วงปี่สก็อตในประเทศไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก มีแค่ 2 วงในประเทศไทย ได้แก่ ชมรมปี่สก๊อตของวชิราวุธวิทยาลัยเป็นชมรมแห่งแรกในประเทศไทย และยังมีวงปี่สก๊อตของดุริยางค์ตำรวจ เป็นที่มาที่ทำให้นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ มีแนวคิดที่จะสร้างวงปี่สก๊อตขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2563 ที่เรือนจำกลางระยองแห่งแรกสำเร็จ
มีโอกาสแสดงต่อหน้าพระพักตร์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จทรงเปิดห้องสมุดพร้อมปัญญา ที่เรือนจำกลางระยอง และขยายการฝึกสอนมายังเรือนจำกลางบางขวาง โดยมีอาจารย์จากชมรมปี่สก๊อตของโรงเรียนวชิราวุธมาเป็นผู้ฝึกสอนให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ
สำหรับเรือนจำกลางระยอง มียุทธวิธีการฝึกผู้ต้องขัง ด้วยการฝึกวงปี่สก๊อตและการแปรอักษร เพื่อปรับทัศนคติให้กับผู้ต้องขังที่มีพฤติกรรมยากต่อการควบคุม มีการแสดงประกอบท่า ตามจังหวะดนตรี หรือแฟนซีดริล ซึ่งนักดนตรีและนักแสดงทั้งหมด ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ต้องขังที่ต้องโทษคดีอุกฉกรรจ์ทั้งสิ้น แต่ได้รับการฝึกฝนอย่างเต็มที่ ทั้งระเบียบวินัย และเพิ่มความสามารถ จนกลายเป็นวงปี่สก๊อตที่มีการแสดงที่สวยงาม
สำหรับเรือนจำกลางบางขวาง ก็ได้มีการฝึกฝนให้ผู้ต้องขังที่มีโทษสูงจนเล่นเพลงได้หลากหลาย สามารถนำมาออกแสดงในงานสำคัญต่างๆ เช่น ในงานนิทรรศการผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์วงดนตรีปี่สก็อตก็ได้มีโอกาสออกมาแสดงความสามารถสู่สายตาประชาชน
ทั้งหมดนี้ถือเป็นกุศโลบายของนายอายุตม์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ในการใช้ดนตรีบำบัดฝึกผู้ต้องขังขั้นสูง เพื่อปรับพฤติกรรม ปรับลักษณะนิสัยให้มีทัศนคติให้ไปทางบวก ก่อนคืนสู่สังคม
โดยผู้ต้องขังเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ต้องขังที่เรือนจำอื่น ๆ ทั่วประเทศ ไม่สามารถควบคุมได้ จึงส่งมาเข้าโปรแกรมเรือนจำความมั่นคงสูง Maximum Security Prison ซึ่งจะใช้เวลาในการฝึกอย่างหนักประมาณ 6 เดือน ก็สามารถแสดงโชว์ภายในเรือนจำได้ผลสำเร็จของการฝึก
ผู้ต้องขังมีทัศนคติในทางที่ดีขึ้น เปลี่ยนมายเซ็ทใหม่ ทำงานร่วมกันคนอื่นได้ และพร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้ และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ