กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป., พ.ต.อ.อภิชาติ โพธิจันทร์ รอง ผบก.ปปป., พ.ต.อ.ธนวัฒน์ หิ้นยกฮิ่น ผกก.1 บก.ปปป. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. นำโดย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช., นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช., นายพิศิษฐ์ พัฒนกิจจำรูญ ผอ.สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ, นายไพโรจน์ นิยมเดชา ผอ.กลุ่มสืบสวนและปฏิบัติการข่าว 2, นางสาวกนกวรรณ กันต่าย นักสืบสวนคดีทุจริตชำนาญการ, นายชัชวาลย์ สงวนพันธุ์ นักสืบสวนคดีทุจริตชำนาญการ, นายปริญญา ไชยถาวร นักสืบสวนคดีทุจริตชำนาญการ, นางสาวกัญญารัตน์ สายปรีชา เจ้าพนักงานสืบสวนคดีทุจริตชำนาญงาน และ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. นำโดย นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท., นายสุภาพ ศิริ ผู้อำนวยการกองอำนวยการต่อต้านการทุจริต, ว่าที่ ร.ต.หญิง ขวัญชนก ต้นกันยา นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ, นายภูเบศ แท่นนิล นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ, นายรัญชนะ น้อยอิ่ม นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ
ร่วมกันจับกุม นายไพฑูรย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี ดำเนินคดีในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
สถานที่จับกุม บริเวณห้องทำงานผู้อำนวยการ โรงเรียนแห่งหนึ่งย่านบางชัน กรุงเทพฯ
สืบเนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับแจ้งเบาะแส กรณี เจ้าหน้าที่รัฐ ระดับผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เรียกรับเงินจากผู้เสียหายซึ่งเป็นคู่สัญญาโครงการจ้างเหมาประกอบอาหาร (ปรุงสำเร็จ) สำหรับนักเรียน ภาคเรียนที่ 2/2565 ของโรงเรียนย่านบางชัน เป็นเงินจำนวน 329,000 บาท โดยมีพฤติการณ์ กล่าวคือหลังจากคู่สัญญาในโครงการดังกล่าวชนะการเสนอราคาโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) คู่สัญญาถูกผู้อำนวยการฯเรียกรับผลประโยชน์จำนวนหลายครั้ง
โดยแต่ละครั้งมีการเสนอว่าคู่สัญญาควรแบ่งเงินที่ได้กำไรจากการประกอบอาหารให้กับตนบ้าง และพูดคุยในทำนองว่าให้คู่สัญญาไปตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะแบ่งเงินให้ตนเป็นจำนวนเท่าใด
จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ผู้อำนวยการฯได้เรียกให้คู่สัญญาเข้าไปพบและพูดคุยเกี่ยวกับเงินส่วนแบ่งที่เคยเรียกรับจากคู่สัญญา โดยในวันดังกล่าวผู้อำนวยการฯได้กำหนดจำนวนเงินที่คู่สัญญาต้องจ่ายเป็นเงินจำนวน 347,000 บาท โดยอ้างว่าเงินจำนวน 320,000 บาท จะนำไปเป็นงบประมาณสำหรับปรับปรุงวัสดุ อุปกรณ์ (โต๊ะ เก้าอี้) ภายในโรงอาหารของโรงเรียน ซึ่งการปรับปรุงวัสดุ อุปกรณ์ ดังกล่าว ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาแต่อย่างใด ส่วนเงินอีกจำนวน 27,000 บาท จะนำไปแบ่งให้กับผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลโครงการอาหารนักเรียน จำนวน 5 คน โดยแบ่งจ่ายเป็นระยะเวลา 3 เดือน เดือนละ 9,000 บาท (เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงเดือนมกราคม 2566) แต่คู่สัญญาต้องส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้อำนวยการฯโดยตรง และมีการพูดคุยในทำนองว่าถ้าไม่นำเงินจำนวนนี้มามอบให้ ผู้อำนวยการฯจะรายงานไปที่ กรุงเทพมหานคร ว่าคู่สัญญาได้รับเงินส่วนต่างค่าอาหารเช้าจากการที่เด็กนักเรียนไม่มารับประทานอาหารเป็นเงินจำนวนมาก คู่สัญญาจึงนำพฤติการณ์ดังกล่าวมาแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อวางแผนเข้าจับกุม
ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เวลาประมาณ 14.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ได้นำเงินสดจำนวน 329,000 บาท ที่ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้ว มอบให้ผู้เสียหายนำไปส่งมอบให้กับผู้อำนวยการฯ โดยเจ้าหน้าที่ฯได้เฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณโดยรอบ และเมื่อผู้เสียหายได้ส่งมอบเงินแก่ผู้อำนวยการฯแล้ว เจ้าหน้าที่ฯจึงได้เข้าไปยังห้องทำงานของผู้อำนวยการฯ ซึ่งเป็นจุดส่งมอบเงินในทันที พร้อมแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าทำการจับกุมผู้ต้องหา โดยได้ตรวจค้น พบว่ามีเงินสดจำนวน 329,000 บาท วางอยู่บนโต๊ะทำงานของผู้อำนวยการฯ เจ้าหน้าที่จึงตรวจสอบเงินสดจำนวน 329,000 บาท ดังกล่าวต่อหน้าผู้ต้องหา พบว่า หมายเลขธนบัตรตรงกับหมายเลขธนบัตรที่ลงบันทึกประจำวันไว้ทุกฉบับ จึงได้แจ้งพฤติการณ์และข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบ โดยพนักงานสอบสวน บก.ปปป. จะได้สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาตามกฎหมายต่อไป
จากการสอบถามผู้ต้องหา ให้การภาคเสธ โดยให้การว่าเงินจำนวนดังกล่าวตนจะนำไปซื้ออุปกรณ์การเรียน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ให้กับนักเรียนในโรงเรียน