วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
หน้าแรกภูมิภาคคลี่ปมร้อนประมูลโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ 6.5 พันล้าน! เมื่อ “วงษ์สยาม” เจอย้อนเกร็ด-ตามรอย “อีสต์วอเตอร์” กปน. “ปาดหน้าเซ็น” สัญญา ITA ก่อนศาลปกครองติดเบรก...

Related Posts

คลี่ปมร้อนประมูลโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ 6.5 พันล้าน! เมื่อ “วงษ์สยาม” เจอย้อนเกร็ด-ตามรอย “อีสต์วอเตอร์” กปน. “ปาดหน้าเซ็น” สัญญา ITA ก่อนศาลปกครองติดเบรก หวั่นยืดเยื้อเจริญรอยตาม รถไฟฟ้า สายสีส้ม

กำลังประเด็นสุดฮอต เป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์”

กับเรื่องที่ “บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด” ผู้รับสัมปทานโครงการบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลัก ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่ากว่า 25,000 ล้าน ของกรมธนารักษ์ ที่ออกมา “ฟ้อนเงี้ยว” จากการที่ต้อง “ชวด” โครงการจ้างก่อสร้างและขยายกำลังการผลิตน้ำโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 8 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน มูลค่ากว่า 6,526 ล้านบาทของการประปานครหลวง (กปน.)โดยบริษัทอ้างว่าถูก กปน.เขี่ยตกเวทีอย่างไม่เป็นธรรม ทั้ง ๆ ที่ เสนอราคาต่ำกว่าคู่แข่งคือ ITA Consortium โดยบริษัทเสนอราคา 6,150 ล้านบาท ขณะที่ ITA Consortium เสนอ 6,390 ล้านบาท แต่กลับถูกคณะกรรมการประกวดราคา และ กปน.ตีตกอ้างว่าข้อเสนอของวงษ์สยามไม่ผ่านการพิจารณา และขัดคุณสมบัติด้านเทคนิค

แม้บริษัทจะใช้สิทธิ์อุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กรมบัญชีกลาง โดยยืนยันว่า ตนเองมีคุณสมบัติครบถ้วน ถูกต้องตามเงื่อนไขในประกาศ TOR จนได้กลับมาขึ้นเวทีอีกหน แต่ กปน.และคณะกรรมการคัดเลือกก็ยังคงไม่ยอมพิจารณาข้อเสนอราคาของวงษ์สยามฯและไม่ยอมประกาศให้บริษัทเป็นผู้ชนะประมูลอยู่ดี

ล่าสุด! มีกระแสข่าวว่าศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อ 24 มีนาคม 66 ให้ กปน.ชะลอการเซ็นสัญญาโครงการโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ดังกล่าวออกไปก่อน ตามคำรองขอคุ้มครองชั่วคราวของบริษัทวงษ์สยาม จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่ก็มีรายงานจาก การประปานครหลวงว่า กปน.ได้ “ปาดหน้า” ดำเนินการลงนามในสัญญาโครงการจ้างเหมาก่อสร้างและขยายกำลังการผลิตน้ำ โรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์กับกลุ่ม ITA Consortium ไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่คำสั่งของศาลปกครองจะตกลงมาถึง กปน. ทำเอาคำสั่งศาลปกครองที่มีมายัง กปน. “เป็นหมัน” ไปโดยปริยาย

ยันไม่ได้ทิ้งทวน แต่ประมูลลากยาวมา 2 ปีแล้ว

การที่ กปน.เร่งรัดลงนามในสัญญาโครงการนี้ในช่วงที่ “นายกฯ “บิ๊กตู่” ยุบสภาฯไปแล้ว ขณะที่ถนนทุกสายกำลังย่างเข้าสู่โหมดเลือกตั้งทั่วไป จึงถูกมองว่าเป็น “มหกรรมทิ้งทวน” ก่อนเปลี่ยนผ่านอย่างช่วยไม่ได้

แต่เมื่อย้อนรอยไปพิจารณาเส้นทางการประมูลโครงการนี้ และรับฟังเหตุผลของ กปน.กับคณะกรรมการคัดเลือกที่ยืนยันในผลประกวดราคาและเหตุผลที่ต้องเขี่ยข้อเสนอของ “บริษัทวงสยามก่อสร้าง” พ้นวงโคจร ดังที่ นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ชี้แจงต่อสื่อล่าสุดว่า

แม้บริษัทวงษ์สยามก่อสร้างจะเสนอราคาต่ำกว่า แต่ กปน.และคณะกรรมการคัดเลือกจำเป็นต้องพิจารณาข้อเสนอที่ยังประโยชน์ต่อหน่วยงาน และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักมากกว่า “ของถูก โดยต้องคำนึงถึงเกณฑ์ราคา และพิจารณาเกณฑ์อื่นประกอบ ตามมาตรา65(2) มาตรฐานของสินค้าหรือบริการและมาตร65(6) ข้อเสนอด้านเทคนิคหรือข้อเสนออื่น“ ในกรณีที่กำหนดให้มีการยื่นข้อเสนอด้านเทคนิค

และเป็นไปตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ.2560 มาตรา 55(2) วรรคสองตามหนังสือจากกรมบัญชีกลางตอบกลับ ด่วนสุดที่ กค (กวจ) 0405/31807 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ที่มีใจความสำคัญว่า “หาก กปน. จะดำเนินการพิจารณาผลการประกวดราคาฯใหม่ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ได้แจ้งผลให้ กปน.ทราบหลังจากที่ กปน.ได้ประกาศผลการประกวดราคา เมื่อ 7 มีนาคม 65 ไปแล้ว นั้น

จากการตรวจสอบผลประมูลในครั้งแรกที่ กปน.ได้ประกาศออกไปแล้วก่อนหน้านั้น นอกจากตะพบว่า บริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในประกาศและเอกสารประกวดราคาฯมาตั้งแต่แรกแล้ว ยังพบด้วยว่า เครื่องมือและอุปกรณ์ที่บริษัทเสนอที่ถือเป็น “สาระสำคัญ” ยังไม่เป็นไปตามข้อกำหนดและคุณสมบัติเฉพาะตามประกาศ TOR กำหนดอีกด้วย!

ส่วนต้นตอที่ทำให้เกิดปัญหาในการประกวดราคานั้น เป็นผลมาจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับ “นิยาม” ของผลงานก่อสร้างระบบตกตะกอน และระบบกรองน้ำสำหรับระบบผลิตน้ำประปาขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่ง กปน. ยืนยันและนั่งยันว่า ต้องหมายถึง “กำลังการผลิตน้ำสุทธิ” ซึ่งเป็นไปตามหลักวิศวกรรมการประปา และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดทำโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น

ซึ่งในช่วงที่กปน.เปิดรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ผู้เข้าประมูลทุกรายต่างก็รับรู้นิยามความหมาย และจุด มุ่งหมายในข้อนี้ และไม่ได้มีเอกชนรายใดลุกขึ้นมาทักท้วงหรือตั้งข้อกังขาต่อนิยามผลงานโครงการที่ต้องนำมาแสดงประกอบการประมูลแต่อย่างใด รวมไปถึงบรรดาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องไม้ที่ต้องได้ตามมาตรฐานและข้อกำหนดว่าด้วยคุณสมบัติเฉพาะตามที่กำหนด

ยันโปร่งใส -องค์กรต้านโกงร่วมสังเกตการณ์

กับข้อกังขาและข้ออุทธรณ์ของบริษัทวงษ์สยามก่อสร้างที่มีมายังกปน.ก่อนหน้านั้น ผู้ว่ากปน.ยืนยันว่าเมื่อ 22 มีนาคม 66 ที่ผ่านมา กปน.ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์กลับไปยังบริษัท โดยยืนยันผลการประกวดที่เคยประกาศไปครั้งแรก (7 มีนาคม 2565) ซึ่งหลังจาก กปน.ได้ตรวจสอบเอกสารคุณสมบัติของบริษัทพบว่า หนังสือรับรองผลงานที่การประปาส่วนภูมิภาคออกให้ใหม่เมื่อ 14 ธันวาคม 64 มีข้อความเพิ่มเติมไม่ตรงกับสำเนาสัญญาและใบแจ้งปริมาณงานที่บริษัทแนบมาก่อนหน้า และเป็นประเด็นสาระสำคัญที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข TOR กำหนดคือ ขนาดกำลังผลิตน้ำไม่ถึง 1 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน (บริษัททำได้แค่ 96,000 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น)

แม้ต่อมา กปน.จะยอมรับหนังสือร้องอุทธรณ์ของบริษัทตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กรมบัญชีกลาง แจ้งผลอุทธรณ์มายัง กปน. แต่เมื่อ กปน.ต้องดำเนินการพิจารณาผลประกวดราคาก็จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องอื่น ๆ ประกอบด้วย โดยต้องพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ถูกต้องตามเงื่อนไขในประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ ที่กปน.กำหนดเป็นหลัก

ยิ่งในส่วนของคุณสมบัติด้านเทคนิคของอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ที่บริษัทนำเสนอที่อ้างว่าครบถ้วน ถูกต้องตามเงื่อนไขข้อกำหนด ตามประกาศประกวดราคา TOR นั้น
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เป็นการโต้แย้งเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาฯและเอกสารแนบท้าย ซึ่งเป็นรายการรายละเอียดด้านวิศกรรมที่กปน.เปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นไปก่อนหน้านี้ โดยที่บริษัทเองไม่ได้มีการวิจารณ์หรือโต้แย้งมาก่อน ดังนั้นบริษัทจึงใช้สิทธิ์อุทธรณ์ไม่ได้ และไม่มีเหตุผลอันเป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ตั้งแต่ต้น (ตามนัยมาตรา 114 ประกอบมาตรา 116 วรรสองแห่ง พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และเป็นไปตาม มาตรา115(4) ข้อ2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ตามกฎกระทรวงกำหนด

เหนือสิ่งอื่นใด ผู้ว่า กปน.ออกโรงย้ำว่า ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการนี้ กปน.ได้จัดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ในการดำเนินงานทุกขั้นตอน โดยเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โดยกรมบัญชีกลาง และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้แต่งตั้ง “คณะผู้สังเกตการณ์อิสระ” เข้าร่วมสังเกตการณ์การดำเนินงานทุกขั้นตอน ซึ่งที่ผ่านมาคณะผู้สังเกตการณ์ฯ มิได้มีประเด็นข้อกังวลใจใด ๆ ในขั้นตอนการดำเนินการ อันสื่อให้เห็นถึงการดำเนินโครงการนี้ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน

หวั่นเจริญรอยตามรถไฟฟ้า สายสีส้ม

แม้ผู้บริหารบริษัท วงษ์สยามก่อสร้างจะร้องแรกแหกกระเชอไปทั่วทุกสารทิศ แต่ฟากฝั่งฝ่ายบริหาร กปน.ยืนยันว่า คงไม่สามารถจะกลับทบทบทวนหรือยกเลิกสัญญาได้อีก เพราะเมื่อการประปานครหลวง (กปน.) ได้ดำเนินการเซ็นสัญญากับบริษัทเอกชนผู้ชนะประมูลไปแล้ว ก่อนที่คำสั่งศาลปกครองจะตกมาถึงกปน.

ขั้นตอนหลังจากนี้ ก็คงเป็นเรื่องที่ ฝ่ายบริหาร กปน.จะต้องมีหนังสือชี้แจงกลับไปศาลปกครอง ถึงเหตุผลและความจำเป็นที่กปน.ต้องตัดสินใจเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป เพราะไม่อาจจะทอดยาว ปล่อยให้การประมูลยืดเยื้อจนส่งผลต่อศักยภาพและขีดความสามารถในการให้บริการจัดการน้ำ โดยเฉพาะในฝั่งกรุงเทพตะวันออก ที่กำลังขยายตัวอย่างมาก

หาไม่แล้ว โครงการนี้อาจจะ “ลงเอย” แบบ “โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม” ของ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” ที่ดำเนินการประมูลกันมาตั้งแต่ปีมะโว้ 2563 ผ่านมากว่า 3 ปีเข้าไปแล้ว ยังคงล้มลุกคลุกคลาน คาราคาซังไม่ไปไหนและจ่อจะต้องไปรอวัดดวงเอาว่ารัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง จะสั่งเดินหน้าหรือล้มประมูลกันใหม่กันรอบหรือไม่

“ไม่ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ “บริษัท อีสต์วอเตอร์ จำกัด(มหาชน)” “คู่ปรับเก่า” ของบริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง ที่ร้องแรกแหกกระเชอ กรณีกรมธนารักษ์ดำเนินการคัดเลือกบริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง ให้เป็นผู้ชนะประมูลในโครงการบริหารจัดการท่อส่งน้ำสายหลักในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) มูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท ทั้งที่ขั้นตอนการดำเนินโครงการดังกล่าว มีการรวบรัดจัดประมูลแบบเร่งรีบแทบจะม้วนเดียวจบ แถมมีการแก้ไข ยกเลิกการประมูลกันกลางอากาศ ด้วยข้ออ้างที่ไม่ต่างกันว่า เพราะ “นิยาม” ขีดความสามารถของระบบท่อส่งน้ำที่กำหนดไว้ใน TOR และข้อกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ไม่ชัดเจน ก่อนจะมุบมิบ ๆ ดำเนินการแก้ไขและจัดประมูลแบบ “ม้วนเดียวจบ” ในเวลาไม่ถึง 3 เดือนด้วยซ้ำ”

แม้โครงการดังกล่าวจะถูกสังคมตั้งข้อกังขาว่า มีการเร่งรัดจัดประมูลอย่างผิดสังเกต ทั้งยังเป็นการให้สัมปทานแบบ “ผิดฝั่ง-ผิดฝา” ส่อเป็นการดำเนินการที่ขัดพรบ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ปี 2562 หรือไม่? หน่วยงานที่ควรเป็นเจ้าของโครงการที่แท้จริง ควรเป็น “การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)” หรือ “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (สกพอ )” แทนที่จะเป็นกรมธนารักษ์ หรือไม่ อย่างไร? แต่เมื่อกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการเซ็นสัญญาให้สัมปทานโครงการไปแล้ว จึงเป็นอันจบเห่ ไม่อาจจะ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” กันได้อีก (ยกเว้นเกิดมีใครดอดส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้งานเข้าในอนาคต)

โครงการจ้างก่อสร้างและขยายกำลังผลิตน้ำ โรงงานน้ำมหาสวัสดิ์นี้ก็เช่นกัน เมื่อกปน.ได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกันไปแล้ว ก็ไม่สามารถจะหวลกลับไปยกเลิกสัญญาได้ ส่วนกรณีของบริษัทวงษ์สยามก่อสร้างที่ต้องชวดโครงการนี้ไป และยังคงมีความพยายามดิ้นรนสุดเฮือกอยู่นั้นก็คงปล่อยให้กระบวนการไต่สวนของศาลว่ากันต่อไป ส่วนจะทอดยาวปถึงไหนกว่าจะได้ข้อยุตินั้นต้องดูตัวอย่างกรณีการประมูลโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มของ รฟม.ในเวลานี้ก็แล้วกัน

เผลอๆ ตัวโครงการก่อสร้างฯแล้วเสร็จไปแล้วยังไม่รู้กระบวนการไต่สวนในชั้นศาลจะแล้วเสร็จหรือยัง?

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts