วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินผ่า! ความโปร่งใส “คริปโตเคอร์เรนซี”  “กับ” เลขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่

Related Posts

ผ่า! ความโปร่งใส “คริปโตเคอร์เรนซี”  “กับ” เลขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่

“…ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ก.ล.ต. จะมีเลขาธิการคนใหม่ ที่นักลงทุนจะมั่นใจได้ว่ามีทักษะ  IQ และ EQ สูง เพื่อช่วยเหลือนักลงทุนทั้งในแง่ การป้องปราม และการพัฒนาอย่างมีความรู้ความเข้าใจ ในฐานะผู้คุมกฎแห่งโลกอนาคต เมื่อมาอยู่ตลาดทุน ตลาดคริปโตฯ ความรู้ของเลขาฯ ก.ล.ต. ต้องแม่นยำ   สามารถอ่านความเชื่อมโยงของตลาดทุนกับภาคการเงินของระบบเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ได้ เข้าใจในเทคโนโลยียุคใหม่ เพื่อสร้างตลาดเงิน ตลาดทุน ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างสง่างาม  เพราะ 4 ปีที่ผ่านมา ตลาดทุน-ตลาดคริปโตฯ ได้รับบทเรียนราคาแพงเกินจะบรรยาย ทั้ง FTX, Zipmex, หุ้น more แม้แต่การบอนไซเอกชน ใช้ความกลัวนำทาง มากกว่าคำนึงถึงนโยบายการพัฒนา จนไม่แยแสต่อความร่วมไม้ร่วมมือกัน   โดยใช้ทัศนะคติทางกฎหมาย ตีความกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ  ไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการข่มขู่พนักงาน ข่มขู่บอร์ด ข่มขู่ภาคเอกชน รวมถึงเข้าใจในเทคโนโลยียุคใหม่ เพื่อสร้างตลาดเงิน ตลาดทุน ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างสง่างาม…”

ว่ากันว่า บล็อกเชนถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายโดย ซาโตชิ นากาโมโตะ ในช่วงประมาณปี ค.ศ. 2008 บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังการคิดค้นบิตคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งต้องการกระจายอำนาจการเก็บข้อมูลผ่านการทำงานระบบบล็อก (Block) ที่ส่งต่อกันเป็นห่วงโซ่ (Chain) เพื่อให้มีความปลอดภัยไม่ต่างจากระบบการเงินของโลกโดยไม่ต้องมีตัวกลาง ความอัจฉริยะของบล็อกเชนได้ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเทคโนโลยีชาญฉลาด และความโดดเด่นของเทคโนโลยีนี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่ในวงการคริปโตเคอร์เรนซี หากยังสามารถพัฒนาให้ใช้ได้กับทุกวงการ รวมถึงตลาดเงินและตลาดทุน ให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้อย่างแท้จริง

ปัจจุบันตลาดคริปโตเคอร์เรนซี มีเหรียญคริปโตฯ อยู่ในลิสต์มากถึง 13,000 เหรียญ แต่บิตคอยน์ ยังเป็นเหรียญที่ครองตลาดสูงสุด บิตคอยน์ เป็นเงินสกุลหนึ่งซึ่งไม่ต่างจากเงินดอลลาร์ เงินปอนด์ เงินเยน เงินหยวน หรือ เงินบาท เพียงแต่ว่าอยู่ในรูปของเงินดิจิทัล ไม่มีรูปร่างให้จับต้องได้เหมือนเงินทั่วไปที่เราคุ้นเคย แต่มีมูลค่าตามเหรียญ เช่น 1 บิตคอยน์เท่ากับ 100 บาท ซึ่งอาจจะเพิ่มเป็น 1 บิตคอยน์เท่ากับ 1,000 บาท หรือลดลง 1 บิตคอยน์เท่ากับ 10 บาทก็ได้ ตามสถานการณ์ความเชื่อมั่นของตลาด เป็นการคิดค้นขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกการใช้จ่ายรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัล

หากพิจารณามูลค่าของบิตคอยน์ที่เข้าเทรดตลาดวันแรก 0.04951 ดอลลาร์ ต่อ 1 BTC กับสถานการณ์ล่าสุด (3 มี.ค. 2566)  22,395 ดอลลาร์ ต่อ 1 BTC พุ่งขึ้นมากกว่า 2 หมื่นเท่าตัว มูลค่าบิตคอยน์เคยทะยานขึ้นไปสูงสุดเกือบ 7 หมื่นดอลลาร์ต่อบิตคอยน์ ขณะที่ในปัจจุบันเหรียญบิตคอยน์ซึ่งถูกขุดขึ้นมาใช้ในตลาดมีเพียง 19 ล้านเหรียญ ซึ่งปริมาณนี้จะยังเพิ่มขึ้นอย่างคงที่ไปอีกแค่ 2 ล้านเหรียญ ซึ่งจะใช้เวลาเกือบ 100 ปี จึงจะถูกขุดจนครบ 21 ล้านเหรียญในที่สุด ทำให้มูลค่าของบิตคอยน์พุ่งขึ้นตามซัพพลายที่มีปริมาณจำกัด

จะว่าไปแล้ว การเกิดขึ้นของเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี เป็นการคิดค้นเพื่อตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัลที่ธุรกรรมทั้งมวลต้องทำผ่านระบบออนไลน์ และหลายประเทศได้กำหนดให้เหรียญคริปโตฯ เป็นสกุลเงินถูกกฎหมาย จับจ่ายใช้สอยได้เหมือนสกุลเงินหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ขณะที่ในหลายประเทศพยายามออกเงินสกุลดิจิทัลของตนเอง เช่น หยวนดิจิทัล หรือการที่ธนาคารกลางทั่วโลกต่างเร่งศึกษาและพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของตนเอง (Central Bank Digital Currency: CBDC) เป็นเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ เช่น เมืองไทยก็กำลังทดลองทำเงินบาทดิจิทัล เพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีต้นทุนถูกลงและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งก็ไม่ต่างจากเงินคริปโตฯ รูปแบบอื่นๆ ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีกระจายศูนย์ (Distribution Ledger Technology: DLT) หรือบล็อกเชน ทำให้การใช้จ่ายในระดับรายย่อยเป็นไปด้วยความปลอดภัย

“บล็อกเชน” ทำให้การเกิดขึ้นของคริปโตเคอร์เรนซีเป็น “ระบบที่ตรวจสอบได้” เป็นเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยมากที่สุดอย่างหนึ่ง มีหลักการทำงานแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) ที่สำเนาของข้อมูลจะถูกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่าย และระบบจะมีการตรวจสอบให้ข้อมูลทุกเครื่องตรงกันอยู่เสมอ จึงยากต่อการปลอมแปลงข้อมูล สมมุติว่าจะมีการแฮกข้อมูลในเครือข่ายบล็อกเชน ผู้แฮกหรือผู้ไม่ประสงค์ดีต้องแฮกคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายให้ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้น บิทคอยน์ที่สร้างอยู่บนบล็อกเชนจึงถือเป็นธุรกรรมที่มีความปลอดภัยสูงมาก เรียกได้ว่าตั้งแต่เกิดบิตคอยน์ขึ้นมา ยังไม่มีใครสามารถปลอมแปลงข้อมูลในบล็อกเชนได้เลย

เพราะฉะนั้น หากมองในมุมความอัจฉริยะของเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางระบบบัญชีสาธารณะ ให้เกิดความปลอดภัยและโปร่งใสมากขึ้น ยกตัวอย่างการจ่ายเงิน 1 บิตคอยน์ จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ระบบจะทำการสร้างบล็อกขึ้นมาเพื่อบันทึกข้อมูลหลัก มีการเข้ารหัสสำหรับรายการนั้นๆ ด้วย Public-Private Key ซึ่งเปรียบเสมือนลายเซ็นดิจิทัล เพื่อป้องกันการปลอมแปลง ตัวลายเซ็นจะถูกสร้างขึ้นโดยใช้ทั้งข้อมูลค่าเฉพาะตัวของรายการ และรหัส Private Key ของเรา ทำให้ลายเซ็นไม่มีวันเหมือนกันเลยในแต่ละรายการ ดังนั้นโอกาสที่จะให้เดา Private Key เพื่อปลอมรายการจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย ระบบจะถอดรหัสเพื่อทำการตรวจสอบความถูกต้องด้วยการใช้ Public Key ซึ่งถ้าถูกต้องก็จะทำการดำเนินการต่อไปได้ และแน่นอนว่าหากมีการกระทำผิดกฎหมายในระบบ บล็อกเชนจะสามารถตรวจค้นเจอในที่สุด

ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ก.ล.ต. จะมีเลขาธิการคนใหม่ ทำหน้าที่แทนคนเก่าที่จะหมดวาระในวันที่ 30 เมษายน 2566 นำไปสู่การควานหาผู้เข้ารับตำแหน่งเลขาฯ ก.ล.ต.  คนต่อไป ที่นักลงทุนจะมั่นใจได้ว่ามีทักษะ  IQ และ EQ สูง เพื่อช่วยเหลือนักลงทุนทั้งในแง่ “การป้องปราม และการพัฒนาอย่างมีความรู้ความเข้าใจ” ดังการสื่อสารที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. เคยให้สัมภาษณ์ไว้ บ่งชี้ว่า ต้องการให้ผู้สมัครเลขา ก.ล.ต. คนใหม่มีคุณสมบัติอย่างไร พร้อมทั้งสะท้อนปัญหาเก่าตลอดวาระ 4 ปีที่ผ่านมา เขาผู้นั้นต้องแบกรับความหวัง ในฐานะผู้คุมกฎแห่งโลกอนาคต …ส่วนประชาชนตั้งความหวังว่า   คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะช่วยเสาะแสวงหาบุคคลที่มากกว่าคุณสมบัติครบตามกระดาษ  จักต้องแสวงหาบุคคลที่มีวิสัยทัศน์-ทัศนคติของผู้นำในหลากหลายมิติ

กรณี 4 ปีที่ผ่านมา ตลาดทุน-ตลาดคริปโตฯ ได้รับบทเรียนราคาแพงเกินจะบรรยาย ทั้ง FTX, Zipmex, หุ้น more แม้แต่การบอนไซเอกชน ใช้ความกลัวนำทาง มากกว่าคำนึงถึงนโยบายการพัฒนา จนไม่แยแสต่อความร่วมไม้ร่วมมือ

เมื่อมาอยู่ตลาดทุน ตลาดคริปโตฯ ความรู้ของเลขาฯ ก.ล.ต. ต้องแม่นยำ   สามารถอ่านความเชื่อมโยงของตลาดทุนกับภาคการเงินของระบบเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ได้ และตระหนักรู้ว่า ก.ล.ต. มีงานครอบคลุมทั้งด้านกำกับและพัฒนา และเข้าใจบทบาทด้านพัฒนาของ ก.ล.ต. ว่า หมายถึงการสร้างกรอบกติกาที่ชัดเจน  forward looking เอื้ออำนวยต่อการสร้างผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบ  ไม่ใช่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแทนเอกชน

บอร์ด ก.ล.ต. อาจจะต้องสัมภาษณ์อย่างหนัก ถึงทัศนคติที่ดีในมุมการตีความกฎหมาย … เพื่อเฟ้นหา แง่มุมคิด ด้านความซื่อตรงและจริยธรรม ไม่เห็นแก่พวกพ้อง ไม่หาประโยชน์ให้แก่ตนเอง เป็นธรรม เท่าเทียมกัน   โดยใช้ทัศนะคติทางกฎหมาย ตีความกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ  ไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการข่มขู่พนักงาน ข่มขู่บอร์ด ข่มขู่ภาคเอกชน รวมถึงเข้าใจในเทคโนโลยียุคใหม่ เพื่อสร้างตลาดเงิน ตลาดทุน ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างสง่างาม

#สืบจากข่าว : รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts