“…กลุ่มผู้เสียหาย Zipmex Thailand รวมตัวในกลุ่ม Line หยิบยกประเด็นเงินเยียวยาที่อาจได้รับคืนเพียง 10- 20% มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงชะตากรรมอันน่าอนาถใจ ส่วน V Ventures ก็ได้ความเป็นเจ้าของจากการลงทุนที่ไม่ต้องใช้ทรัพย์ไปละลายหนี้ทั้งก้อน เป็นสิ่งที่ผู้บริหาร V Ventures และ Zipmex ต้องออกมาให้ความกระจ่างกับสังคม ขณะที่ ก.ล.ต. ก็ถูกตั้งคำถามว่า ปล่อยเกียร์ว่างให้เรื่องบานปลายมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จะบอกว่าเลยอำนาจหน้าที่ ก.ล.ต. ก็คงอ้างได้ไม่เต็มปาก เพราะแท้จริงสามารถใช้มาตรการทางอ้อมอื่นๆ เพื่ออำนวยความปลอดภัยของนักลงทุนและทวงความเป็นธรรมให้ผู้เสียหายได้มากกว่านี้…”
จากกรณีบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (EXCHANGE) “Zipmex” ซึ่งมีบริษัทแม่ในสิงคโปร์ นำผลิตภัณฑ์ “Zipup+” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าไทยฝากสินทรัพย์ไว้ที่ Zipmex global สิงคโปร์ ไปลงทุนในแฟลตฟอร์มสินเชื่อคริปโตฯ ของ บาเบลล์ไฟแนนซ์ (Babel Finance) และ เซลเซียส (Celsius ) ซึ่งทั้งสองแห่งต่างประสบปัญหาจากการล่มสลายของเหรียญ LUNA จนทั้งสองบริษัทต้องประกาศระงับการถอนเงิน ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ใน Zip up+ โดยเฉพาะ บิทคอยน์(BTC), อีเธอเรียม (ETH), USDTและ USDC เป็นต้น ไม่สามารถทำธุรกรรมได้ ส่งผลให้ Zipmex ประเทศไทย ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 จนเกิดความเสียหายขึ้นราว 2,000 ล้านบาท จากผู้เสียหาย 3,800 ราย ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ในการทำหน้าที่ของธุรกิจศูนย์ซื้อขายฯ หากมีการรับฝากทรัพย์สินของลูกค้า มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจนว่า “บริษัทห้ามนำทรัพย์สินของลูกค้าไปหาดอกผล และต้องเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้อย่างปลอดภัย”
กลุ่มผู้เสียหายได้มีการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปทาง ก.ล.ต.ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2565 จากวันนั้นจนถึงบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าทางคดี เนื่องจากทาง ก.ล.ต.ไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัท Zipmex ในความผิดตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ในการนำสินทรัพย์ของนักลงทุนไปแสวงหาผลประโยชน์ในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับใบอนุญาต เมื่อผู้เสียผู้เสียหายเดินทางไปร้องเอาผิดทางอาญากับ Zipmex กลับได้รับคำตอบว่าบริษัทไม่มีความผิดในผลิตภัณฑ์ Zipup มีแค่เรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์ Zipup+ ทำให้ผู้เสียหายตกไปอยู่ในข้อตกลงของสัญญาไม่เป็นธรรม ทั้งที่ “ความเสียหายที่เกิดจากบริการ Zipup+ ก็สืบเนื่องมาจาก Zipup นั่นเอง”
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้เสียหายยังมีความหวังว่าจะได้รับเงินคืน เนื่องจากนักลงทุนรายใหญ่ของ Zipmex คือ V Ventures ของตระกูล “มหากิจศิริ” จะเติมเงินเข้ามา แต่จากรายงานข่าวเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา ระบุว่านักลงทุนที่จะให้เงินช่วยเหลือ Zipmex จำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการฟื้นฟูกิจการ หรือ กองทุน V Venture นั้น ต้องการเสนอให้ Zipmex จ่ายเงินเจ้าหนี้เพียง 10-20% ของจํานวนเงินที่พวกเขาเป็นหนี้ ตามมาตรการคุ้มครองเจ้าหนี้ของ Zipmex ซึ่งถ้าไม่ได้รับคำตอบตกลงตามข้อเสนอดังกล่าว เงินที่ค้างท่อของ V Ventures อาจจะตัดการอัดฉีดสภาพคล่องในทันที ทั้งที่ก่อนหน้านั้น Zipmex ให้คํามั่นว่าจะชําระคืนเต็มจํานวนตามจดหมายจาก Zipmex ถึงศาลสิงคโปร์ที่ดูแลการปรับโครงสร้างหนี้
ประเด็นดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้เสียหาย Zipmex Thailand รวมตัวในกลุ่ม Line หยิบยกประเด็นเงินเยียวยาที่อาจได้รับคืนเพียง 10- 20% มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงชะตากรรมอันน่าอนาถใจ โดยเฉพาะกรณีการกล่าวอ้างว่า สัญญาจองซื้อหุ้น (Share Subscription Agreement หรือ SSA) นั้นได้สิ้นสุดสัญญาลงแล้ว อีกทั้งข้อตกลงภายใน SSA นั้น “ยังไม่มีผลพันธะผูกพัน” ระหว่างกันอีกต่อไป ซึ่งสะท้อนนัยยะว่า กลุ่มทุน V Ventures เตรียมที่จะ “ขอเงินทุน” ในการดำเนินการ หรือ Working Capital ที่ได้มอบให้กับ Zipmex ก่อนหน้านี้กลับคืนไป ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องในการจ่ายเงินคืนให้แก้ผู้เสียหายโดยรวมแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งสะท้อนเป็นนัยว่า ผู้เสียหายอาจต้องยอมรับชะตากรรมได้รับการชดใช้หนี้เพียง 10-20%
กลุ่มผู้เสียหายยังตั้งข้อสงสัยถึงดีลดังกล่าวว่า เป็นการออกแบบแผนบริหารหนี้ภายใต้กฎหมายที่เปิดช่อง ล้วนเข้าทาง Zipmex และ V Ventures ทั้งสิ้น โดย Zipmex สามารถรอดพ้นจากวิกฤตกลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้ ส่วน V Ventures ก็ได้ความเป็นหุ้นส่วนที่ไม่ต้องแบกหนี้มากนัก แต่คนที่โชคร้ายคือผู้เสียหายหรือเจ้าหนี้คนไทยซึ่งต้องยอมขาดทุน 80-90%
ทั้งที่หากย้อนไปก่อนหน้านั้น ดีลระหว่าง 2 ค่าย ได้เริ่มขึ้นในช่วงเดือน ธ.ค. 2565 ที่มีข่าวว่า Zipmex จะได้เงินช่วยเหลือจากนักลงทุนกลุ่ม V Venture ราว 3,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะมีการจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้เต็มจำนวน แต่พอถึงปลายเดือน มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา กองทุนที่จะช่วยเหลือ Zipmex กลับผิดนัดชำระเงินช่วยเหลือ มูลค่า 1.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มีการลือสะพัดว่าแผนฟื้นฟูกิจการอาจจะล่ม และ Zipmex จะเข้าสู่การล้มละลาย จนกลายมาเป็นข่าวกองทุน V Venture พร้อมเข้ามาช่วยเหลือ แต่ต้องตัดหนี้ 80-90% ดังกล่าว ซึ่งหาก Zipmex ยอมตามข้อตกลง ก็จะมีเงิน 10-20% จ่ายคืนเจ้าหนี้ตามกำหนดเวลาของ Zipmex ที่ยื่นคุ้มครองเจ้าหนี้ต่อศาลสิงคโปร์ คือ ภายในวันที่ 23 เม.ย. 2566 (แต่อาจมีการขยายเวลาได้ราว 3 สัปดาห์ เพื่อให้ Zipmex มีเวลาหาเงินมาชำระหนี้ได้ตามนัด)
กลุ่มผู้เสียหาย Zipmex Thailand รวมตัวในกลุ่ม Line หยิบยกประเด็นเงินเยียวยาที่อาจได้รับคืนเพียง 10- 20% มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงชะตากรรมอันน่าอนาถใจ สะท้อนภาพผู้ได้ประโยชน์ คือ Zipmex จะหลุดจากวงจรหนี้สินพะรุงพะรัง ส่วน V Ventures ก็ได้ความเป็นเจ้าของจากการลงทุนที่ไม่ต้องใช้ทรัพย์ไปละลายหนี้ทั้งก้อน เป็นสิ่งที่ผู้บริหาร V Ventures และ Zipmex ต้องออกมาให้ความกระจ่างกับสังคม
ขณะที่ ก.ล.ต. ก็ถูกตั้งคำถามว่า ปล่อยเกียร์ว่างให้เรื่องบานปลายมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จะบอกว่าเลยอำนาจหน้าที่ ก.ล.ต. ก็คงอ้างได้ไม่เต็มปาก เพราะแท้จริงสามารถใช้มาตรการทางอ้อมอื่นๆ เพื่ออำนวยความปลอดภัยของนักลงทุนและทวงความเป็นธรรมให้ผู้เสียหายได้มากกว่านี้ จะบอกว่าเลขาฯ ก.ล.ต. ไม่เอาจริงเอาจังกับการควบคุมบริษัทคริปโตเคอร์เรนซีก็คงไม่ใช่ เพราะที่ผ่านมาเลขาฯ ก.ล.ต.ก็เฝ้าระวัง จัดการเอกชนรายอื่น เช่น กรณีเหรียญ KUB ซึ่งไม่สร้างความเสียหายใดๆ ให้นักลงทุน แต่กับถูกเชือดแล้วเชือดอีก ยกตัวอย่างเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 ก.ล.ต. ได้สั่งปรับคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลของ บิทคับ จำนวน 6 ราย ที่ได้พิจารณาคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB เข้าเทรดในกระดานที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข (Listing Rule ) ของ ก.ล.ต. และไม่ได้คำนึงถึงมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยครั้งนั้น ก.ล.ต. ได้สั่งปรับเป็นเงินรวม 15.2 ล้านบาท ทว่า บิทคับได้ออกหนังสือชี้แจงในวันถัดมา โดยยืนยันว่า “เหรียญ KUB ยังคงมีคุณสมบัติเพียงพอและเป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตามที่ได้เคยพิจารณาคัดเลือกไว้”
การปัดกวาดบ้านของ ก.ล.ต. ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ จึงเต็มไปด้วยข้อครหาความไม่น่าไว้วางใจในหมู่คนวงการคริปโตเคอร์เรนซี่ กลายเป็นคำถามดังๆ ไปยัง ก.ล.ต.ว่า ตรงนี้คือการเลือกปฏิบัติ..หรือเปล่า?
#สืบจากข่าว : รายงาน