วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 28, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินก.ล.ต.ยุค “ผลัดใบ” เปลี่ยน “วิกฤตให้เป็นโอกาส” หรือ “ปล่อยโอกาสให้เป็นวิกฤต” เลือกเอา

Related Posts

ก.ล.ต.ยุค “ผลัดใบ” เปลี่ยน “วิกฤตให้เป็นโอกาส” หรือ “ปล่อยโอกาสให้เป็นวิกฤต” เลือกเอา

“…ต้องยอมรับว่าการเติบโตของธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล บ้านเรา กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทะยานได้แม้ในยุคการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เติบโตในระดับหลักพันเปอร์เซ็นต์ ทำให้นักธุรกิจหลายกลุ่มกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งสถาบันการเงิน สิ่งสำคัญคือ สำนักงาน ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูธุรกิจนี้ ควรเน้นการส่งเสริมแบบไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งธุรกิจที่เป็นของคนไทย และ ธุรกิจข้ามชาติ รวมถึงควรกำหนดคุณสมบัติการออกเหรียญดิจิทัลที่มีความชัดเจน เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ วันนี้เทรดได้ พรุ่งนี้เทรดไม่ได้ กลายเป็นว่า นอกจากสร้างความเสียหายให้กับบริษัทนั้นและคนที่ซื้อเหรียญนี้ไปแล้ว ยังถูกผู้ประกอบการรายอื่นที่เตรียมออกเหรียญลักษณะเดียวกันตั้งข้อสงสัยว่ามีการ “ซูเอี๋ย” ระหว่าง ก.ล.ต. กับบริษัทนั้นหรือเปล่า…”

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล

ในที่สุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ก็ได้ออกประกาศรับสมัครเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่แทน “นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล” ที่กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 30 เม.ย. นี้

โดยผู้สมัครจะต้องเป็นผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการ โดยคำนึงถึงความรู้ ประสบการณ์ ความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านตลาดทุน ตลอดจนคุณลักษณะส่วนบุคคลที่เหมาะสมจำเป็นและสอดคล้องในการบริหารและขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งประสบการณ์ด้านอื่นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่เลขาธิการ เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ของกฎหมาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ขององค์กร ก.ล.ต. ในการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนการกำกับดูแลตลาดทุนด้วยคุณลักษณะด้านธรรมาภิบาล และพฤติกรรมที่สอดคล้องกับจรรยาบรรณที่ดี ไม่มีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ

ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวเป็นระยะถึงสาเหตุที่บอร์ดมีมติไม่ต่อวาระเลขาฯ ก.ล.ต. เกิดจากความขัดแย้งระหว่างบอร์ด ก.ล.ต. ต่อการดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดทุนหลายกรณี โดยเฉพาะ 3 เรื่องหลัก ได้แก่ เรื่องของกลุ่มบิทคับ ที่มีการตรวจสอบและสั่งให้แก้คุณสมบัติเหรียญ KUB จนขาดคุณสมบัติที่จะนำเข้ามาซื้อขายในกระดานสินทรัพย์ดิจิทัล เรื่องของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ที่ประกาศระงับธุรกรรมการถอนคริปโตเคอร์เรนซีและเงินบาทชั่วคราว จนก่อให้เกิดความเสียหายประมาณ 2 พันล้านบาท รวมถึงประเด็นการซื้อขายหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE 

ปรากฎการณ์ถาโถมที่เกิดกับเลขาธิการ ก.ล.ต. กับกรณีบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (EXCHANGE) “Zipmex” ซึ่งมีบริษัทแม่ในสิงคโปร์ นำผลิตภัณฑ์ “Zipup+” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าไทยฝากสินทรัพย์ไว้ที่ Zipmex global สิงคโปร์ ไปลงทุนในแฟลตฟอร์มสินเชื่อคริปโตฯ ของ บาเบลล์ไฟแนนซ์ (Babel Finance) และ เซลเซียส (Celsius ) ซึ่งทั้งสองแห่งต่างประสบปัญหาจากการล่มสลายของเหรียญ LUNA จนทั้งสองบริษัทต้องประกาศระงับการถอนเงิน ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ใน Zipup+ โดยเฉพาะ บิทคอยน์(BTC), อีเธอเรียม (ETH), USDT และ USDC เป็นต้น ไม่สามารถทำธุรกรรมได้ ส่งผลให้ Zipmex ประเทศไทย ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 กระทบต่อลูกค้านักลงทุนราว 3,800 ราย ความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท ถือได้ว่าเป็นบาดแผลฉกรรจ์ของ ก.ล.ต. ที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์จนบานปลายกลายเป็นความเสียหายของนักลงทุน

รวมถึงกรณีการฉ้อโกงกระดานเทรด FTX ที่ตัวเลขชี้ชัดว่าประเทศไทยมีนักลงทุนเสียหายอยู่อันดับที่ 13 จำนวนเกือบ 130,000 คนต่อเดือน ก.ล.ต. ไม่สามารถจะกล่าวโทษ สั่งปรับ หรือดำเนินการใดๆ  จนเกิดเสียงครหาว่า ก.ล.ต. เลือกปฏิบัติโดยเข้มงวดแต่กับบริษัทคริปโตสัญชาติไทย แต่กลับเปิดทางให้บริษัทข้ามชาติทำได้ ถ้ากรณีอย่าง FTX เกิดขึ้นกับเอกชนไทย ก.ล.ต. คงสั่งปรับไปแล้ว สังคมมองว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะ ก.ล.ต. ไม่มีกฎเกณฑ์ บังคับใช้ สนับสนุนนักลงทุนรายย่อยให้ได้รับข่าวสารทันท่วงที

สิ่งสำคัญคือ สำนักงาน ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจนี้ ควรเน้นการส่งเสริมแบบไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งธุรกิจที่เป็นของคนไทย และ ธุรกิจข้ามชาติ รวมถึงควรกำหนดคุณสมบัติการออกเหรียญดิจิทัลที่มีความชัดเจน เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ วันนี้เทรดได้ พรุ่งนี้เทรดไม่ได้ เช่น ก.ล.ต. สั่งระงับการเทรดเหรียญบริษัทแห่งหนึ่งด้วยเหตุผลว่ามีคุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์ตามกำหนด ทั้งที่มีการเทรดไประยะเวลาหนึ่งแล้ว กลายเป็นว่านอกจากสร้างความเสียหายให้กับบริษัทนั้นและคนที่ซื้อเหรียญนี้ไปแล้ว ยังถูกผู้ประกอบการรายอื่นที่เตรียมออกเหรียญลักษณะเดียวกันตั้งข้อสงสัยว่ามีการ “ซูเอี๋ย” ระหว่าง ก.ล.ต. กับบริษัทนั้นหรือเปล่า เพื่อสกัดเหรียญใหม่ที่กำลังจะถูกนำเข้ามาเทรดในตลาด เนื่องจากผู้ประกอบการที่ลงทุนผลิตเหรียญออกมามีต้นทุนที่ลงไปแล้ว เมื่อเหรียญไม่ได้ถูกนำออกมาขายก็เท่ากับสูญเปล่า จึงอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่าเป็นการเล่น “เกม” เพื่อสกัดคู่แข่งทางธุรกิจหรือเปล่า ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลย แต่กลายเป็นว่าความไม่ชัดเจนดังกล่าว ทำให้ต้องเสียภาพลักษณ์ทั้งฝั่งผู้ประกอบการ และ ก.ล.ต.

ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่กำกับ ดูแล การออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยโดยตรง คือ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน ลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกหรือถูกเอาเปรียบ สร้างความชัดเจนในการกำกับดูแลให้ผู้ที่ต้องการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลนี้โดยสุจริตสามารถทำได้ ป้องกันการฟอกเงินหรือใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในทางไม่สุจริต และเพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีมาทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการรายใดที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้จะมีโทษทางอาญา โดยฐานความผิดและอัตราโทษเทียบเคียงได้กับกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และยังมีการนำบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการลงโทษทางแพ่งมาบังคับเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายนี้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้นด้วย

เมื่อเรามีกฎหมายควบคุมการกระทำผิดกฎระเบียบการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี ก็ควรจะปล่อยให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ภายใต้การกำกับ ดูแล และ ส่งเสริม ของ ก.ล.ต.อย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง หากใครที่ไม่ใช่ตัวจริง หวังเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากธุรกิจนี้ ระบบจะกำจัดผู้ที่ไม่เล่นตามกฎออกไปในที่สุด และ ก.ล.ต. ไม่ต้องกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของสังคม

ต้องยอมรับว่าการเติบโตของธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล บ้านเรา กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทะยานได้แม้ในยุคการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เติบโตในระดับหลักพันเปอร์เซ็นต์ ทำให้นักธุรกิจหลายกลุ่มกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งสถาบันการเงิน นั่นคือสิ่งที่ ก.ล.ต.ต้องตั้งธงการกำกับดูแลอย่างเท่าเทียมกันทั้งรายใหม่ รายเก่า รายใหญ่ รายเล็ก ไม่เกิดความลักลั่น ได้เปรียบ เสียเปรียบ ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ก็ไม่ต่างจากการลงทุนทั่วไป “ในดีมีเสีย ในเสียมีดี” การให้ความรู้ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงของเหรียญบิทคอยน์ในช่วงที่ผ่านมา ย่อมลงแรงตามวัฏจักรแห่งความผันผวน แม้จะมีการประเมินว่าขาขึ้นรอบใหม่ของบิทคอยน์จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า หลังผ่านพ้นช่วงการปรับฐานครั้งใหญ่ โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่าคริปโตฯ ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และยังจะเติบโตมากกว่าหุ้นเทคโนโลยีอีกด้วย แต่ถ้าลงทุนแบบไร้สติ ปราศจากความรู้ความเข้าใจ มีความโลภที่เป็นที่ตั้ง สุดท้ายก็กลายเป็นแมลงเม่าบินเข้ากองไฟที่ยังคงเห็นได้เกลื่อนกราดในตลาดหุ้น

ยุค “ผลัดใบ” ของ ก.ล.ต. จะเปลี่ยน “วิกฤตให้เป็นโอกาส” หรือ “ปล่อยโอกาสให้เป็นวิกฤต” เลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ต้องเลือกเอง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts