เส้นทางการสรรหา “เลขาธิการ” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.)คนใหม่ ที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.ใช้อำนาจของประธานกสทช.ออกประกาศคัดเลือกด้วยตนเองแบบ“ม้วนเดียวจบ” ตั้งแต่ 20 มีนาคม- 7 เมษายน 66 ยังคงเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ
แม้จะมีเสียงทัดทานจากกรรมการ กสทช.ทั้ง 3 ราย คือ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ ศ.พิรงรอง รามสูต ที่ทำหนังสือทักท้วงและคัดค้านการดำเนินการดังกล่าวอย่างหนักหน่วง ด้วยเห็นว่า เป็นการดำเนินการที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ขัดต่อระเบียบและประกาศ กสทช.หลายฉบับ และระเบียบวาระการประชุมเท่าที่จะมีในสามโลก!
แต่เมื่อประธาน กสทช.ยังคงยืนยันว่า การคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. เป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของประธาน กสทช. ตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่กำหนดแนวทางในการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.เอาไว้ 2 ทางเลือกคือ ให้กรรมการทุกคนโหวต หรือให้ประธานเลือกสรรให้เหลือ 1 คนเพื่อให้กรรมการเห็นชอบ
เมื่อตัวเลขาธิการ กสทช.ต้องทำหน้าที่ดูแลสำนักงาน กสทช.เช่นเดียวกับประธานที่ต้องทำหน้าที่กำกับดูแลอีกชั้น ขณะที่กรรมการ กสทช.ที่เหลือไม่ได้มีหน้าที่ดูแลสำนักงานโดยตรง ดังนั้นจึงต้องได้คนที่รู้ใจที่สามารถจะทำงานเข้ากันได้ดี และยืนยันว่า ไม่ได้ ”ชงเอง-กินเอง” อย่างที่หลายฝ่ายโจมตี
จึงทำให้ถนนทุกสายต่างจับตาถึงโฉมหน้าของว่าที่เลขาธิการ กสทช.คนใหม่ที่ว่านี้กันอย่างไม่กระพริบ ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่า เริ่มเห็นเค้าลางของ “ว่าที่เลขาธิการ กสทช.คนใหม่” กันแล้ว ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น “ลูกหม้อ” คนใน กสทช.เองที่ถูกวางตัวจะให้เป็นเลขาธิ การ กสทช.มาตั้งแต่แรกแล้ว แม้ว่าก่อนหน้าว่าจะมีรายงานว่า ประธาน กสทช.มีการทาบทาม “บุคคลภายนอก” ถึง 3 รายให้เข้ามายื่นใบสมัครเป็นตัวเลือก แต่สุดท้ายชื่อของลูกหม้อ กสทช.รายนี้ ยังคงเป็นที่คาดหมายในวงในว่าคือ“ว่าที่เลขาธิการ กสทช.คนใหม่”ค่อนข้างจะแน่นอนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ฉับพลันที่มีการเปิดเผยชื่อของว่าที่เลขาธิการ กสทช.คนใหม่ออกมา แม้จะได้ชื่อว่าเป็นลูกหม้อ กสทช.โดยตรง แต่กระแสตอบรับจากทั้งผู้บริหารภายใน กสทช.และกระแสภายนอกต่างแสดงความผิดหวังกันอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเมื่อพลิกดูภูมิหลัง และประวัติการทำงานแล้วพบว่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานที่มุ่งสนองความต้องการของกลุ่มทุนการเมืองและกลุ่มทุนสื่อสาร(บางค่าย)อย่างออกหน้าออกตามากกว่าการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และผลประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภค
เห็นได้จากกรณีที่เจ้าตัวนั้นถึงขนาดถูกเครือข่ายองค์กรเพื่อผู้บริโภคร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ตั้งกรรการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งกรณีการนำเสนอเอกสารเพื่อเข้าสู่การประชุมบอร์ด กสทช.ที่เอื้อประโยชน์ให้เกิดการควบรวมกิจการเป็นหลัก โดยไม่ใส่ใจว่าเป็นการดำเนินการที่ขัดแย้งกับกฎหมายจัดตั้ง กสทช.โดยตรง
หรือกรณีการอนุมัติเงินซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 กว่า 600 ล้านบาทให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) แต่กลับยกสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกไปให้บริษัทเอกชนรายเดียวได้สิทธิ์ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ขัดหลักเกณฑ์และประกาศ กสทช.ว่าด้วยกฎเกณฑ์การแพร่ภาพ “มันต์แฮ็ฟ-มัสต์แคร์รี่” โดยตรง แต่ กสทช.กลับปล่อยให้เรื่องผ่านไปโดยไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามมา
“แม้จะได้ชื่อว่าเป็นลูกหม้อองค์กร กสทช.แต่เมื่อเส้นทางการเข้ามาเป็น กสทช.คนใหม่มีความไม่ชอบมาพากลตั้งแต่แรกเช่นนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้รับการยอมรับจากคนใน กสทช.ได้อย่างไร โดยเฉพาะในส่วนของการทำงานร่วมกับบอร์ด กสทช.คนอื่น ๆ ที่คงยากจะเดินหน้าไปด้วยกันได้ เผลอๆ หากประธานนำเสนอรายชื่อให้บอร์ด กสทช.เห็นชอบ เกิดบอร์ดกสทช.ส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยหรือลงมติไม่เอาด้วยจะเกิดอะไรขึ้น ประธาน กสทช.ยังจะเดินหน้าเห็นชอบแต่งตั้งต่อไปตามอำนาจที่ตนเองมีอยู่หรือไม่”
เป็นประเด็นที่คนใน กสทช.เองก็ยังต้องการคำตอบจากประธาน กสทช.???