วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2024
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์กสม. ชี้ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ละเมิดสิทธิชุมชนและขาดการมีส่วนร่วมจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

Related Posts

กสม. ชี้ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ละเมิดสิทธิชุมชนและขาดการมีส่วนร่วมจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

กสม. ชี้ กรณีกลุ่มกิจกรรมนักศึกษารับน้องโดยการบังคับ ข่มขู่ เป็นการละเมิดสิทธิฯ มหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบด้วย แนะกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด – ชี้ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งของกรมชลประทาน ละเมิดสิทธิชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง – มีมติหยิบยกกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ขึ้นตรวจสอบ

วันที่ 30 มีนาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 13/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

2.กสม. ชี้ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ละเมิดสิทธิชุมชนและขาดการมีส่วนร่วมจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

นายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนเมษายน 2565 จากผู้ร้องสามราย ระบุว่า ตามที่กรมชลประทานมีแผนดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัยของลุ่มน้ำลำภาชี ในพื้นที่บ้านพุระกำ ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เคยถูกอพยพมาจากบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน โดยกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงได้ปรับตัวและอยู่อาศัยในพื้นที่จนมีความมั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้วนั้น แต่โครงการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องสูญเสียที่ทำกินและถูกโยกย้ายไปอยู่แปลงอพยพ อีกทั้งพื้นที่ดำเนินโครงการยังอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีและซ้อนทับกับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของลุ่มน้ำแก่งกระจานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก การดำเนินการจึงอาจกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า นอกจากนี้ การจัดกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่ทั่วถึง จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า กรณีนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาแยกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง การดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งของกรมชลประทาน มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องทั้งสามและกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ตั้งโครงการหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน และสิทธิของบุคคลและชุมชน และบัญญัติแนวนโยบายแห่งรัฐให้พึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิม ตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง สรุปได้ว่า รัฐจะต้องส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่สูง ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุน และยอมรับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่และการจัดการของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องเพิกถอนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบางส่วน จะส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านพุระกำต้องถูกอพยพละทิ้งที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งช่วงเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมานับแต่ถูกอพยพจากพื้นที่ทำกินเดิมบริเวณบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน มายังบริเวณบ้านพุระกำและบ้านหนองตาดั้ง กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงได้ตั้งถิ่นฐานปรับตัวเข้ากับพื้นที่ใหม่ จนกระทั่งมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวได้ตามฐานานุรูป กรณีจะต้องถูกอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นครั้งที่สอง ถือว่าส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนมากเกินสมควร อันไม่สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงด้วย ดังนั้น หากกรมชลประทานจะดำเนินการตามแผนโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง จึงย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชน และสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ประเด็นที่สอง การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อประกอบการขออนุญาตดำเนินโครงการฯ โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 58 บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาตั้ง ของกรมชลประทาน เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EIA ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554

จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า แม้ผู้ร้องทั้งสามและกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านพุระกำ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะแสดงความเห็นคัดค้านโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จังหวัดราชบุรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน ประกอบกับมีข้อเท็จจริงชัดว่าโครงการฯ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ร้องจนเกินสมควร และการโยกย้ายกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านพุระกำออกจากพื้นที่ก็เป็นการกระทำซ้ำต่อผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มเดิม อันส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชน และสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน แต่กรมชลประทานยังคงดำเนินการจัดทำรายงาน EIA เพื่อประกอบการขออนุญาตดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมิได้นำความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของผู้ร้องทั้งสามและกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงไปเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาดำเนินโครงการ จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้กรมชลประทานยกเลิกแผนการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง และให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติระงับการพิจารณาให้ความเห็นต่อรายงาน EIA โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบนี้

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยให้กรมชลประทานร่วมกับจังหวัดราชบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ศึกษาทางเลือกอื่นในการบริหารจัดการน้ำ ที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านพุระกำ โดยใช้กลไกคณะกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 รวมทั้งเสนอให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการให้พื้นที่บ้านพุระกำและบ้านหนองตาดั้งเป็นเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts