วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 13/2566

Related Posts

กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 13/2566

กสม. ชี้ กรณีกลุ่มกิจกรรมนักศึกษารับน้องโดยการบังคับ ข่มขู่ เป็นการละเมิดสิทธิฯ มหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบด้วย แนะกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด – ชี้ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งของกรมชลประทาน ละเมิดสิทธิชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง – มีมติหยิบยกกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ขึ้นตรวจสอบ

วันที่ 30 มีนาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 13/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  1. กสม. ชี้ กลุ่มกิจกรรมนักศึกษา ม.รามคำแหง รับน้องโดยการบังคับ ข่มขู่ เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะมหาวิทยาลัยกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ระบุว่า พรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยรามคำแหงพรรคหนึ่งได้จัดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ในหัวข้อ “น้องใหม่จิตอาสาเสริมสร้างสายสัมพันธ์” ระหว่างวันที่ 15 – 17 กรกฎาคม 2565 ในลักษณะที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การสั่งให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหมอบและกลิ้งตัวลงบนพื้นหญ้า การข่มขู่ว่าจะใช้ไม้ตีหากไม่ทำตามคำสั่งหรือทำด้วยความชักช้า เป็นต้น นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงในฐานะผู้ที่มีหน้าที่ในการควบคุม กำกับ และดูแล การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ได้ปล่อยปละละเลยให้เกิดการจัดกิจกรรมในลักษณะที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า กรณีนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาแยกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง การจัดกิจกรรมของพรรคการเมืองนักศึกษาพรรคดังกล่าวมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ให้การรับรอง คุ้มครอง และกำหนดหลักประกันในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองและคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยในร่างกายของบุคคล การกระทำใด ๆ ที่ส่งผลต่อร่างกายหรือจิตใจของบุคคล ซึ่งขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพหรือละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ย่อมไม่สามารถกระทำได้

จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในช่วงการจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรม ปรากฏภาพการกระทำของรุ่นพี่ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองดังกล่าว ใช้คำพูด น้ำเสียง หรือใช้ท่าทางในลักษณะของการข่มขู่หรือบีบบังคับให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของตนเองโดยไม่มีอำนาจอันชอบธรรมที่จะกระทำได้ ซึ่งไม่ใช่การปฏิบัติตามครรลองปกติที่บุคคลโดยทั่วไป ไม่ว่าอยู่ในสถานะใดจะพึงประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อกันของรุ่นพี่กับรุ่นน้องในสถาบันการศึกษาที่รุ่นพี่จะต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่รุ่นน้อง จึงคาดหมายได้ว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อสภาพจิตใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ก่อให้เกิดความหวาดกลัวหรือความทุกข์ทางจิตใจในระหว่างการทำกิจกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิในร่างกายของบุคคล ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองนักศึกษาดังกล่าวไม่ได้ระบุกิจกรรมละลายพฤติกรรมไว้ในกำหนดการอันเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการสมัครใจหรือยินยอมที่จะเข้าร่วมทำกิจกรรม จึงเห็นว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่สอง มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ปล่อยปละละเลยให้พรรคการเมืองนักศึกษาดังกล่าวจัดกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า มหาวิทยาลัยได้ออกประกาศกำหนดนโยบาย มาตรการและแนวปฏิบัติในการจัดทำโครงการกิจกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษา รวมถึงกำหนดให้อาจารย์ที่ปรึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและควบคุมการจัดกิจกรรมตั้งแต่ขั้นตอนการขออนุมัติไปจนถึงการทำกิจกรรมจนแล้วเสร็จ ตลอดจนมีการรณรงค์ให้นักศึกษาทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยอย่างสร้างสรรค์ และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายหลังจากที่ปรากฏภาพการจัดกิจกรรมของพรรคการเมืองนักศึกษาดังกล่าวซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปหรือผลการตรวจสอบหรือการลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบกับอาจารย์ที่ปรึกษาไม่ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมการจัดกิจกรรมดังกล่าว อย่างเข้มงวด จึงเห็นว่า มหาวิทยาลัยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับหน้าที่ความรับผิดชอบในส่วนที่จะเข้าไปควบคุมและกำกับดูแลการจัดกิจกรรมของกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด อันสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความตั้งใจอย่างแท้จริงของมหาวิทยาลัย ที่จะขจัดหรือป้องกันไม่ให้เกิดการจัดกิจกรรมของนักศึกษาที่มีลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น จึงเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังพรรคการเมืองนักศึกษาพรรคดังกล่าวให้เน้นย้ำและกำชับสมาชิกของตนว่าต้องเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน ไม่ทำกิจกรรมที่มีลักษณะการบังคับ ขู่เข็ญ หรือกระทำการใด ๆ ที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงทั้งต่อร่างกายและจิตใจผู้อื่น และต้องไม่บังคับหรือกดดันให้ผู้ใดเข้าร่วมกิจกรรมทุกประเภท รวมถึงต้องแจ้งหรือระบุขอบเขตของการทำกิจกรรมในกำหนดการโดยละเอียดเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทราบแต่แรกด้วย และให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเน้นย้ำไปยังกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ให้จัดกิจกรรมทุกประเภทโดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และต้องมีบทลงโทษทางวินัยอย่างจริงจังและเข้มงวดกับนักศึกษา รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมของกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับ รวมทั้งกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อร่างกายหรือจิตใจ รวมทั้ง ต้องให้ความสำคัญกับการเน้นย้ำอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับควบคุมการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มงวดและเคร่งครัดตั้งแต่ต้นจนจบกิจกรรม ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบนี้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts