วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์กสม. หารือ ยธ. ปรับปรุงกฎกระทรวงกรณีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างยังไม่มีคำตัดสิน ตามรัฐธรรมนูญ-หลักสากล ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ชี้ต้องควบคุมให้เหมาะกับประเภทของคดี

Related Posts

กสม. หารือ ยธ. ปรับปรุงกฎกระทรวงกรณีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างยังไม่มีคำตัดสิน ตามรัฐธรรมนูญ-หลักสากล ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ชี้ต้องควบคุมให้เหมาะกับประเภทของคดี

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ร่วมหารือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย กสม. เพื่อหารือถึงการร่างกฎกระทรวงเพิ่มหลักการเกี่ยวกับผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยมี นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายวิทยา สุริยะวงค์ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และนางสาวจุฑารัตน์ จินตกานนท์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เข้าร่วมการหารือ

โดยที่ประชุมได้หารือถึงเรื่องสิทธิผู้ถูกกักขังระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ได้กำหนดหลักสันนิษฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) ไว้ว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้ การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทําได้เท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี โดยคำขอประกันตัวต้องได้รับการพิจารณา หลักประกันต้องไม่มากเกิน และการไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามกฎหมาย

กสม. จึงมีข้อเสนอให้มีการทบทวนกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 89/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มากยิ่งขึ้น โดยเสนอให้มีการกำหนดสถานที่ควบคุมตัว คุมขัง ตามที่ศาลเห็นสมควร ในระหว่างการพิจารณาคดี กำหนดพื้นที่ควบคุมให้เหมาะสมตามลักษณะของผู้ต้องขังและประเภทของคดี และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการโดยมีตัวแทนจากทุกฝ่ายเพื่อพิจารณาจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับบริบทของสังคม โดยกระทรวงยุติธรรมขอรับความเห็นดังกล่าวเพื่อไปพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงตามขั้นตอนที่กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts