วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 28, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงิน “คริปโตพ่นพิษ” ผลงานไม่ผ่าน ดีดเก้าอี้ “เลขา ก.ล.ต.”

Related Posts

 “คริปโตพ่นพิษ” ผลงานไม่ผ่าน ดีดเก้าอี้ “เลขา ก.ล.ต.”

“…หนึ่งในนั้นคือการควบคุมดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าการดำเนินงานของเลขาฯ สร้างความลักลั่น ได้เปรียบ เสียเปรียบ ในกลุ่มผู้ประกอบการ กรณีความผิดพลาดของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (EXCHANGE) “Zipmex” ไปลงทุนในแฟลตฟอร์มสินเชื่อคริปโตฯ ของ บาเบลล์ไฟแนนซ์ (Babel Finance) และ เซลเซียส (Celsius ) ซึ่งทั้งสองแห่งต่างประสบปัญหา จากการล่มสลายของเหรียญ LUNA จนทั้งสองบริษัทต้องประกาศระงับการถอนเงิน เลขาฯ ก.ล.ต.อ้ำอึ้ง แจ้งว่าไม่ทราบ ไม่รู้เรื่องว่ามีเอกชนนำเงินลูกค้าไทยไปลงทุนต่ออีกทอดหนึ่งที่บริษัทต่างชาติ ทั้งๆ ที่ zipmex โฆษณาอยู่ทุกวัน อีกทั้งมีการตั้งข้อสงสัยว่า กฎระเบียบบางอย่าง ก.ล.ต.เข้มงวดกับริษัทคริปโตฯ ไทย แต่กลับเปิดทางให้บริษัทข้ามชาติทำได้…”

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. (บอร์ด ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณาวาระการต่ออายุของ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. คนปัจจุบันที่จะหมดวาระลงในวันที่ 30 เม.ย. 2566 โดยรายงานข่าวระบุว่า ในที่ประชุมได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้าง และมีการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านการต่ออายุต่ออายุเลขาฯ ก่อนจะมีมติด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 4 ไม่ต่ออายุเลขาฯ ก.ล.ต.คนปัจจุบัน (คณะกรรมการเข้าร่วมประชุม 10 คน จากคณะกรรมการทั้งหมด 11 คน เพราะ น.ส.รื่นวดี ถือเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้)

ว่ากันว่า มีประเด็นที่ก่อให้เกิดความคิดเห็นขัดแย้งในครั้งนี้หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการควบคุมดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าการดำเนินงานของเลขาฯ สร้างความลักลั่น ได้เปรียบ เสียเปรียบ ในกลุ่มผู้ประกอบการ กรณีความผิดพลาดของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (EXCHANGE) “Zipmex” ซึ่งมีบริษัทแม่ในสิงคโปร์ นำผลิตภัณฑ์ “Zipup+” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าไทยฝากสินทรัพย์ไว้ที่ Zipmex global สิงคโปร์ ไปลงทุนในแฟลตฟอร์มสินเชื่อคริปโตฯ ของ บาเบลล์ไฟแนนซ์ (Babel Finance) และ เซลเซียส (Celsius ) ซึ่งทั้งสองแห่งต่างประสบปัญหาจากการล่มสลายของเหรียญ LUNA จนทั้งสองบริษัทต้องประกาศระงับการถอนเงิน ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ใน Zipup+ โดยเฉพาะ บิทคอยน์ (BTC), อีเธอเรียม (ETH), USDTและ USDC เป็นต้น ไม่สามารถทำธุรกรรมได้ ส่งผลให้ Zipmex ประเทศไทย ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดคริปโตฯ และลูกค้านักลงทุนเป็นวงกว้าง เบื้องต้นมีความเสียหายเกิดขึ้นราว 2,000 ล้านบาท จากผู้เสียหาย 3,800 ราย

ขณะที่ผู้ลงทุนเหรียญขาดทุนกว่า 88% ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ในการทำหน้าที่ของธุรกิจศูนย์ซื้อขายฯ หากมีการรับฝากทรัพย์สินของลูกค้า มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจนว่า “บริษัทห้ามนำทรัพย์สินของลูกค้าไปหาดอกผล และต้องเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้อย่างปลอดภัย”

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เริ่มเกิดเรื่อง เลขาฯ ก.ล.ต.อ้ำอึ้ง แจ้งว่าไม่ทราบ ไม่รู้เรื่องว่ามีเอกชนนำเงินลูกค้าไทยไปลงทุนต่ออีกทอดหนึ่งที่บริษัทต่างชาติ ทั้งๆ ที่ zipmex โฆษณาอยู่ทุกวัน ประชาชนก็ลงทุนไปเพราะอุ่นใจที่นำเงินไปลงทุนในผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้หน่วยงานกำกับดูแลของไทย จากความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วระดับพันล้าน เป็นเวลาร่วมครึ่งปี ก.ล.ต. ปรับเงินไปเพียง 1.92 ล้านบาท ด้วยข้อหาเล็กๆ น้อยๆ พร้อมทั้งสั่งการ กล่าวโทษ อีกครั้งสองครั้ง พอเป็นพิธีให้คนรู้ว่าติดตามเรื่องอยู่ แต่ประชาชนตั้งคำถามว่าทำเท่านี้เพียงพอแล้วหรือ ไม่มีกระบวนการดำเนินงานที่ชัดเจนจริงจังกับ Zipmex หรือไม่

แม้กระทั่งล่าสุด Zipmex Global ก็คืนเงินให้ลูกค้าผู้เสียหายในอินโดนีเซียก่อนประเทศอื่น ผู้เสียหายในไทยตั้งคำถามว่า ก.ล.ต.ไทย ทำอะไรอยู่ ถ้ากระตือรือร้นและจริงจังกับ Zipmex ได้สักครึ่งหนึ่งของที่ไล่บี้กระดานเทรดเจ้าอื่น ผู้เสียหายในไทยคงจะได้รับเงินคืนแบบอินโดนีเซียไปแล้ว ขณะที่ ก.ล.ต. เดินหน้าไล่บี้ ไล่ปรับเอกชนอื่นๆ ตลอดเวลาครึ่งปีมานี้ หากเปิดเว็บ ก.ล.ต.ดูว่าไล่บี้ใคร เรื่องอะไรบ้าง ไม่ว่าจะทั้งในแง่ของจำนวนครั้ง และปริมาณเงินที่ปรับ จะเห็นว่า ก.ล.ต.ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร หรือใครมากกว่ากัน ยังไม่นับเรื่องที่ผ่านมาแล้วเป็นปีๆ วันดีคืนดีก็ขุดขึ้นมาปรับ ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านั้นยังไม่มีผู้เสียหายสักคน จนคนสงสัยว่าเรื่องใหญ่อยู่ตรงหน้า ผู้เสียหายร้องเรียน ความเสียหายระดับพันล้าน ท่านได้สนใจบ้างหรือไม่…?

มีการตั้งข้อสงสัยว่า กฎระเบียบบางอย่าง ก.ล.ต.เข้มงวดกับริษัทคริปโตฯ ไทย แต่กลับเปิดทางให้บริษัทข้ามชาติทำได้ อาทิ การกำหนดให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนทำธุรกิจคริปโตฯ ได้เฉพาะการเปิดศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น ไม่สามารถเป็นโบรกเกอร์ไลเซ่นส์ หรือ เป็นผู้จัดการการลงทุนได้ ทั้งที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์กำหนด บางบริษัทกระทำผิดกฎ แต่บทลงโทษที่ได้รับถูกสังคมมองว่าเบาเกินไปหรือเปล่าเมื่อเทียบกับความผิด

เป็นการเลือกปฏิบัติระหว่าง exchange ไทยกับต่างชาติหรือเปล่า?

หนึ่งในประเด็นที่ถูกตั้งข้อสงสัยคือ ก.ล.ต. ดูจะเอาจริงเอาจังในการไล่บี้เหรียญของ Bitkub ถึงกับออกคำสั่งด่วน ระบุว่าเหรียญมีคุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับอนุมัติเข้ามาซื้อขายตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule)  ตัดภาพกลับมาที่ Zipmex ซึ่งมี Zipmex Token (ZMT) เป็นเหรียญของตัวเองเช่นเดียวกัน ที่หากใช้มาตรฐานการทำงาน ก.ล.ต.แบบเดียวกับ Bitkub ตัวเหรียญ ZMT เองก็ควรจะถูกตั้งคำถาม   ในเรื่องคุณสมบัติการพิจารณาคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ว่าปัจจุบันเหรียญ ZMT ยังมีคุณสมบัติพอที่จะเทรดอยู่ในกระดานเทรดของ Zipmex อีกต่อไปหรือไม่   ก.ล.ต. ก็ควรไปดูข้อมูล ซึ่งบอกอยู่ชัดเจนบนเว็บไซด์ของ Zipmex เองว่า  การลงทุนที่ผิดพลาด (misuse of funds) เป็นสาเหตุหนึ่งที่เหรียญจะต้องถูกถอดออกจากกระดานเทรด (De-list) แม้แต่กระดานเทรดเถื่อนต่างชาติอย่าง FTX ที่ทำให้นักลงทุนไทยจำนวนมากได้รับความเสียหาย ก.ล.ต. ก็น่าจะทราบดี  คำถามคือ ที่ผ่านมา ก.ล.ต. เคยมีมาตรการที่จริงจัง จัดการกระดานเทรดเถื่อนเหล่านี้บ้างหรือไม่ ทั้งที่ตัวเลขชี้ชัดว่า ประเทศไทยมีนักลงทุนเสียหาย อยู่อันดับที่ 13  เกือบ 130,000 คนต่อเดือน  

อีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ประกอบการคริปโตฯ มองว่า ก.ล.ต.ออกกฎต่างๆ มาใช้บังคับอย่างไม่สมดุล เน้นแต่การกำกับและควบคุมอย่างเข้มงวด แต่ไม่เคยส่งเสริมและพัฒนา ทำให้เอกชนไทยผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายประกอบกิจการ แข่งขันได้อย่างยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 5,000 บาทต่อธุรกรรม ที่หากผ่านจริงจะส่งผลกระทบให้คนจะหนีไปเทรดต่างประเทศ ผู้ซื้อขายจะเปลี่ยนไปใช้บริการกับผู้ให้บริการในต่างประเทศแทน เนื่องจากกระดานซื้อขายต่างประเทศไม่มีเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ระบุราคาซื้อขายขั้นต่ำ เพราะต้องการให้ช่องทางนี้เป็นการออมรูปแบบหนึ่ง แต่เมื่อการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนดราคาซื้อขายเริ่มต้น 5,000 บาท จึงไม่แน่ใจว่าจะเป็นการแปรเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเป็นหนึ่งในช่องทางการออมเงิน เปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า โดยเฉพาะคนมีรายได้น้อยๆ อาจจะถูกปิดกั้นไปโดยปริยาย

โดยมุมมองของผู้เห็นต่างได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ในเชิงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หากมีการบังคับใช้หลักการซื้อคริปโตฯ ขั้นต่ำ 5,000 บาท อาทิ จะกระทบสิทธิในการใช้บริการของผู้ซื้อขายที่มีกำลังซื้อน้อยกว่า 5,000 บาทต่อธุรกรรม ซึ่งคิดเป็นประมาณ 46% ของจำนวนผู้ซื้อขายทั้งหมด กระดานซื้อขายจะไม่เกิดสภาพคล่อง เนื่องจากคำสั่งซื้อและขายขนาดเล็กที่สุดจะต้องมีมูลค่าขั้นต่ำที่ 5,000 บาท โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีขนาดเล็กหรือมีความเสี่ยงที่สูง ซึ่งหากตั้งสมมติฐานว่าจะลงทุนในเหรียญขนาดเล็กและเสี่ยงสูงเพียง 1% ของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ลงทุนทั้งหมด (Portfolio) โดยลงทุนที่ขั้นต่ำ 5,000 บาท จะต้องมี Portfolio รวมมากถึง 500,000 บาท และผู้ที่มีความพร้อมที่จะซื้อขายสินทรัพย์ฯ ระดับนี้ในประเทศไทยมีอยู่ไม่มาก ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นไทยที่จำกัดให้การซื้อหุ้นต้องซื้ออย่างน้อย 100 หุ้น (lot size) ซึ่งตลาดหุ้นไทยที่มีหุ้นกว่า 800 ตัว จะมีหุ้นกว่า 700 ตัว ที่มีราคาต่ำกว่า 50 บาท ทำให้สามารถสรุปได้ว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะทำให้การลงทุนในหุ้นไทยทำได้ง่ายกว่าสินทรัพย์ดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่  26 ธันวาคม 2565  สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบ ไม่กำหนดมูลค่าการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลขั้นต่ำ (minimum purchase) จำนวน 5,000 บาทต่อธุรกรรม ตามที่สำนักงานเสนอ หลังจากที่ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป ประเด็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่ไม่ตรงกันระหว่าง เลขาฯ ก.ล.ต. กับ คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือเปล่า?

มหกรรมการซื้อขายหุ้น “MORE” เป็นอีกเรื่องที่กระแทกเก้าอี้เลขาฯ ก.ล.ต. เนื่องจากเรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะไม่เคยมีใครที่จะกระทำการแบบนี้ ที่มาทำรายการซื้อขายและจะชิ่งไม่ยอมจ่ายเงิน โดยทิ้งภาระให้เป็นหน้าที่ของโบรกเกอร์ที่ต้องทำหน้าที่ในการเคลียริ่งหุ้น 4.5 พันล้านบาท การซื้อขายหุ้น MORE ที่เกิดขึ้นในปริมาณที่มาก ซึ่งกรณีปกติแบบนี้จะเป็นรายการซื้อขายรายใหญ่ (บิ๊กล็อต) ทำให้โบรกเกอร์ที่รับคำสั่งซื้อ เริ่มรู้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น และเริ่มตรวจสอบโบรกเกอร์ด้วยกัน เพราะเห็นว่าหุ้น MORE  มีสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติ โดยเหล่าโบรกเกอร์มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น AI ของตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะตรวจจับได้ แต่ทาง ก.ล.ต.มองว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของโบรกเกอร์ หากทำให้รายการเป็นโมฆะจะกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ที่ทำรายการด้วย แม้เหตุผลของ ก.ล.ต.จะฟังดูมีน้ำหนัก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจนโบรกกเกอร์หลายรายต้องกลายเป็นแพะรับบาป รับผิดชอบเคลียร์ริ่งมูลค่าการซื้อขายหุ้น MORE หลายพันล้านบาท ทำให้รู้ว่าตลาดทุนยังมีช่องโหว่ให้ฉ้อฉล กลายเป็นชิ้นเนื้อร้าย

ระบบ AI ตรวจสอบบัญชีซื้อขายผิดปกติมีไว้ทำไม ถ้าไม่เปิดเผยข้อมูลอย่างทันท่วงที…?

รื่นวดี สุวรรณมงคล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เมืองไทย ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการคริปโตเคอร์เรนซี่ว่า ยังติดหล่มกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล บางกฎเกณฑ์หาความชัดเจนไม่ได้ว่าความสมดุลอยู่ตรงไหน เช่น นโยบายคุมเหรียญที่ ก.ล.ต. เคยอนุมัติเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ แต่ต่อมาระบุว่าไม่ถึงเกณฑ์ ก่อให้เกิดความไม่เสถียร วันนี้เป็นอย่าง พรุ่งนี้เป็นอีกอย่าง สร้างความสับสนอลหม่านจนรายเก่าทำธุรกิจได้ยาก รายใหม่ไม่กล้าเข้ามา ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการต่ออายุเลขาธิการ ก.ล.ต. ที่ชื่อ รื่นวดี สุวรรณมงคล หรือไม่? อย่างไร..?

#สืบจากข่าว : รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts