วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2024
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์คคบ. ลงดาบผู้ประกอบธุรกิจละเมิดสิทธิผู้บริโภค เรียกเงินคืนกว่าหนึ่งล้านบาท

Related Posts

คคบ. ลงดาบผู้ประกอบธุรกิจละเมิดสิทธิผู้บริโภค เรียกเงินคืนกว่าหนึ่งล้านบาท

วันที่ 27 ก.พ. ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ครั้งที่ 2/2566 ที่ประชุมได้มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1 เรื่อง (จ้างเหมาตกแต่งภายใน) และดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 9 เรื่อง ประกอบด้วย สมัครเข้าร่วมโครงการ Work and travel Summer 2022, ซื้อคอร์สบริการเสริมความงาม, ซื้อบัตร Gift Card พร้อมสมัครสมาชิก, ซื้อคอร์สต่อยมวย, ว่าจ้างพนักงานดูแลผู้ป่วย, ทำสัญญาจองซื้อรถยนต์, สั่งซื้อผ้าม่านพร้อมติดตั้ง, นำรถยนต์เข้าซ่อมแต่ไม่เสร็จ, ซื้อแพ็กเกจทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ

รายละเอียด ดังนี้
ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1 เรื่อง

1.กรณีผู้บริโภคได้ว่าจ้างเหมางานตกแต่งภายใน กับบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคา 1,060,000 บาท โดยชำระเงินมัดจำ จำนวน 100,000 บาท และเงินค่างวดงาน จำนวน 960,000 บาท รวมเป็นเงินที่ชำระไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 1,060,000 บาท ตามสัญญาว่าจ้าง ต่อมาปรากฏว่าผู้รับจ้างทิ้งงานและปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทพร้อมด้วยกรรมการบริษัทฯ ได้กระทำให้เกิดความเสียหายกับผู้บริโภคอีกจำนวนหลายราย เป็นการกระทำที่เจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนเงิน 1,060,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายและรับค่าเสียหายเชิงลงโทษด้วย

ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการ รวมจำนวน 9 เรื่อง

1.กรณีผู้บริโภคจำนวนหนึ่งแจ้งว่า ได้สมัครเข้าร่วมโครงการ Work and travel Summer 2022 ประเทศสหรัฐอเมริกากับบริษัทแห่งหนึ่ง และได้ชำระเงินให้แล้ว ปรากฏว่าบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามสัญญา คือ ไม่บันทึกรายชื่อของผู้บริโภคในกลุ่มที่ได้งานแล้ว มีการดำเนินการขอเอกสารหรือแก้ไขเอกสารล่าช้า ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ทันตามกำหนดเวลาที่นายจ้างประเทศสหรัฐอเมริกาได้แจ้งไว้  และไม่สามารถติดต่อบริษัทฯ ได้ จึงมีความประสงค์ยกเลิกสัญญาและขอคืนเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมดคืน มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนหรือชดใช้เงินให้แก่พวกผู้บริโภค จำนวน 38 ราย พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อสั่งให้บริษัทดังกล่าว รวมถึงผู้มีอำนาจลงนามจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร

2.กรณีผู้บริโภคได้ซื้อคอร์สบริการเสริมความงามกับบริษัทแห่งหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์ใช้บริการที่สาขายูเนี่ยนมอลล์ ในราคา 193,000 บาท ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2563 บริษัทฯ ได้ปิดกิจการสาขาดังกล่าว และผู้บริโภคไม่มีความประสงค์ที่จะใช้บริการที่สาขาอื่น จึงขอยกเลิกสัญญาและขอให้คืนเงินในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้บริการ  ต่อมาบริษัทฯ ได้ชี้แจงว่ามีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาเช่าพื้นที่ประกอบธุรกิจระหว่างบริษัทฯ และผู้ให้เช่า ทำให้ไม่สามารถใช้พื้นที่เช่าดังกล่าวเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยผู้บริโภคได้ทำการกรอกแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์ขอคืนเงินตามเงื่อนไขวิธีปฏิบัติ  แต่ปัจจุบันบริษัทฯ ยังไม่ได้คืนเงินให้แต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่าบริษัทฯ เป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 143,921 บาทพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

3.กรณีผู้บริโภคได้ซื้อบัตร Gift Card เพื่อสมัครสมาชิกและรับแก้วสมนาคุณ รวมถึงเติมเงินเพื่อเปิดใช้งานบัตร รวมเป็นเงินจำนวน 3,150 บาท จากร้านน้ำชงของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้บริโภคได้ใช้เงินในบัตรไปแล้วจำนวน 2 ครั้ง คงเหลือเงินในบัตรจำนวน 2,870 บาท ต่อมาปรากฏว่าบัตรหมดอายุและบริษัทฯ ไม่มีนโยบายในการคืนเงินในบัตรแต่อย่างใด จึงมีความประสงค์ให้บริษัทฯ คืนเงินในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้บริการ จากการพิจารณาเห็นว่า สัญญาดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขไว้หลังบัตร “บัตรนี้มีอายุการใช้งาน 1 ปี นับจาก
การเติมเงินครั้งล่าสุด”
แต่ไม่ระบุว่า เมื่อบัตรดังกล่าวหมดอายุ บริษัทฯ จะมีสิทธิดำเนินการใด ๆ หรือริบเงินในบัตรอันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้บริโภค จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่บริษัทฯ นำส่งพบข้อมูลว่า “Date : 03/4/2022 Trans type : Expire แต่ไม่ได้มีข้อตกลงหรือข้อสัญญาประการใดที่ระบุให้สิทธิแก่บริษัทฯ กรณีที่บัตรดังกล่าวหมดอายุ บริษัทฯ จะมีสิทธิดำเนินการใด ๆ หรือริบเงินในบัตร  เมื่อบริษัทฯ อ้างเหตุดังกล่าว เพื่อยืนยันว่าบัตรหมดอายุและริบเงินในบัตรจึงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค  มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้คืนเงินให้แก่ผู้บริโภค จำนวน 2,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

4.กรณีผู้บริโภคได้ซื้อคอร์สต่อยมวยกับบริษัทแห่งหนึ่งในราคา 36,000 บาท ใช้บริการได้ 77 ครั้ง แต่ผู้บริโภคใช้บริการไปแล้ว 10 ครั้ง ต่อมาบริษัทฯ ปิดกิจการสาขาเดอะมอลล์ บางกะปิ จึงมีความประสงค์ขอคืนเงินในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้บริการจำนวน 31,325 บาท การที่บริษัทฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค  มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินให้แก่ผู้บริโภค จำนวน 31,325 บาทพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

5.กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาว่าจ้างพนักงานดูแลผู้ป่วยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง โดยชำระเงินเข้าบัญชีธนาคาร 20,000 บาท เพื่อเป็นค่ามัดจำล่วงหน้า 17,000 บาท และค่าบริการ 3,000 บาท ซึ่งพนักงานคนแรกได้ปฏิบัติงานเพียงวันเดียวแล้วขอลาออก  ห้างหุ้นส่วนฯ จึงจัดส่งพนักงานคนที่ 2 และอ้างว่ามีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วย 5 ปี มาทำแทน แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ผู้บริโภคแจ้งให้จัดส่งพนักงานคนใหม่มาปฏิบัติงาน แต่ถูกเพิกเฉย จึงมีความประสงค์ขอยกเลิกสัญญาฯ และขอเงินคืน และขอความเป็นธรรม อีกทั้งปรากฏว่ามีผู้บริโภครายอื่นได้ร้องเรียนห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว ไว้ต่อ สคบ. ในลักษณะเช่นเดียวกัน จึงเป็นพฤติการณ์ที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจ เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค  มติที่ประชุมดำเนินคดีแพ่งแก่หุ้นส่วนจำกัดและหุ้นส่วนผู้จัดการ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายและเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อสั่งให้บริษัทดังกล่าว รวมถึงผู้มีอำนาจลงนามจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร

6.กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจองซื้อรถยนต์ ยี่ห้อ HONDA รุ่น HR-V กับบริษัทแห่งหนึ่งในราคา 1,084,000 บาท ชำระเงินมัดจำ จำนวน 10,000 บาท โดยสัญญาจองระบุระยะเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ภายในเดือนมกราคม 2565 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2565 บริษัทฯ แจ้งเลื่อนวันส่งมอบรถยนต์เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยไม่กำหนดวันส่งมอบที่ชัดเจน ผู้บริโภคจึงขอยกเลิกสัญญาจองและขอเงินมัดจำคืน แต่ได้รับการปฏิเสธ และการที่บริษัทฯ ไม่คืนเงินจองรถยนต์ให้จึงเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

7.กรณีผู้บริโภคได้สั่งซื้อผ้าม่านพร้อมติดตั้งกับร้านแห่งหนึ่ง จำนวน 2 ชุด โดยชำระเงินมัดจำด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีร้าน รวมทั้งสิ้น 18,700 บาท แต่ร้านไม่ดำเนินการติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่ตกลงกัน จึงมีความประสงค์ขอเงินมัดจำผ้าม่านคืน แต่ไม่สามารถติดต่อร้านได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาและละเมิดสิทธิผู้บริโภค มีเจตนาเอาเปรียบ  ไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายโดยไม่นำพาต่อความเสียหาย มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ร้านติดตั้งผ้าม่าน เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน 18,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย  และเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อสั่งให้บริษัทดังกล่าว รวมถึงผู้มีอำนาจลงนามจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร

8.กรณีผู้บริโภคได้นำรถยนต์เข้าซ่อมที่อู่ซ่อมรถยนต์แห่งหนึ่ง ตกลงค่าซ่อม จำนวน 45,000 บาท ชำระราคาล่วงหน้า จำนวน 30,000 บาท  กำหนดดำเนินการซ่อม 10 วัน ต่อมารถยนต์ซ่อมไม่แล้วเสร็จและไม่สามารถติดต่ออู่ซ่อมรถยนต์ได้ ผู้บริโภคจึงบอกเลิกสัญญาและนำรถยนต์ไปซ่อมที่อู่แห่งอื่น จากการพิจารณาแล้วเห็นว่า คู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันได้  โดยอู่ซ่อมรถยนต์ตกลงคืนเงินให้กับผู้บริโภค จำนวน 91,000 บาท ผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ทั้งหมด 5 เดือน ต่อมาอู่ฯ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จึงเป็นการกระทำผิดสัญญาอันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคมติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่อู่ซ่อมรถยนต์ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน 91,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย  

9.กรณีผู้บริโภคได้ซื้อแพ็กเกจทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ ผ่านแอปพลิเคชันไลน์กับบริษัทแห่งหนึ่ง จำนวน 3 ครั้ง ในราคา 999 บาท ซึ่งบริษัทฯ ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศเพียงครั้งที่ 1 และไม่สามารถติดต่อได้ และผู้บริโภคได้รับข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์แจ้งปฏิเสธการให้บริการและแจ้งว่าจะโอนเงินคืนให้ภายใน 1 เดือน นับจากวันที่ส่งเลขบัญชี  แต่ปัจจุบันบริษัทฯ ยังไม่คืนเงินให้และไม่สามารถติดต่อได้ จึงขอความเป็นธรรม จากการกระทำของบริษัทฯ จึงเป็นการผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภคอันเป็นพฤติการณ์ที่มีเจตนาเอาเปรียบหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน 666 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย  และเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อสั่งให้บริษัทดังกล่าว รวมถึงผู้มีอำนาจลงนามจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร
 
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 2/2566 ได้มีการดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค รวมจำนวน 10 ราย โดยบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,378,482 บาท (หนึ่งล้านสามแสนเจ็ดหมื่นแปดพันสี่ร้อยแปดสิบสองบาทถ้วน) พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย รวมถึงผู้มีอำนาจลงนามจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น จากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร และชดใช้เงินให้แก่ผู้บริโภค จำนวน 38 ราย ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ Work and travel Summer 2022 ประเทศสหรัฐอเมริกา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts