“…เตือนไว้ ก.ล.ต. อย่าเป็นใบ้ JKN พ่นน้ำลายไม่ต้องรับผิดชอบ ผลงาน ก.ล.ต. ยอดบ๊อย ปี 65 ส่อข้ามปี 66 ผิดกับ ก.ล.ต.สหรัฐอเมริกา น่ารับงานสอน… เลขาฯรื่นวดี หน่อยก็ดี… เทียบกรณี หน่วยงานกำกับเมกา ยื่นฟ้อง Genesis and Gemini เสนอบริการที่ไม่ได้รับอนุญาต ความผิดคล้าย Zipmex…”
หลังจาก 26 ต.ค.65 คุณแอน จักรพงษ์ แถลงเลิศรังว่า JKN เข้าเทกโอเวอร์ Miss Universe มงกุฎจักรวาล มูลค่า 800 ล้านบาท ส่งผลให้มีนักลงทุน และแมงเม่าแห่ซื้อหุ้นดันราคา JKN ทะยาน 2 วันติดต่อ จาก 3.50 ขึ้นไปสูงสุด 5.70 บาท
23-28 พ.ย.65 แอน จักรพงษ์ แจ้ง กลต.ว่าได้ขายหุ้น JKN จำนวน 70 ล้านหุ้น ราคาจาก 4.94 บาท มาถึง 4.10 บาท/หุ้น โดยเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ ได้เงินสดมา 310 ล้านบาท
6 ม.ค.66 JKN แจ้งมติที่ประชุมเพิ่มทุนฟ้าผ่า 1,019 ล้านหุ้น ขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมสัดส่วน 1:1 ในราคาหุ้นละ 3 บาท.. ล่าสุด คุณแอน จักรพงษ์ ถือหุ้นอยู่ 183 ล้านหุ้น
หากเขาหรือเธอใช้สิทธิเพิ่มทุนครบจำนวน จะใช้เงินทั้งสิ้น 549 ล้านบาท หาเงินเพิ่มอีกเพียง 239 ล้านบาท เนื่องจากมีเงินสดตุนในมือจากการขายหุ้นอยู่แล้ว 310 ล้านบาท นี่คือการเล่าเหตุการณ์ หุ้นนางงามในมุมของ ดร.ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์-All About Investing
ดร.ณัฐวุฒิ กูรูหุ้น ยังบอกถึงความเสี่ยงของนักลงทุนรายย่อย ที่ไม่มีข้อมูลวงใน เพื่อให้เข้าใจในการเสี่ยงของราคาหุ้นที่พร้อมจะรุ่ง หรือ ร่วง ตามแนวคิดเจ้าของกิจการ ที่สามารถปรับเปลี่ยนท่าทีการให้ข่าวและสามารถขอเงินเพิ่มจากนักลงทุนผู้ติดดอย เพราะเข้าไปลงทุนตอนมีข่าวดี ดร.ณัฐวุฒิยังระบุเพิ่มเติมไว้อีกว่า…ข้อพิจารณามีอยู่ว่า สำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ไม่ได้มีข้อมูลวงในว่าบริษัทจะมีข่าวดีตามข้อ 1 มาก่อน ไม่รู้เลยว่า JKN จะเทกโอเวอร์ Miss Universe มาก่อน เลยพากันแห่ไปซื้อตอนมีข่าวดีแจ้งตลาดฯ ขึ้นไปเขต 5.70 บาท
จากนั้นก็ไม่รู้ระแคะระคายอีกว่า เจ้าของหุ้นได้ขายล็อตใหญ่ระบายออกมาในกระดาน 70 ล้านหุ้น เป็นเงินตั้ง 310 ล้านบาท เลยเข้าไปซื้อที่ราคาตั้งแต่ 4.94 มาถึง 4.10 บาท..!
และปิดท้ายก็ไม่รู้อินไซด์อีกว่า จะเจอ JKN ประกาศฟ้าผ่าเพิ่มทุน กว่าจะรู้ก็ตอนแจ้งต่อตลาดฯ และราคาหุ้นตกมาราคาฟลอร์ที่ 3.40 บาทแล้ว โดนมัดมือชกให้ต้องไปหาเงินมาเพิ่มทุน เพื่อเฉลี่ยต้นทุนลงมาอีก…
ทางการที่เกี่ยวข้องอย่างตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.จะอธิบายอย่างไรในแง่ของการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศ ความโปร่งใส และธรรมาภิบาล และการมีมาตรการคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย…?
เพราะดูเหมือนว่างานนี้เจ้าของผู้ถือหุ้นใหญ่ JKN คุณแอน จักรพงษ์ คงจะไม่จุกเหมือนแมงเม่าทั้งหลาย ซ้ำยังอาจจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากไทม์ไลน์ที่ไล่เรียงมานี้ด้วย
ดร.ณัฐวุฒิ มีหมายเหตุข้อที่ 1 ว่า ผมไม่ได้มีเจตนาในทางที่ไม่ดีต่อคุณแอนนะครับ ผมชื่นชมสาวข้ามเพศพันล้านผู้นี้เสมอมา เธอเป็นคนสวย รวย และอาจจะเป็นคนโชคดีที่ทำอะไรได้ถูกที่ถูกเวลา ก็อาจจะเท่านั้นเองครับ หมายเหตุ 2: เนื่องจากผมได้เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตที่มีเจตนาให้เกิดการปกป้องคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อย ไม่มีเจตนาใดๆในทางไม่ดีต่อคุณแอน ผู้ถือหุ้นใหญ่ JKN ดังนั้นท่านผู้ใดที่แสดงความเห็น พึงใช้ความระมัดระวังที่อาจจะสุ่มเสี่ยงนำไปสู่ประเด็นปัญหาในข้อกฏหมายได้ครับ ดร.ณัฐวัฒิ ระบุ
สื่อตลาดหุ้นหัวใหญ่ ยังรายงานเพิ่มเติมว่า ดูเหมือนว่าหมากรุกชีวิตบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN เริ่มเข้าตาจนมากขึ้นทุกที หลังได้มาซึ่งองค์กรนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization) จาก IMG Worldwide, LLC มูลค่า 800 ล้านบาท ที่ดูเหมือนว่า JKN จะใช้เป็นหน้าเป็นตาว่า..ฉันเป็นบริษัทระดับโลกแล้วนะ..!!
ยิ่งไปกว่านั้น..เป็นการข่มขวัญคู่แข่งเวทีขาอ่อนบางรายไปในคราวเดียวกันด้วย..!
แต่นั่นมันกลับกลายเป็น “ทุกขลาภ” ที่ JKN ต้องเผชิญโดยไม่ทันรู้ตัว ว่าภาพหน้าบ้านที่ดูสวยหรูอลังการ แต่หลังบ้านกำลังเผชิญมรสุมลูกใหญ่ ที่หากพลาดพลั้งอาจถึงขั้นต้องสังเวยชีวิตกันเลยทีเดียว
นั่นก็คือ..ปัญหาสภาพคล่องของ JKN ดูจากงบการเงินล่าสุด (30 ก.ย. 2565) มีเงินสดเพียงแค่ 294.92 ล้านบาท
ขณะที่ มีหนี้สินระยะยาวที่กำหนดชำระภายในหนึ่งปีอยู่ที่ 2,168.66 ล้านบาท (เป็นหนี้สถาบันการเงิน 273.31 ล้านบาท และหนี้หุ้นกู้ 1,895.35 ล้านบาท)
มีสินทรัพย์หมุนเวียน 2,061.33 ล้านบาท แต่หนี้สินหมุนเวียน 3,415.16 ล้านบาท ทำให้อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) อยู่ที่ 0.60 เท่า (นั่นหมายความว่ามีหนี้ 100 บาท มีสินทรัพย์ที่พอจะเอามาชำระหนี้ระยะสั้นได้เพียง 60 บาท)
สอดคล้องกับอัตราส่วนความสามารถชำระดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) อยู่ที่เพียง 1.86 เท่า แม้ว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) ยังอยู่ที่ระดับ 1.72 เท่า
จากตัวเลขเหล่านี้..ทำให้ “จิ้งจก” ร้องทักกันระงมว่า JKN หนีไม่พ้นเพิ่มทุนแล้วนะ
แต่ก็ถูกปฏิเสธจากแม่ทัพใหญ่ JKN กลับมาว่า “JKN จะไม่มีการเพิ่มทุน” แต่อย่างใด..!!
ทำให้แมงเม่า..กระโจนเข้าใส่หุ้น JKN กันยกใหญ่..ด้วยความฝันจะได้ร่วมท่องจักรวาลไปด้วย
แต่ฝันหวานกันได้ไม่นาน JKN ประกาศเพิ่มทุน 3,000 ล้านบาท ด้วยการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) อัตราส่วน 1 : 1 ในราคา 3 บาท ขณะที่ราคากระดานตอนนั้นสูงเฉียด 5 บาท
เท่านั้นเอง…จึงเกิด “สวรรค์ล่ม” ไปตาม ๆ กัน..!!??
แต่มันไม่จบแค่นั้น..ระหว่างรอเงินเพิ่มทุนดังกล่าว..เส้นตายที่ต้องเผชิญเฉพาะหน้าคือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน 24 เม.ย. 2566 จำนวน 400 ล้านบาท (อัตราดอกเบี้ย 6.6%) ขณะที่เงินสดมีไม่ถึง 300 ล้านบาท (ณ สิ้น 30 ก.ย. 2565) ดูแล้วไม่พอที่จะไถ่ถอนเป็นแน่..!??
จึงเป็นเหตุให้ JKN เตรียมที่จะออกหุ้นกู้ล็อตใหม่วันที่ 21-23 ก.พ. 2566 (อัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี) เพื่อนำมารีไฟแนนซ์หุ้นกู้ชุดดังกล่าว
ปัญหาก็คือ ด้วยสถานการณ์ JKN อย่างที่เห็น..“หุ้นกู้จะขายได้หรือไม่”..และหากขายไม่ได้หรือได้ไม่ครบจำนวนที่ต้องการ JKN จะแก้ปัญหาชีวิตนี้อย่างไร..!?
นี่แค่หุ้นกู้เพียง 400 ล้านบาทนะ..ถ้า JKN ยังแก้ปัญหาไม่ได้..แล้วหนี้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนอีกกว่า 2,168.66 ล้านบาท จะชำระคืนได้อย่างไร..!?
นั่นทำให้..แผนการเพิ่มทุน 3,000 ล้านบาท จึงเป็นความหวังเดียวที่จะประคอง JKN ให้พ้นความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้…จนกลายเป็นสารตั้งต้นที่อาจถึงขั้น “ล้มละลาย” ได้เลยทีเดียว
มาถึงวันนี้..โจทย์ใหญ่ของผู้ถือหุ้น JKN อยู่ที่ว่าจะตัดสินใจฝากอนาคตตัวเองไว้กับหุ้น JKN อย่างไร..!!??
ด้าน สุนันท์ ศรีจันทรา วิเคราะห์ในหัวข้อ เพิ่มทุน JKN 3 พันล้าน…ใครจะใส่เงิน / บางช่วงบางตอนได้ชี้ถึงการเทขายหุ้นเอาเงินสดในช่วงข่าวดีของ แอน จัดรพงษ์ ว่า นักลงทุนทั่วไปไม่ได้รับรู้ความเคลื่อนไหวการย่องขายหุ้นของนายจักรพงษ์ มารับรู้ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ JKN ขายหุ้นออกเมื่อราคาปรับฐานลงแล้ว นักลงทุนที่เข้าไปรับซื้อหุ้นต่อจากนายจักรพงษ์ ต้อง “ติดดอย” ไปเสียแล้ว
การเพิ่มทุนโดยมีเป้าหมายระดมเงินจำนวนกว่า 3 พันล้านบาทของ JKN ครั้งนี้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะปฏิกิริยาตอบรับของนักลงทุนออกมาในเชิงลบ มีการเทขายหุ้นทิ้งทันที
และกันชนระหว่างราคาหุ้นเพิ่มทุนที่จะเสนอขายราคา 3 บาท กับราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวบนกระดานล่าสุดที่ 3.84 บาทก็ไม่จูงใจให้ใช้สิทธิมากนัก เพราะส่วนต่างเพียง 84 สตางค์ ยังทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีความเสี่ยงในการใช้สิทธิจองซื้อหุ้นใหม่
เพราะหากราคาหุ้น JKN ปรับตัวลงต่อเนื่อง อาจทำให้ราคาหุ้นที่ซื้อขายบนกระดานลงมายืนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับราคาหุ้นเพิ่มทุนที่จะเสนอขาย จนผู้ถือหุ้นเดิมต้องสละสิทธิจองซื้อหุ้น
ช่วงปลายปี 2565 บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งประกาศเพิ่มทุน ซึ่งไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนักจากนักลงทุน เพราะไม่มีใครอยากใส่เงินเพิ่มทุน
เช่นเดียวกับ JKN ที่การระดมทุนกว่า 3 พันล้านบาท อาจหืดขึ้นคอ เพราะผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ส่งสัญญาณแล้วว่าไม่ยินดีเติมเงินเพิ่มทุนให้ JKN …สุนันท์ ศรีจันทรา ระบุ
นักลงทุนรายย่อย อาจะคิดได้ว่า สู้ไม่ควักเงินเพิ่มทุนให้บริษัท แล้วเอาเงินก่อนนั้น มาช้อนซื้อหุ้นที่เหลืออยู่ในตลาดดีกว่า อย่างน้อยก็ได้หุ้นในราคาใกล้เคียงกับการเพิ่มทุน แถมยังช่วยเก็บหุ้นในตลาดให้มีปริมาณน้อยลงด้วย เพื่อลุ้นว่าเมื่อ หุ้นที่เปรียบเหมือนสินค้าในตบาดน้อยลง การพยุงราคาอาจทำง่ายขึ้น แล้วปล่อยภาระการหานักลงทุนมาใส่เงินเพิ่มเป็นหน้าที่ของคุณแอน จักรพงษ์เอง
นี่เป็นประเด็นร้อนที่ดูผิวเผิน เป็นเรื่องระหว่างเจ้าของกิจการกับนักลงทุนรายย่อย แต่นอกไปกว่านั้น สังคมมองว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะ ก.ล.ต. หน่วยงานควบคุมเสียมากกว่า ที่ไม่อาจออกกฎเกณฑ์ บังคับใช้ สนับสนุนนักลงทุนรายย่อยให้ได้รับข่าวสารที่ทันท่วงที และ ก.ล.ต. ไม่มีมาตรการเชิงบังคับ จับคำคนพ่นพิษ ถ่มน้ำลาย แล้วไม่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์พลิกลิ้น
ก.ล.ต. โดย รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาฯ ก.ล.ต.คนที่ 9 ที่จะครบวาระในเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งอาจหวังลึกๆว่า จะโยกย้ายไปมีตำแหน่งแห่งหนที่อื่นตามคาดหวัง หรืออาจจะหวังต่อวาระเป็นใหญ่ในรั่วชายคา ก.ล.ต. คงเดินไปต่อในตำแหน่งใหญ่โตได้ไม่ง่ายนัก เพราะผลงานชิ้นโบว์ดำตลอดปีที่ผ่านมา สร้างความเคลือบแคลงใจในสังคมนักลงทุนไม่น้อย หากนับรวมวงการตลาดทุนรายย่อยเสียหาย หุ้น more พ่นพิษ สถานการณ์หุ้นปั่น และผลงานกำกับตลาดคริปโตฯ zipmex พาคนไทยเจ๊ง กระดานเทรดเถื่อนรุกไทยทำธุรกิจตามอำเภอใจ ไล่ฟัน nft และ token ตามล้าหลังเอกชน นอกจากนั้นเมื่อมีคอร์สให้ความรู้ ล้วนแล้วต้องไปพึ่งพาออนฟูเอนเซอร์ และผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาอบรมเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดคำถามมากมายงว่า คนเก่ง มีความสามารถใน ก.ล.ต หายหน้าไปไหนหมด หรือว่าเอาไปซุกไว้ เกรงว่าจะเก่งจนเกินหน้าเกินตาของพวกเด็กเส้น
สิ่งที่ ก.ล.ต. เฝ้าปรับเงิน จับตาเป็นพิเศษก็มีเพียงเอกชนที่อยู่ในกรอบกฎหมายไทย ล่าสุดปรับเอกชนไปอีกเจ้า 50 ล้านบาท ทั้งที่ไม่มีความเสียหายร้องเรียน ผิดไปกับ zipmex พาเงินนักลงทุน เจ๊ง 2,000 ล้าน ก.ล.ต. ยังส่ออาการ ใบ้
เมื่อไหร่หน่วยงาน กำกับไทย จะหลัดพ้นวงจรล้าหลัง ผลักดันคนมีความสามารถให้หลุดพ้นจากโหลดองเค็ม นังลงทุนอยากเห็นเลขาฯ แสดงความสามารถมากกว่าโชว์วิสัยทัศน์ตามเวที แต่ไม่สามารถพูดลงรายละเอียดของปัญหา และวิธีการแก้ไข พัฒนาได้มากเท่าที่ควรคู่กับตำแหน่ง
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ดิจิทัลรวมถึงคริปโตเคอร์เรนซี ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีราคาซื้อขายปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ราคาสินทรัพย์ดิจิทัล เห็นได้จากจำนวนบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากประมาณ 2 แสนบัญชี ณ สิ้นปี 2563 สู่ 2.3 ล้านบัญชี ณ สิ้นปี 2564
ก.ล.ต. เพิ่งตื่นตระหนักถึงภัยกลโกงที่แอบอ้างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย อ้างตามแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ปี 2566 – 2568 ที่สอดรับแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570)
ดูตัวอย่างหน่วยงานกำกับต่างชาติ ทั้งอินโดนีเซีย ไล่ล่า zipmex ให้ชดใช้เงินนักลงทุนบ้านเขา จน zipmax แหกคอกศาลสิงคโปร์ อีกทั้งหน่วยงานกำกับอเมริกายังโชว์ศักยภาพให้เห็น
ก.ล.ต. สำนักงาน ก.ล.ต. ของสหรัฐอเมริกา ยื่นฟ้อง Genesis and Gemini เสนอบริการที่ไม่ได้รับอนุญาตแก่นักลงทุนอเมริกันลักษณะการทำความผิดคล้าย Zipmex
โดยทั้ง Genesis และ Gemini ได้รับเงินจากบริการดังกล่าวจากนักลงทุนทั่วหลายแสนรายไปเป็นมูลค่าหลายพันล้านเหรียญ โดยขณะนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ของสหรัฐอเมริกา ได้ขยายการสืบสวนเพิ่มเติมซึ่งอาจจะมีการกระทำความผิดในกฎหมายอื่น และอาจเกี่ยวโยงกับบริษัท องค์กร หรือบุคคลอื่น จากฐานความผิดเดิม
จากข้อมูลในคำฟ้องร้องดำเนินคดี ในเดือนธันวาคม 2563 Genesis ในฐานะบริษัทในเครือกลุ่มบริษัท Digital Currency Group ได้เข้าทำสัญญากับ Gemini เพื่อเสนอบริการนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้ามาให้ Genesis กู้ยืมและ Genesis ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นนักลงทุนรายย่อยของ Gemini
ต่อมาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 Genesis และ Gemini ได้เสนอบริการชื่อ “Gemini Earn” ให้แก่ลูกค้ารายย่อยโดยลูกค้าจะส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัลให้ Genesis โดยมี Gemini ในฐานะเจ้าของลูกค้ารายย่อยทำหน้านที่เหมือนตัวแทนเพื่อดำเนินการอำนวยความสะดวกให้ โดย Gemini ได้รับค่าตอบแทนซึ่งบางครั้งสูงถึง 4.29% จากผลประโยชน์ที่ Genesis ได้รับจากลูกค้ารายย่อยของ Gemini ที่ใช้บริการ
อ้างถึงข้อกล่าวหาในคำฟ้อง Genesis สามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปหาประโยชน์แบบใดก็ได้ เพื่อสร้างรายได้มาเพื่อจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้ารายย่อยของ Gemini ที่ใช้บริการ “Gemini Earn”
ในคำฟ้องยังกล่าวหาอีกว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 Genesis ได้ออกประกาศ “ระงับการถอน” แก่ลูกค้าที่ใช้บริการ “Gemini Earn” เนื่องจาก Genesis ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงจากความผันผวนของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
ในเวลานั้น Genesis มีสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าในครอบครองราว 900 เหรียญสหรัฐ จากลูกค้าที่ใช้บริการ Gemini Earn ราว 340,000 ราย ต่อมา Gemini ได้ประกาศยกเลิกบริการ Gemini Earn เมื่อต้นเดือนมกราคม 2566 และลูกค้ารายย่อยของ Gemini Earn ยังคงไม่สามารถถอนสินทรัพย์ดิจิทัลออกมาได้แต่อย่างใด
คำฟ้องของสำนักงาน ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกายังระบุอีกว่า Gemini Earn เป็นการนำเสนอบริการและจำหนายสินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหลักทรัพย์อันพึงจะต้องขออนุญาตจากสำนักงานฯ “เรากล่าวโทษว่าทั้ง Genesis และ Gemini ได้เสนอบริการที่ไม่ได้รับอนุญาต ต่อสาธารณชน โดยไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองนักลงทุน การฟ้องร้องในวันนี้ ตั้งอยู่บนการดำเนินการที่ผ่านมาที่ต้องการสร้างความชัดเจนแก่ตลาดและนักลงทุนเป็นการทัวไปว่า แพลตฟอร์มให้บริการกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัล และตัวกลางที่เกี่ยวข้องทุกราย จะต้องทำตามกฎหมายหลักทรัพย์ที่ผ่านการพิสูจน์มาอย่างยาวนาน การกระทำดังกล่าวจะเป็นการปกป้องประโยชน์ของนักลงทุนและความเชื่อถือในตลาด และนี่ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ” นายแกรี่ เกนสเลอร์ ประธานกรรมการสำนักงาน ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกากล่าว
สำนักงาน ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกา ได้ยื่นฟ้อง Genesis และ Gemini ต่อศาลแขวงใต้ แห่งนิวยอร์ค ในข้อหาการทำความผิดตามมาตรา 5(a) และ มาตรา 5(b) ตามกฎหมายหลักทรัพย์ 1993 โดยขอให้ศาลสั่งให้จำเลย (Genesis และ Gemini) ปิดดำเนินการโดยถาวร สั่งให้จำเลยนำสินทรัพย์ที่ครอบครองจากการกระทำความผิดรวมถึงดอกเบี้ยจนถึงวันพิพากษามาชดใช้ให้ผู้เสียหาย และรับผิดชอบต่อคดีความทางแพ่ง
Zipmex Asia & Zipmex Thailand กับ Genesis & Gemini นี่เหมือนกันอย่างกับแพะกับแกะ ผิดแต่ ก.ล.ต. สหรัฐไม่รอ ใช้อำนาจทางกฎหมายดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด
เป็นกรณีศึกษาที่ สำนักงาน ก.ล.ต. ไทย ควรจะใช้เป็นแบบอย่าง กรณี Genesis และ Gemini เพิ่งเกิดความเสียหายหลังจากที่ Genesis ระงับการถอนสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2565 ต่อมา ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินคดี ต่อจำเลยทั้งสองในวันที่ 12 มกราคม หรือใช้เวลาไม่ถึงสองเดือน
Genesis ถือหุ้นโดย Digital Currency Group และเป็นผู้ถือหุ้นในธุรกิจคริปโทกว่า 200 แห่ง เช่น CoinDesk, Grayscale และ Exchange Luno ในขณะที่ Gemini ถือหุ้นโดยแฝด Winklevoss มหาเศรษฐีพันล้าน ซึ่งเชื่อว่าหากโดนดำเนินคดีอาญา ผู้ถือหุ้นต้องหาทางเจรจาเพื่อเยียวยาผู้เสียหายเพราะต้องการทุเลาโทษอย่างแน่นอน
ก.ล.ต.ไทย ว่าไงครับ บ้านเรามี zipmex พาเงินนักลงทุน เจ๊ง 2,000 ล้าน ก.ล.ต. ยังส่ออาการ “ใบ้” ทั้งที่อินโดนีเซียกล้าฟัน ส่วน ก.ล.ต. อเมริกาก็โชว์งานให้เห็นกับตา ว่า.. ประชนชนย่อมเป็นใหญ่ หน้าไหนโกง…ฟันไม่เลี้ยง