“…แม้ฮ่องกงจะเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน แต่ก็มีกฎหมายเป็นของตนเอง เพียงแค่รัฐบาลกลางในกรุงปักกิ่งให้การรับรองว่าจะไม่เข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจและการเมืองในเขตพื้นที่นี้ ด้วยรูปแบบการปกครองที่เรียกว่า “หนึ่งประเทศ สองระบบ” เท่านั้นก็เพียงพอต่อการขับเคลื่อนนโยบายคริปโตฯ ของฮ่องกงโดยไม่ถูกกดดันจากแผ่นดินใหญ่ สำหรับไทยเรา ก.ล.ต.จะมีเลขาธิการคนใหม่ แทนเลขาธิการคนปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 30 เม.ย. ซึ่งผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลต่างคาดหวังมิติใหม่ในการสร้างสรรค์ตลาดคริปโตฯ ไทย ก้าวสู่ภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่อย่างสดใสสวยงาม แบบไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง มีมาตรการเท่าเทียมกันทั้งผู้ประกอบการไทย และ exchange ต่างชาติ ไม่ใช่ออกกฎต่างๆ มาใช้บังคับอย่างไม่สมดุล..”
การส่งสัญญาณสนับสนุน “ฮ่องกง” ให้เป็นศูนย์กลางคริปโตเคอร์เรนซีของรัฐบาลจีน กำลังถูกจับตามองว่า จุดยืนของจีนต่อ “คริปโตเคอร์เรนซี” มีแนวโน้มเปลี่ยนไปหรือเปล่า
เพราะในขณะที่แผ่นดินใหญ่ต่อต้าน “คริปโตเคอร์เรนซี” แต่ฮ่องกงที่ถือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษใหญ่ของจีน กำลังได้รับการขับเคลื่อนเงินดิจิทัลสกุลใหม่อย่างคึกคัก ซึ่งอาจพลิกภูมิรัฐศาสตร์โลกครั้งสำคัญ ท่ามกลางมหาเศรษฐีชั้นนำของโลกฝั่งตะวันตกที่พยายามด้อยค่าคริปโตฯ ว่าไร้มูลค่า แต่รัฐบาลจีนกลับแสดงทีท่าในบริบทใหม่ ด้วยการผลักดันฮ่องกงเป็น “ฮับ” คริปโตเคอร์เรนซี
ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคม 2565 รัฐบาลฮ่องกงได้ยกเลิกการออกกฎหมายควบคุมคริปโตฯ และอนุญาตให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงในสินทรัพย์เสมือน ซึ่งตรงข้ามกับนโยบายของจีนแผ่นดินใหญ่ที่ยังไม่ให้การยอมรับสกุลเงินนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ฮ่องกงจะเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน แต่ก็มีกฎหมายเป็นของตนเอง เพียงแค่รัฐบาลกลางในกรุงปักกิ่งให้การรับรองว่าจะไม่เข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจและการเมืองในเขตพื้นที่นี้ ด้วยรูปแบบการปกครองที่เรียกว่า “หนึ่งประเทศ สองระบบ” เท่านั้นก็เพียงพอต่อการขับเคลื่อนนโยบายคริปโตฯ ของฮ่องกงโดยไม่ถูกกดดันจากแผ่นดินใหญ่
ที่น่าจับตามองอีกอย่างคือ นโยบายการขับเคลื่อนครั้งนี้ มีตัวแทนจากจีนเข้าร่วมการประชุมบ่อยครั้ง เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์ความแตกต่างระหว่างฮ่องกงกับปักกิ่ง นั่นทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการทั่วโลก มองเห็นว่าธุรกิจคริปโตฯ ในจีนเริ่มเคลื่อนย้ายเข้าสู่ฮ่องกง เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับการทดสอบและศูนย์กลางคริปโตฯ ในโลกเศรษฐกิจใหม่ โดยหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญคือ Huobi Global กระดานเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลสัญชาติจีน ได้เตรียมวางแผนที่จะเปิดการแลกเปลี่ยนใหม่ในฮ่องกง โดยมุ่งเน้นไปที่สถาบันและกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลที่มีความมั่งคั่งสูง ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะไม่มีการละเมิดหรือคุกคามเสถียรภาพทางการเงินจากรัฐบาลแผ่นดินใหญ่
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของฮ่องกง ได้ร่างระบบใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจคริปโตฯ ฉบับใหม่ เสนอให้การแลกเปลี่ยนแบบรวมศูนย์ทั้งหมดในภูมิภาคนี้ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงเสนอให้ผู้ค้าปลีกเข้าถึงแพลตฟอร์มการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีที่ได้รับอนุญาต เพื่อป้องกันชาวฮ่องกงซื้อขายคริปโตฯ บนแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่ได้รับการควบคุม
หันไปมองอีกหนึ่งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างอินเดีย ได้มีการนำประเด็นการกำกับดูแลและระเบียบควบคุมการใช้คริปโตเคอร์เรนซีเข้าสู่วาระการประชุมของสมาชิก G20 ซึ่งประกอบด้วยประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ (G 8) คือ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี รัสเซีย และสหรัฐ และกลุ่มประเทศระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและหวังสร้างแนวทางปฏิบัติยกระดับมาตรฐานคริปโตเคอร์เรนซีให้เป็นแนวทางเดียวกันทั่วโลก
ถ้อยแถลงของ เนียร์มาลา สิฐรามัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินเดีย ซึ่งกล่าวในการประชุมของสมาชิก G20 ว่า อินเดียกำลังหารือกับสมาชิกกลุ่ม G20 ในการพัฒนากรอบมาตรฐานระดับโลก เพื่อใช้มาตรการควบคุมดูแลคริปโตเคอร์เรนซีบนหลักการเดียวกัน เธอมองว่าการกำกับดูแลคริปโตเคอร์เรนซี เป็นเรื่องที่ประเทศใดประเทศหนึ่งทำเองฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ทุกประเทศต้องมาหารือร่วมกันว่าจะวางแนวปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานที่ทุกชาตินำไปปรับใช้และสร้างกรอบควบคุมดูแลได้อย่างไร
ในถ้อยแถลงของรัฐมนตรีคลังอินเดีย สอดคล้องกับนโยบายของ กองทุนระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งได้ออกมาตอกย้ำถึงการพัฒนากรอบมาตรฐานระดับโลก สำหรับการควบคุมคริปโตเคอร์เรนซีว่า เราจำเป็นต้องสร้างกฎระเบียบในการควบคุมและครอบคลุม ตลอดจนการกำกับดูแลคริปโตฯ ให้มีความแข็งแกร่งและเป็นบรรทัดฐานเดียวกันทั่วโลก
สำหรับเมืองไทย ในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงพีคสุดๆ ของตลาดคริปโตเคอร์เรนซี คนไทยแห่เทรดคริปโตฯ กันคึกคัก ทั้งนักลงทุนหน้าเก่าที่มีประสบการณ์ลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ อยู่แล้ว และนักลงทุนหน้าใหม่ที่กระโดดเข้าสู่โลกการลงทุนเป็นครั้งแรก จนทำให้ “สินทรัพย์ดิจิทัล” กลายเป็นหนึ่งสินทรัพย์ยอดนิยม ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เดือน พ.ค. 2565 พบว่าคนไทยเปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกับแพลตฟอร์มที่ได้รับไลเซนส์จาก ก.ล.ต. รวมกว่า 3 ล้านบัญชี มากเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนบัญชีที่ซื้อขายในตลาดหุ้นที่มีจำนวน 5 ล้านบัญชี ทั้งที่ตลาดคริปโตฯ เมืองไทยเกิดมาแค่ 3 ปีกว่า ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเปิดดำเนินการมานานกว่า 47 ปี มีการเทรดคริปโตฯ อย่างสม่ำเสมอประมาณ 5 แสนบัญชี มูลค่าการซื้อขาย 1.06 แสนล้านบาทต่อเดือน ยังไม่นับรวมจำนวนนักลงทุนที่เข้าไปเทรดกับแพลตฟอร์มต่างชาติซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. อีกจำนวนไม่น้อย
การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี กลายเป็นความท้าทายของสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เหมือนกฎเกณฑ์เดิม หากวางกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่ดีก็จะสามารถก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน รองรับเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการลงทุน เพราะคริปโตเคอร์เรนซี ถูกสร้างขึ้นมาให้เหมือนเป็นเงินสกุลหนึ่ง (Currency Token) สามารถใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้จริงๆ ด้วยมาร์เก็ตแคปของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกในปัจจุบันที่มีมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 61 ล้านล้านบาท สูงกว่ามูลค่าของเศรษฐกิจไทยเกือบ 4 เท่า หากได้รับการพัฒนา ส่งเสริม อย่างถูกทิศ ถูกทาง สินทรัพย์ดิจิทัลน่าจะกลายเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ ช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตได้อย่างน่าจับตามอง
การประกาศเปิดตัวหลักสูตรเรียนรู้ออนไลน์ e-learning “ก.ล.ต. Crypto Academy” แหล่งความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ประชาชนและผู้สนใจ ได้รู้ลึก ลดเสี่ยง เรียนสนุก ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของ ก.ล.ต. ในการพัฒนานักลงทุนยุคใหม่ ในขณะเดียวกัน การควบคุมดูแลผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลก็ต้องการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. แบบไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง มีมาตรการเท่าเทียมกันทั้งผู้ประกอบการไทย และ exchange ต่างชาติ ไม่ใช่ออกกฎต่างๆ มาใช้บังคับอย่างไม่สมดุล เน้นแต่การกำกับและควบคุมอย่างเข้มงวด แต่ไม่เคยส่งเสริมและพัฒนา ทำให้เอกชนไทยผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายประกอบกิจการ แข่งขันได้อย่างยากลำบาก
ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ก.ล.ต.จะมีเลขาธิการคนใหม่ แทนเลขาธิการคนปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 30 เม.ย. ซึ่งผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลต่างคาดหวังมิติใหม่ในการสร้างสรรค์ตลาดคริปโตไทย ก้าวสู่ภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่อย่างสดใสสวยงาม
#สืบจากข่าว : รายงาน