วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 28, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงิน“คริปโตเคอร์เรนซี” โจทย์ใหญ่เลขาธิการ ก.ล.ต. (คนใหม่)

Related Posts

“คริปโตเคอร์เรนซี” โจทย์ใหญ่เลขาธิการ ก.ล.ต. (คนใหม่)

“…การสรรหาเลขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่ เริ่มมีความเคลื่อนไหว โดยมีชื่อของซีอีโอแบงก์รัฐอย่างน้อย 2 คนที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง คนแรกเป็นซีอีโอหนุ่มไฟแรงที่แม้ว่าจะเข้ามารับตำแหน่งยังไม่ครบวาระ และอีกคนเป็นซีอีโอแบงก์รัฐที่กำลังจะหมดวาระในตำแหน่งปีนี้และอยู่ระหว่างลุ้นการต่อวาระการทำงาน ซึ่งมีคอนเน็คชั่นแนบแน่นกับผู้ใหญ่ในรัฐบาล ส่วนอีกคนเป็นผู้บริหารคนใน ก.ล.ต.ระดับรองเลขาฯ ที่อาจได้รับการทาบทามให้ยื่นสมัครเข้ารับการสรรหาในครั้งนี้ด้วย รวมถึงการเปิดโอกาสให้ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล สามารถกลับมาลงสมัครคัดเลือกได้ หากมั่นใจในความสามารถว่าไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต่อวงการตลาดทุน และ คริปโตเคอร์เรนซี่…”

รายงานข่าวการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต.จะมีมติไม่ต่ออายุตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. ของ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล ที่จะครบวาระในวันที่ 30 เม.ย.66 ด้วยคะแนน 6:4 จากคณะกรรมการบอร์ด ก.ล.ต. รวมทั้งหมด 10 คน ไม่นับรวมตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. พร้อมเปิดให้มีการสรรหาเลขาธิการคนใหม่

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.

ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวเป็นระยะถึงสาเหตุที่บอร์ดมีมติไม่ต่อวาระเลขาฯ ก.ล.ต. เกิดจากความขัดแย้งระหว่างบอร์ด ก.ล.ต. ต่อการดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดทุนหลายกรณี โดยเฉพาะเรื่องหลัก 3 เรื่อง ได้แก่

  • เรื่องของกลุ่มบิทคับ ที่มีการตรวจสอบและสั่งให้แก้คุณสมบัติเหรียญ KUB จนขาดคุณสมบัติที่จะนำเข้ามาซื้อขายในกระดานสินทรัพย์ดิจิทัล
  • เรื่องของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ที่ประกาศระงับธุรกรรมการถอนคริปโตเคอร์เรนซีและเงินบาทชั่วคราว หลังจากนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปลงทุนต่อ จนก่อให้เกิดความเสียหายประมาณ 2 พันล้านบาท ขาดสภาพคล่องและนำเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลสิงคโปร์ในที่สุด
  • รวมถึงประเด็นการซื้อขายหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ที่สร้างความฮือฮา และก่อให้เกิดความเสียหายหลายพันล้านบาท ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ได้เข้าตรวจสอบบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่เข้าข่ายกระทำผิดหลายราย พบว่า บล.เอเชีย เวลท์ มีระบบการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไม่รัดกุมเพียงพอ นำเงินไปให้บริษัทแม่กู้ยืม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้า ทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จึงได้ส่งเรื่องให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ดำเนินคดีอาญา รวมถึงส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจของ บล.เอเชีย เวลท์

    จากประเด็นปัญหาดังกล่าว แม้ ก.ล.ต. จะได้พยายามเข้าไปตรวจสอบและจัดการแก้ไขปัญหา แต่ก็ได้สร้างความเสียหายแก่นักลงทุนจำนวนมาก มูลค่าหลายพันล้านบาท และอาจลุกลามเป็นปัญหาใหญ่กระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนและตลาดคริปโตเคอร์เรนซีได้ ในขณะเดียวกันการเข้าไปจัดการปัญหาก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจ จนอาจกลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดความขัดแยังระหว่างบอร์ด ก.ล.ต.

    ปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างกรรมการ กับ เลขาธิการ ก.ล.ต. ในทางความคิดและจุดยืนในการทำงาน ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากในวงการคริปโตเคอร์เรนซี ทั้งกรณี Zipmex นำเงินนักลงทุนไปลงทุนต่อจนเกิดความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาท กรณีการฉ้อโกงกระดานเทรด FTX ที่ตัวเลขชี้ชัดว่าประเทศไทยมีนักลงทุนเสียหายอยู่อันดับที่ 13 จำนวนเกือบ 130,000 คนต่อเดือน  

    แต่ ก.ล.ต. ไม่แม้แต่จะกล่าวถึง กล่าวโทษ สั่งปรับ หรือคิดจะดำเนินการใดๆ 

    จนเกิดเสียงครหาว่า ก.ล.ต. เลือกปฏิบัติโดยเข้มงวดแต่กับบริษัทคริปโตสัญชาติไทย แต่กลับเปิดทางให้บริษัทข้ามชาติทำได้ ถ้ากรณีอย่าง FTX เกิดขึ้นกับเอกชนไทย ก.ล.ต. คงสั่งปรับไปแล้ว

    สังคมมองว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะ ก.ล.ต. หน่วยงานควบคุม อ่อนปวกเปียก ไม่อาจออกกฎเกณฑ์ บังคับใช้ สนับสนุนนักลงทุนรายย่อยให้ได้รับข่าวสารทันท่วงที และ ก.ล.ต. ไม่มีมาตรการเชิงบังคับอย่างเด็ดขาด ขณะที่ ก.ล.ต. ไล่บี้เหรียญของ Bitkub ถึงกับออกคำสั่งด่วน ระบุว่าเหรียญมีคุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับอนุมัติเข้ามาซื้อขายตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule)   กลับกันกับที่ Zipmex ซึ่งมี Zipmex Token (ZMT) เป็นเหรียญของตัวเองเช่นเดียวกัน  ทั้งที่กระดานเทรดขาดเงินทุนสภาพคล่อง  ก.ล.ต. น่าจะใช้เกณฑ์จัดการเหรียญ ZMT  เข้มงวดเช่นเดียวกับเหรียญคับหรือไม่

    นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2546 – 2554)

    การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี นับเป็นความท้าทายของสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เหมือนกฎเกณฑ์เดิม หากวางกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่ดีก็จะสามารถก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2546 – 2554) กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีความท้าทายจากเศรษฐกิจดิจิทัล 3 ด้าน ประกอบด้วย

    1.ความพยายามของประเทศฝั่งตะวันออกที่จะเป็นอิสระจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

    2.จีนจะเข้ามามีบทบาทในการค้าโลก ซึ่งจะทำให้ไทยอาจต้องพัฒนาระบบเพื่อรองรับหยวนดิจิทัล และ

    3.การพัฒนาดิจิทัลเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลที่จะเข้ามามีบทบาทในการวางแผนและบริหารจัดการ รวมทั้งวางแผนรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการลงทุน

    วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2554 – 2558)

    เช่นเดียวกับ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2554 – 2558) ที่กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้มีส่วนผลักดันในการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ภารกิจที่ ก.ล.ต. ต้องทำต่อไป คือ ต้องเป็นองค์กรที่พึ่งพาได้ ฝากอนาคตได้ในทุกภาคส่วน เป็นหุ้นส่วน (visionary and strategic partners) ในการทำงานด้วยกันร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน สนับสนุนให้ผู้ลงทุนมีความรู้ทางด้านการเงินและการลงทุนเพื่อให้สามารถคุ้มครองตัวเองได้  รวมถึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

    อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

    หรือการสะท้อนมุมมองของ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่านการกล่าวปาฐกถาพิเศษ “การพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อก้าวต่อไปในทศวรรษหน้า” ในโอกาสครบรอบก่อตั้ง 30 ปี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สะท้อนให้เห็นถึงอนาคตตลาดทุนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในบางประเด็น เพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจของภาคเอกชน แต่ขณะเดียวกันจะต้องไม่เอาเปรียบประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง ก.ล.ต.ในการรักษาสมดุลให้ได้

    ล่าสุด มีข่าวหลุดออกมาจากสำงาน ก.ล.ต. ถึงการสรรหาเลขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่ เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากผู้ที่ถูกคาดหมายว่าจะเข้ามาทำหน้าที่แทนกันแล้ว โดยมีชื่อของซีอีโอแบงก์รัฐอย่างน้อย 2 คนที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง คนแรกเป็นซีอีโอหนุ่มไฟแรงที่แม้ว่าจะเข้ามารับตำแหน่งยังไม่ครบวาระ แต่มองเป้าหมายชีวิตการทำงานที่จะก้าวต่อยอดขึ้นไปในหน่วยงานภาครัฐ และอีกคนเป็นซีอีโอแบงก์รัฐที่กำลังจะหมดวาระในตำแหน่งปีนี้และอยู่ระหว่างลุ้นการต่อวาระการทำงาน ซึ่งมีคอนเน็คชั่นแนบแน่นกับผู้ใหญ่ในรัฐบาล ส่วนอีกคนเป็นผู้บริหารคนใน ก.ล.ต.ระดับรองเลขาฯ ที่อาจได้รับการทาบทามให้ยื่นสมัครเข้ารับการสรรหาในครั้งนี้ด้วย รวมถึงการเปิดโอกาสให้ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล สามารถกลับมาลงสมัครคัดเลือกได้ หากมั่นใจในความสามารถว่าไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต่อวงการตลาดทุน และ คริปโตเคอร์เรนซี เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความสามารถเข้าร่วมแข่งขันภายใต้กระบวนการที่โปร่งใส และ เป็นธรรม

    #สืบจากข่าว : รายงาน

    ทิ้งคำตอบไว้

    กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
    กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

    spot_img

    Latest Posts