง ไปจนถึงเหตุแห่งการจำกัดเสรีภาพ นอกจากนี้ หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ญาติ ต้องการรับทราบข้อมูลของผู้ที่ถูกจำกัดเสรีภาพก็ย่อมมีสิทธิทำได้ โดยให้ยื่นคำร้องกับอาญาในท้องที่นั้น ๆ ให้เปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารได้
นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ฉบับที่เสนอโดยกมธ.กฎหมายฯ ส.ส.พรรคประชาชาติ และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยังกำหนดหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และสิทธิของผู้ที่ถูกควบคุมตัวไว้ด้วย โดยเจ้าหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้ถูกควบคุมตัวและญาติทราบถึง วัน เวลา สถานที่ ในการควบคุมตัว วิธีการเคลื่อนย้าย และเหตุแห่งการควบคุมตัว และหากเกิดอาการป่วยหรือบาดเจ็บขึ้นเมื่อใด ผู้ถูกควบคุมตัวก็ต้องได้รับการตรวจร่างกายและรักษาพยาบาลโดยเร็ว หากเจ้าหน้าที่ไม่คุ้มครองสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวหรือฝ่าฝืนหรือไม่บันทึกข้อมูลการควบคุมตัวตามที่ระบุไว้ในกฎหมายก็จะต้องโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทอีกด้วย
ที่ประชุมสภาฯ ลงมติ 368 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน แปรญัตติ 7 วัน
ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 13.25 น. วันที่ 16 ก.ย. 2564 นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เรียกตรวจสอบองค์ประชุมเพื่อลงมติว่าจะรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ทั้ง 4 ฉบับ ซึ่งมีหลักการคล้ายกันหรือไม่ หลังวานนี้มีการอภิปราย ผลการลงมติเป็นดังนี้
- เห็นด้วย 363(+5)
- ไม่เห็นด้วย 0
- งดออกเสียง 1
- ไม่ลงคะแนน 1
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นควรรับหลักการ พร้อมเสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. จำนวน 25 คน มีสัดส่วนด้วย
- คณะรัฐมนตรี 5 คน
- พรรคเพื่อไทย 6 คน ในจำนวนนี้มีชื่อของ นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ด้วย
- พรรคพลังประชารัฐ 5 คน
- ภูมิใจไทย 3 คน
- พรรคก้าวไกล 2 คน
- พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน
- พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน
- พรรคเสรีรวมไทย 1 คน เสนอชื่อ นางอังคณา นีละไพจิตร
- พร้อมกำหนดเวลาแปรญัตติ 7 วัน และจะใช้ร่างของรัฐบาลเป็นร่างหลักในการพิจารณาในวาระ 2
ขอบคุณที่มา : www.ilaw.or.th, ไทยรัฐออนไลน์