วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินเลขาฯ ก.ล.ต. คนใหม่ต้องรู้งาน-เข้าใจปัญหา แก้วิกฤติ ZIPMEX - ต้านภัยตลาดทุน มีประสบการณ์ในแวดวงตลาดทุน-ตลาดคริปโตฯ

Related Posts

เลขาฯ ก.ล.ต. คนใหม่ต้องรู้งาน-เข้าใจปัญหา แก้วิกฤติ ZIPMEX – ต้านภัยตลาดทุน มีประสบการณ์ในแวดวงตลาดทุน-ตลาดคริปโตฯ

“…นางสาววรัชญา ศรีมาจันทร์ ในปัจจุบันนั้น ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรองเลขาธิการ ก.ล.ต. มีอาวุโสสูง เป็นลำดับถัดมารองจาก นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.คนปัจจุบัน ดูแลกำกับธุรกิจจัดการลงทุนและตัวกลาง กับสายกำกับตลาดและความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในขณะที่ นางพรอนงค์ บุษราตระกูล  อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีปัญหาให้พิจารณาในข้อกฏหมาย…”

การคัดเลือกเลขาธิการ ก.ล.ต. แทน น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล จับตาคุณสมบัติ-ความสามารถมากกว่ากระดาษ ฝากความหวังกระทรวงการคคลัง  จะต้องตระหนักรู้ ว่า ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานกำกับที่สำคัญระดับโลก เลขาฯ คนใหม่ต้อง ต้องยอมรับปัญหา-พัฒนาได้ดี นักลงทุน-บุคลากรภายใน ก.ล.ต. วาดหวัง การคัดสรร-พิจารณาหาจะผู้เหมาะสม เลขาฯ ก.ล.ต. คนใหม่ ต้องรู้งาน-เข้าใจปัญหา แก้ปัญหาความขัดแย้ง-สมองไหลในองค์กร วิกฤติ ZIPMEX – ต้านภัยตลาดทุน ลบภาพผลงานยอดแย่ตลอดปี 2565 ลงถังขยะ มีประสบการณ์ในแวดวงตลาดทุน-ตลาดคริปโตฯ

หลังจากปิดรับสมัครและเปิดให้แสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครแล้ว รายงานข่าวจากสำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยถึงผลการพิจารณาผู้ที่สมัครเข้ามาเป็น เลขาธิการ ก.ล.ต. คนที่ 13 ถัดไปจาก นางสาวรื่นวดี ที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 และกำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 30 เมษายน 2566 นี้ ปรากฏว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต.ที่มี นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ ได้มีมติคัดเลือกผู้เหมาะสมเหลือ 2 รายชื่อ

นางวรัชญา ศรีมาจันทร์

1.​นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต.ดูแลกำกับธุรกิจจัดการลงทุนและตัวกลาง กับสายกำกับตลาดและความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
โดยประวัติของ “นางสาววรัชญา ศรีมาจันทร์” ในปัจจุบันนั้น ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรองเลขาธิการ ก.ล.ต. ซึ่งที่มีอาวุโสสูง เป็นลำดับถัดมารองจาก นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.คนปัจจุบัน

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล


2.​ นางพรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน / ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการกำกับดูแลกิจการ อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่คุณสมบัติของผู้สมัครชิงตำแหน่ง เลขาธิการ ก.ล.ต. 1 คน ยังมีปัญหาให้พิจารณาในข้อกฏหมายนั่นคือ นางพรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน ว่าไม่เข้าข่ายคุณสมบัติตามประกาศในข้อ 3. ข้อมูลเพิ่มเติมของผู้สมัคร ซึ่งระบุว่า ในการยื่นแบบแสดงข้อมูลของผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ผู้สมัครแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลดังต่อไปนี้ด้วย

3.1 มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการองค์กรในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(ก) กรณีเป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารส่วนราชการ ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับรองของผู้บริหารสูงสุดของส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่ามาไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินหรือตลาดทุนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ

​(ข) กรณีเป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศ ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับรองของผู้บริหารสูงสุดหรือผู้บริหารระดับสูงที่รายงานตรงต่อผู้บริหารสูงสุดมาไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินหรือตลาดทุนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ

(ค) กรณีเป็นหรือเคยเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในองค์กรภาคเอกชน ต้องมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินหรือตลาดทุนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และดำรงตำแหน่งกรรมการหรือดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับรองของผู้บริหารสูงสุดหรือผู้บริหารระดับสูงที่รายงานตรงต่อผู้บริหารสูงสุดมาไม่น้อยกว่า 1 ปี ของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์จดทะเบียนหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินหรือตลาดทุน โดยองค์กรนั้นจะต้องมีขนาดสินทรัพย์ของตนเองมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทหรือมีขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหารหรือที่เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้ามากกว่า 1 แสนล้านบาท

คำว่า “ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินหรือตลาดทุน” หมายความว่า ประสบการณ์ปฏิบัติงานในตลาดเงินหรือตลาดทุน หรือดำเนินงานด้านนโยบายของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในตลาดเงินหรือตลาดทุน
คำว่า “ตลาดเงิน” หมายความว่า กิจการหนึ่งกิจการใดดังต่อไปนี้

(ก) ผู้ประกอบธุรกิจสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(ข) ผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต หรือ

(ค) ผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัย

คำว่า “ตลาดทุน” หมายความว่า กิจการหนึ่งกิจการใดดังต่อไปนี้

(ก) บริษัทที่ออกหลักทรัพย์จดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์หรือกองทุนรวม ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(ข) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

​(ค) ทรัสตีหรือบุคคลอื่นที่ได้รับมอบหมายให้จัดการกองทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

​(ง) ผู้สอบบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งปฏิบัติงานเป็นผู้สอบบัญชีของกิจการตาม (ก) (ข) หรือ (ค)

(จ) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและบริษัทในกลุ่ม หรือ

​(ฉ) สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือสมาคมอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตลาดทุน

ขณะที่ นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เป็นหัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน / ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการกำกับดูแลกิจการ อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดังนั้นจึงน่าจะขัดกับประกาศ เรื่อง การรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกเป็นบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ซึ่งผู้สมัครต้องระบุประสบการณ์ด้านบริหารจัดการองค์กรว่า มีอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ข้อหรือไม่

กรณี นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เป็นหัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน จึงน่าจะขาดคุณสมบัติ เพราะ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางพรอนงค์ บุษราตระกูล ดำรงตำแหน่งเป็นแค่หัวหน้าภาควิชา ไม่ใช่คุณสมบัติในข้อ (ก) ที่ระบุว่า “เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารส่วนราชการ ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับรองของผู้บริหารสูงสุดของส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่ามาไม่น้อยกว่า 1 ปี” เพราะในเชิงโครงสร้างการบริหาร ยังมีระดับคณบดี อธิการบดี อีก 2 ชั้น

ขณะที่การระบุคุณสมบัติว่า การเป็นกรรมการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็ไม่น่าจะใช่คุณสมบัติใน (ข) เนื่องจากไม่ใช่กรณี “เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศ ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับรองของผู้บริหารสูงสุดหรือผู้บริหารระดับสูงที่รายงานตรงต่อผู้บริหารสูงสุดมาไม่น้อยกว่า 1 ปี”

และไม่น่าจะมีคุณสมบัติตรงกับ ข้อ (ค)  ที่ระบุว่า เป็นหรือเคยเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในองค์กรภาคเอกชน ต้องมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินหรือตลาดทุนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และดำรงตำแหน่งกรรมการหรือดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับรองของผู้บริหารสูงสุดหรือผู้บริหารระดับสูงที่รายงานตรงต่อผู้บริหารสูงสุดมาไม่น้อยกว่า 1 ปี ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม  หลังจาก บอร์ด ก.ล.ต. เลือก 2 รายชื่อ ส่งให้รัฐมนตรีการคลังแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีการคลังที่จะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานกำกับที่สำคัญในโลกแห่งการลงทุน ก่อนที่ฟน่วยงานจะพัฒนาก้าวต่อไปข้างหน้า จะต้องยอมรับปัญหาที่หมักหมมในองค์กรมาตลอด 4 ปี จนเกิดภาวะสมองไหล คนเก่งจำนวนมากลาออก จนต้องไปขอยืมมือคนนอกมาจัดการอบรม รวมไปถึงปัญหาค้างท่อทั้งปัญหา Zipmex หุ้น More หรือ อื่นๆ นักลงทุน-บุคลากรภายใน ก.ล.ต. ต่างคาดหวัง ให้ผู้เหมาะสม ให้มีคุณสมบัติที่เหนือกว่าคนทั่วไป ดังต่อไปนี้

1. ต้องเฟ้นหาบุคคลที่รู้ลึกซึ้งปัญหาภายในองค์กร มองเห็น ยอมรับ และพร้อมแก้ไข อาจจะต้องรู้จักการตั้งทำความถามว่า ก.ล.ต. อ่อนแอลงด้วยเหตุผลอะไรหรือไม่ เหตุใดบุคลากรลาออกกว่า 1 ใน 3 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์กรที่จะพัฒนาไปข้างจะต้องแก้ไขความอลหม่านภายในให้ได้เสียก่อน

2. มีความสามารถ มากกว่าคุณสมบัติตามเกณฑ์ในกระดาษ มีศักยภาพของการทำงาน มีศิลปะในการบริหาร ซึ่งไม่ใช่ทุกคนพึงมี เลขาฯ ก.ล.ต. ในยุคต่อไป ควรจะมีทัศนคติที่ดีต่อความท้าทาย ยอมรับความเสี่ยงและโอกาส เลิกออกกฎทำหมัน ทำความเข้าใจเทคโนโลยี โดยเฉพาะในส่วนของคริปโตเคอเรนซี เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้

3. มีความพร้อมการการนำเสนอ และเป็นผู้ฟังที่ดี มีทักษะผู้ประสาน 10 ทิศ สามารถทำงานร่วมกับบอร์ดได้อย่างราบรื่น เปิดใจรับฟังข้อเสนอแนะของบอร์ด ไม่มองเป็นคู่ขัดแย้งเหมือนอย่างที่ผ่านมา “ประสานงาน ไม่ประสานงา” ร่วมกันกับทุกภาคส่วน สร้างพันธมิตร จูงใจให้เอกชนมีบทบาทในการร่วมสร้างมาตรฐานที่ดีในธุรกิจ ไม่มองเอกชนในแง่ลบเป็นที่ตั้งเพราะความกลัวอันเกิดจากความไม่รู้ของตนเอง

4.บอร์ด ก.ล.ต. ต้องสัมภาษณ์ ถึงทัศนคติที่ดีในมุมการตีความกฎหมาย… เพื่อเฟ้นหา แง่มุมคิดด้านความซื่อตรงและจริยธรรม ไม่เห็นแก่พวกพ้อง ไม่หาประโยชน์ให้แก่ตนเอง เป็นธรรม เท่าเทียมกัน โดยใช้ทัศนะคติทางกฎหมาย ตีความกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอัคติ ไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการข่มขู่พนักงาน ข่มขู่ภาคเอกชน

5. ไม่หนีปัญหา มีความรับผิดชอบ กล้าทำ กล้ารับ ไม่โบ้ยงานให้คนอื่น ไม่โทษลูกน้อง ไม่โทษฟ้าโทษฝน ไม่ลอยตัวหนีปัญหา ปล่อยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติรับผิด ส่วนตอนเองลอยตัว เสนอหน้ารับชอบแต่เพียงผู้เดียว

น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล

นอกจากนั้นรายงานจาก BBC ไทย ระบุถึง ความหวังใหม่ของ ก.ล.ต. หลัง รื่นวดี หมดวาระ คาดหมายว่าว่าที่เลขาฯ คนใหม่จะเข้ามาสะสาง ปัญหาที่ค้างเติ่ง ทุกประเด็น
ระบุว่าเว็บไซต์ ไทยพับลิก้า ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของ น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล ในฐานะนักลงทุนรายย่อย นักวิจัยด้านธุรกิจที่ยั่งยืน ถึงคณะกรรมการ ก.ล.ต. กรณีการสรรหาเลขาธิการ ก.ล.ต. ซึ่งรวมถึงประเด็นธรรมาภิบาล โดยส่วนหนึ่งได้ระบุถึงความขัดแย้งภายในองค์กรไว้ว่า

“ตลอดช่วงสี่ปีที่ผ่านมาสำนักงาน ก.ล.ต. ได้อ่อนแอลงมาก เพราะการบริหารงานหลายด้านไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาล ส่งผลให้พนักงานที่มีความรู้ความสามารถมากกว่า 200 คนต้องลาออก และมีอีกจำนวนมากที่แม้ไม่ลาออก แต่เลือกจะอยู่เฉย ๆ ไม่ทำงานเต็มความสามารถที่มี”

เรื่องดังกล่าวได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวในสำนักงาน ก.ล.ต. ว่า พวกเขาต้องเผชิญกับภาวะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” จึงได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่ออธิบายให้เห็นถึงสภาพการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร โดยส่งในนามพนักงานและอดีตพนักงานที่ยังมีหวัง

แหล่งข่าวรายดังกล่าวขอสงวนนามด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยบอกว่า ได้ส่งจดหมายถึงคณะกรรมการ ก.ล.ต. มาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งบีบีซีไทยได้เห็นเนื้อหาจดหมายฉบับที่ 2 ซึ่งลงวันที่ 27 มี.ค. 2566 ซึ่งเหลือเวลาราวหนึ่งเดือนก่อนที่ น.ส. รื่นวดี จะสิ้นวาระการรับผิดชอบ และกระบวนสุดท้ายของการคัดเลือก เลขาธิการ ก.ล.ต. สิ้นสุดลง

จดหมายฉบับดังกล่าวมีทั้งหมด 3 หน้า สาระสำคัญสำคัญเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของเลขาธิการ ก.ล.ต. ในด้านต่าง ๆ ซึ่งทำให้พนักงานรู้สึกขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน โดยวิงวอนให้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกเลขาธิการ และใช้ดุลยพินิจพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบ

นอกจากนั้นคงวามปั่นป่วนในวงการคริปโตฯ ต้องเร่งแก้ไข เยียวยา และเป็นที่พึ่งหวังของนักลงทุนรายย่อยผู้เสียหายอย่างเร่งด่วน เพราะลำพังค่าปรับของ ก.ล.ต. ใต้ชายคารื่นวดีนั้นเพียง 2 ล้านกว่า เทียบไม่ได้เลนยกับมูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท

BBC ไทยรายงานต่อไปว่า เมื่อเปรียบเทียบในแง่มูลค่าความเสียหายกับกรณี บิทคับ ผลกระทบต่อนักลงทุนไทยนับตั้งแต่ บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด แฟลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์สัญชาติไทย (Zipmex Thailand) ประกาศระงับการถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีชั่วคราวในวันที่ 20 ก.ค. 2565 ถือว่าสร้างความเสียหายค่อนข้างสูง

ประเด็นข้อกังขาในกรณี การโอนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าภายใต้การดูแลของบริษัทที่จดทะเบียนในไทยผ่านการฝากสินทรัพย์ดิจิทัลไว้กับผลิตภัณฑ์ ZipUp+ ของซิปเม็กซ์ ไปยังอีกบริษัทในสิงคโปร์เพื่อนำไปฝากต่ออีกทอดเพื่อลงทุน โดยเฉพาะ บริษัท บาเบล ไฟแนนซ์ (Babel Finance) ในฮ่องกง และ บริษัท เซลเซียส เน็ตเวิร์ก ในสหรัฐฯ แต่ปรากฏว่า บริษัททั้งสองประสบปัญหาสภาพคล่องในเวลาต่อมา

หลังจากนั้น บริษัทแม่ที่สิงคโปร์ได้ตัดสินใจได้ยื่นคำร้องต่อศาลสิงคโปร์ ขอหยุดพักชำระหนี้กิจการของ Zipmex ทั้งหมด โดยศาลสูงประเทศสิงคโปร์ได้อนุมัติขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 2 เม.ย. นี้ เพื่อหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ จึงยังคงทำให้ลูกค้าไม่สามารถถอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ค้างอยู่ใน Z Wallet ได้ จนถึงขณะนี้


ประเด็นคำถามที่เกิดขึ้นในขณะนั้น คือ ระยะเวลาแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อลูกค้าไม่สอดคล้องกับขั้นตอนการยื่นคำร้องของบริษัทแม่ในสิงคโปร์ กล่าวคือ บ. ซิปเมกซ์ เอเชียและบริษัทในเครือได้ยื่นขอพักชำระหนี้ในวันที่ 22 ก.ค. 2565 แต่กลับประกาศให้สาธารณะทราบในวันที่ 28 ก.ค. 2565 ซึ่งขั้นตอนดังกล่าว ก.ล.ต. กลับไม่รับรู้มาก่อน

ต่อมา ก.ล.ต. จึงได้สั่งปรับ นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ. ซิปเมกซ์ ตามมาตรา 94 พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล และสั่งปรับบริษัทฯ ตามมาตรา 30 พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ฐานระงับการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล-ระงับการให้บริการฝากถอนทรัพย์สินของลูกค้าใน Trade wallet-Zwallet โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล รวมเป็นเงินค่าปรับ 1.92 ล้านบาท

เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ. ซิปเมกซ์

ก่อนหน้านี้ ก.ล.ต. ยังสั่งปรับ ซิปเมกซ์ ฐานไม่เปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการนำทรัพย์สินลูกค้าไปลงทุนต่อ โดยได้มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 695,000 บาท รวมทั้งหมดเป็นเงินราว 2.6 ล้านบาท

น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล

น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน นักเขียน และนักแปล บอกบีบีซีไทยว่า ในแง่ธรรมาภิบาล เธอตั้งข้อสังเกต 2 ประการ ประกอบด้วย

ประการแรก – การดำเนินการของ ก.ล.ต. สองมาตรฐานหรือไม่กับกรณีอื่น ๆ โดยเฉพาะสัดส่วนของค่าปรับเมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ลงทุน ขณะที่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานข่าวว่า ก.ล.ต. ได้ตั้งเรื่องสอบสวนหรือดำเนินคดีกับซิปเม็กซ์ มีเพียงการเรียกไปชี้แจงเท่านั้น

ประการที่สอง – เธอมองว่า มาตรการลงโทษของ ก.ล.ต. ถือว่า เบาเกินไปหรือไม่ หรือเป็นผลจากความเกรงใจทีมผู้บริหารของบริษัท ซิปเม็กซ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและครอบครัว

ต้องฝากความหวังไว้ที่ท่านรัฐมนตรี คลัง….หวังว่าท่านจะเลือกว่าที่เลขา ก.ล.ต. คนใหม่ ที่เหมาะสม พร้อมยอมรับและแก้ไขปัญหาในองค์กร
แก้วิกฤติ ZIPMEX – ต้านภัยตลาดทุน

ลบภาพผลงานยอดแย่ตลอดปี 2565 ลงถังขยะ เพื่อพร้อมรับกับความท้าทายใหม่ ในยุคที่ใครๆ ก็หวังเป็นศูนย์กลางการลงทุนของอาเซียน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts