วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 28, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินยุคมืด หาเหตุผลดีๆ ไม่เจอแล้ว จะให้ต่ออายุเลขา ก.ล.ต. ได้อย่างไร?

Related Posts

ยุคมืด หาเหตุผลดีๆ ไม่เจอแล้ว จะให้ต่ออายุเลขา ก.ล.ต. ได้อย่างไร?

“…สื่อรายงานมติคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา มีมติย้ำชัด 6 ต่อ 4 เท่าเดิม ยืนยันไม่ต่ออายุการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 เมษายน 2566 โดยอัตโนมัติ  และจะเปิดให้มีการสรรหาเลขาธิการคนใหม่ เพื่อความโปร่งใสและสง่างาม…”

มติคณะกรรมการ ก.ล.ต. นี้ ถือว่า “ถูกต้อง” อยู่ภายใต้กรอบ ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดเรื่องการต่อวาระของเลขาธิการไว้โดยอัตโนมัติ และเมื่อเทียบเคียงกับหน่วยงานในลักษณะใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  จะใช้วิธีเปิดสรรหาเป็นการทั่วไป  โดยตัวเลขาฯ ก.ล.ต. เอง สามารถกลับมาลงสมัครคัดเลือกได้ ถ้าหากมั่นใจในความสามารถว่าไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต่อวงการตลาดทุน และวงการคริปโตเคอร์เรนซี่  ทั้งนี้เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความสามารถเข้าร่วมแข่งขัน ภายใต้กระบวนการที่โปร่งใส

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.

รายงานข่าวระบุว่า ในที่ประชุมได้มีการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย อย่างชัดเจน โดยมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านการต่ออายุเลขาฯ ซึ่งมีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุม 10 คน จากคณะกรรมการทั้งหมด 11 คน เพราะ น.ส.รื่นวดี ถือเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย จึงไม่ได้ร่วมลงมติในครั้งนี้

ทั้งนี้ ผลการลงมติดังกล่าว ทำให้ที่ประชุมเกิดการถกเถียงกันอย่างรุนแรง  จนถึงขั้นขู่ว่าจะมีการฟ้องร้องคดีกันระหว่างเลขาธิการ ก.ล.ต. กับ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ถือเป็นเรื่องฉาวในวงการ สังคมตั้งคำถามว่า ในเมื่อเลขาฯ ก.ล.ต. อยากอยู่ในตำแหน่งต่อ ทำไมจึงไม่ยอมเข้ากระบวนการสรรหาแบบปกติ  อย่างน้อยก็เพื่อความโปร่งใส และจะได้ยืนยันว่าท่านเลขาฯ มั่นใจในความสามารถและผลงานของตนเอง

มติไม่ต่ออายุงานนี้ถูกย้ำชัดอีกครั้งในการประชุมรอบวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ด้วยคะแนนเท่าเดิม 6 ต่อ 4 ในการไม่ต่ออายุการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.

มติไม่ต่ออายุงานนี้ถูกย้ำชัดอีกครั้งในการประชุมรอบวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ด้วยคะแนนเท่าเดิม 6 ต่อ 4 ในการไม่ต่ออายุการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ประเด็นน่าสนใจคือ ในช่วงนี้จะเห็นฝ่ายสนับสนุนท่านเลขาฯ พยายามโยงใยว่าเรื่องนี้มีวาระลับในอก โดยปล่อยข่าวลือว่า ถูกกลั่นแกล้งโดย นายพิชิตฯ หรือไม่  เนื่องจาก นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. เป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นอยู่ในบริษัท เอเชีย เวลท์ จำกัด

นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ ก.ล.ต.

ทั้งนี้มีประเด็นพัวพันมาตั้งแต่ กรณี ก.ล.ต.  กล่าวโทษบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีแยกทรัพย์สินของลูกค้าไม่ครบถ้วน โดยมีการนำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้ประโยชน์เพื่อบริษัท ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้าตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

รวมไปถึงกรณีของหุ้น MORE ซึ่งผิดปกติส่อเค้าไปในทางทุจริต หรือปฏิบัติการณ์ “ปล้นโบรกเกอร์” จนสร้างความฮือฮา และก่อให้เกิดความเสียหายหลายพันล้านบาท นำมาสู่กรณีของบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ที่ “ลูกค้า” ผิดนัดชำระค่าซื้อหุ้น  ทำให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินตึงตัว ทำให้ต้องทำให้ต้องแหกกฎ โยกเงินของลูกค้าที่อยู่ในความครอบครองของบริษัทมูลค่า 157.99 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระค่าซื้อหุ้น MORE แทน ให้กับทางสำนักหักบัญชี หรือ TCH  โดยที่ลูกค้าไม่ยินยอม ทำให้คณะกรรมกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) สั่งบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด หยุดประกอบธุรกิจชั่วคราวจนกว่าจะนำเงินมาคืนลูกค้าได้ และในที่สุดเมื่อบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามกฎหมายกำหนด จึงต้องระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภท และโอนทรัพย์สินลูกค้าไปยังผู้ประกอบการรายอื่น

เพื่อความเป็นธรรมต่อข่าวลือดังกล่าว แหล่งข่าวชี้  นายพิชิตและครอบครัว ไม่ได้ถือหุ้นหรือดำรงตำแหน่งใน บล. เอเชีย เวลท์ แต่อย่างใด มีเพียงภรรยาของนายพิชิตซึ่งถือหุ้นในบริษัท เอเชีย เวลท์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บล. เอเชีย เวลท์ ในสัดส่วนเพียง 1.25% และนายพิชิตไม่เข้าร่วมประชุมทุกครั้งที่มีการพิจารณาเรื่องนี้

แม้นายพิชิตเคยเป็นเจ้าหน้าที่บริหารของ บล. เอเชีย เวลท์ เมื่อปี 2556-2559 อีกทั้งเป็นประธานกรรมการและกรรมการอิสระของบริษัท เอเชีย เวลท์ โฮลดิ้ง จำกัด แต่ก็ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งก่อนมารับตำแหน่งประธานกรรมการ ก.ล.ต. ในปี 2563  ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบจากรายงานการประชุมได้ไม่ยาก

นอกจากนี้ ฝ่ายหนุน เลขาฯ รื่นวดี ยังพยายามสร้างความสับสนให้นักลงทุนผู้ติดตามข่าวสารการเมืองใน ก.ล.ต. โดยชี้ว่าเธอต้องเผชิญปัญหา และความท้าทายในตลาดทุน และตลาดคริปโตฯ ยกตัวอย่างอ้างว่า กลุ่มบิทคับที่มีปัญหามากมายจนโดนปรับหลายครั้ง รวมกว่าร้อยล้านบาท ที่เป็นสาเหตุให้เธอต้องทำงานอย่างหนักในการปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนไทย แต่ดูแววแล้วเหตุใด ภาพปรากฎว่าสิ่งที่ท่านเลขาฯ ทำกลับเน้นลงโทษบริษัทที่ยังไม่ได้ก่อความเสียหายในวงกว้าง

แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่ฝ่ายยกหางเลือกเมินเฉยหรือไม่ ที่จะสะท้อนภาพผลงานชิ้นโบว์ดำในวงการคริปโตฯ ซึ่งมีนักลงทุนเสียหายจริง เจ็บจริง และยังมีชีวิต มีลมหายใจ กับกรณีหลากหลายที่ยาวเป็นหางว่าว

1. กรณี Zipmex  ชาวอินโดนีเซียที่เผชิญชะตากรรมเดียวกับนักลงทุนไทย แต่  Zipmex เลือกคืนเงินให้กับชาวอินโดนีเซียครบถ้วน เพราะการมีหน่วยงานกำกับดูแลฯ เข้มงวด ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาผลประโยชน์ของนักลงทุนจริง สิ่งที่ แต่ ก.ล.ต. ไทยเฝ้าแต่จับผิดเอกชนเจ้าอื่น โดยในช่วงสิ้นปีปรับบิทคับ กับ สตางค์โปร รวมกันเกือบ 90 ล้านบาท ผิดไปกับ zipmex พาเงินนักลงทุน เจ๊ง 2,000  ล้าน ก.ล.ต. ยังส่ออาการ ใบ้

2.กรณีฉ้อโกงของ FTX ซึ่งเป็นกระดานเทรดที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. โดยตัวเลขชี้ชัดว่าประเทศไทยมีนักลงทุนเสียหายอยู่อันดับที่ 13 จำนวนเกือบ 130,000 คน แต่ ก.ล.ต. ไม่แม้แต่จะกล่าวถึง กล่าวโทษ สั่งปรับ หรือคิดจะดำเนินการใดๆ ประสิทธิภาพการทำงานช่างแตกต่าง เมื่อเทียบกับกรณีหน่วยงานกำกับเนเธอร์แลนด์ที่สั่งปรับ Coinbase เป็นเงิน 3.3 ล้านยูโร หรือคิดเป็นประมาณ 120 ล้านบาท ฐานให้บริการลูกค้าชาวเนเธอร์แลนด์จำนวนมากโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ว่าเรื่องเหล่านั้นยังไม่มีผู้เสียหายสักคน แต่หน่วยงานกำกับดูแลเนเธอร์แลนด์ก็แสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาผลประโยชน์ของนักลงทุน  หรือที่จริง ก.ล.ต. เลือกปฏิบัติโดยเข้มงวดแต่กับบริษัทคริปโตฯ สัญชาติไทย แต่กลับเปิดทางให้บริษัทข้ามชาติทำได้

3. เรื่องเลือกปฏิบัติยังไม่จบ เมื่อ กลต. ไล่บี้เหรียญของ Bitkub ถึงกับออกคำสั่งด่วน ระบุว่าเหรียญมีคุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับอนุมัติเข้ามาซื้อขายตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) กลับกัน Zipmex ซึ่งมี Zipmex Token (ZMT) เป็นเหรียญของตัวเองเช่นเดียวกัน ทั้งที่กระดานเทรดขาดเงินทุนสภาพคล่อง ถ้า ก.ล.ต. ใช้มาตรฐานเดียวกันในการจัดการ เหรียญ ZMT ก็ต้องไม่มีคุณสมบัติถึงเกณฑ์เช่นเดียวกัน และสมควรพิจารณาออกคำสั่งลักษณะถอดเหรียญออกจากกระดานเทรดไปตั้งแต่ตอนที่เกิดเรื่องเมื่อกรกฎาคมปีที่แล้ว

4.แทนที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรม มีแต่ทำหมัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การแบน Utility Token (เคส NFT/Fan Token) อ้างความปลอดภัย แต่ไม่คำนึงถึงความด้อยพัฒนา เรียกว่าเลือกเก็บคองอเข่าประเทศ แต่ไม่ยอมออกอาวุธสู้   ทั้งที่ควรเปิดรับฟังก่อนสั่งแบนหรือไม่ ความไม่เข้าใจครั้งนี้นำพาอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลเสียโอกาสทางเศรษฐกิจหลายพันล้านบาทต่อปี

5.ฉาวใหญ่ปลายปี อย่างมหกรรมปล้นโบรกเกอร์ในกรณี หุ้น MORE

6.การให้ข่าวปฏิเสธจากแม่ทัพใหญ่ JKN กลับมาว่า “JKN จะไม่มีการเพิ่มทุน”   ทำให้แมงเม่า..กระโจนเข้าใส่หุ้น JKN กันยกใหญ่..ด้วยความฝันจะได้ร่วมท่องจักรวาลไปด้วย แต่ฝันหวานกันได้ไม่นาน JKN ประกาศเพิ่มทุน 3,000 ล้านบาท ด้วยการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) อัตราส่วน 1 : 1 ในราคา 3 บาท ขณะที่ราคากระดานตอนนั้นสูงเฉียด 5 บาทเนื่องจากต้องเผชิญปัญหาเฉพาะหน้าคือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน 24 เม.ย. 2566 จำนวน 400 ล้านบาท (อัตราดอกเบี้ย 6.6%) ขณะที่เงินสดมีไม่ถึง 300 ล้านบาท (ณ สิ้น 30 ก.ย. 2565) ดูแล้วไม่พอที่จะไถ่ถอนเป็นแน่..!?? แล้วไหนจะหนี้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนอีกกว่า 2,168.66 ล้านบาท   แผนการเพิ่มทุน 3,000 ล้านบาท จึงเป็นความหวังเดียวที่จะประคอง JKN ให้พ้นความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ สังคมมองว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะ ก.ล.ต. หน่วยงานควบคุม อ่อนปวกเปียก ไม่อาจออกกฎเกณฑ์ บังคับใช้ สนับสนุนนักลงทุนรายย่อยให้ได้รับข่าวสารที่ทันท่วงที และ ก.ล.ต. ไม่มีมาตรการเชิงบังคับ จับคำคนพ่นน้ำลาย แล้วไม่ต้องรับผิดชอบต่อการพลิกลิ้นหรือไม่

ก.ล.ต. โดย รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาฯ ก.ล.ต.คนที่ 9 ที่จะครบวาระในเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งอาจหวังลึกๆ ว่า จะโยกย้ายไปมีตำแหน่งที่อื่นตามคาดหวัง หรืออาจจะหวังต่อวาระเป็นใหญ่ในรั้วชายคา ก.ล.ต. แต่ก็คงไม่ง่ายนัก เพราะผลงานชิ้นโบว์ดำ สร้างความเคลือบแคลงใจในสังคมนักลงทุน

รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาฯ ก.ล.ต.คนที่ 9 ที่จะครบวาระในเดือนพฤษภาคม 2566

แล้วไหนจะมีกระแสข่าวลอยมาหนาหูอีกว่า เรื่องในองค์กร ความสัมพันธ์กับผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่เป็นที่ยอมรับของหลายฝ่าย

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562  สำนักงาน ก.ล.ต.   มีผู้บริหารลาออกจำนวนมากถึง 15 คน ทั้งที่ก่อนหน้านี้แทบไม่มีการลาออกเลย  เพราะหลายคนบ่นหนาหูว่าอึดอัด   นอกจากนี้ยังมีประเด็นการแต่งตั้งแต่คนใกล้ชิดตัวเองให้มีตำแหน่งใหญ่โต  โดยใช้ข้ออ้างสุดคลาสสิคว่า “ปรับโครงสร้างองค์กร” โดยมีการตั้งตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. เพิ่มถึง 3 ตำแหน่ง  

ในระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ก.ล.ต. จึงต้องประสบกับภาวะสมองไหล โดยคนทำงานระดับปฏิบัติงานในหลายสายงานลาออกจำนวนนับร้อย เกิดจากความอึดอัดในการทำงานร่วมกับเลขา ก.ล.ต.หรือไม่?

น่าจะลองหาข้อมูลดูเองบ้าง ทั้งหมดนั้นสะท้อนผ่านงาน หลักสูตรเรียนรู้ออนไลน์ e-learning “ก.ล.ต. Crypto Academy” แหล่งความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ประชาชนและผู้สนใจ ได้รู้ลึก ลดเสี่ยง เรียนสนุก ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล …แต่เหตุไฉน เชิญคนนอกมาสอนทั้งนั้น คนใน ไม่มีน้ำยา เพราะลาออกหมดแล้ว

การบริหารงานบุคคลในองค์กรมีปัญหาที่ผู้อยู่ใต้การบังคับบัญชาไม่ยอมรับหลายครั้ง เกิดการเมืองภายในอย่างรุนแรง  เกิดความแตกแยกในองค์กร มีการตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมา จนถูกมองว่าเป็นการสกัดกั้นการทำงานของผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว   ต้องถามว่าเรื่องแบบนี้ ท่านเลขาฯ เคยประเมิน เคยวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อบุคลากรในองค์กรบ้างหรือไม่ พนักงานระดับปฏิบัติการทราบถึงปัญหาได้ดี เพราะผ่านการมีผู้บังคับบัญชามาแล้วหลายคน เปรียบเทียบความแตกต่างกันได้ แต่ใครจะกล้าเสนอแนะ  เพราะเกรงจะไม่ยอมรับความคิดเห็นเชิงลบ  จึงสามารถบอกได้เพียงสิ่งที่นายถูกอกถูกใจเท่านั้น จนเกิดเป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันใน ก.ล.ต.

มีความอึดอัดหลายอย่างของบุคลากรภายใน รวมไปถึงการเดินสายออกงานที่มีเวลาให้กับสื่อ แต่กลับไม่เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. อยู่หลายครา  

สังคมคนที่ทำงาน ก.ล.ต. อยากฝากคำถามมาถึงตัวเลขาฯ ว่า เหตุใดไม่ใช้รถประจำตำแหน่งของทางสำนักงานจัดให้เหมือนเลขาธิการท่านอื่น ปล่อยให้รถประจำตำแหน่งจอดทิ้งร้างโดยเปล่าประโยชน์ แต่เสนอเรื่องอนุมัติเงินค่ารถประจำตำแหน่งแทน สร้างภาระให้กับฝ่ายบริหารที่ต้องนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาทุกเดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2563

ทั้งผลงานชิ้นโบว์ดำที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ รวมถึงวิกฤตการณ์สมองไหล การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายภายในองค์กร ข้อครหาด้านการออกสื่อจำนวนมาก และเนื้องานการช่วยเหลือผู้เสียหายหลายระดับชั้นไม่สามารถจัดการได้   เกือบ 4 ปีแล้วที่ให้เวลากับการทำงาน ห้วงเวลาการดำรงตำแหน่งที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ท่านเลขาฯ ไม่สามารถนำพาองค์กร สำนักงาน ก.ล.ต. ไปสู่ความก้าวหน้าตามที่คาดหวังได้…

หรือถ้าจะให้รู้แจ้งเห็นชัด  ลองแอบไปถามสังคมนักลงทุนดูว่า เขาอยากให้ท่านเลขาฯ อยู่ต่ออีก 1 วาระหรือไม่?

#สืบจากข่าว : รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts