“….ประเด็นหนึ่งซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าอาจเป็นปัญหาของผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้คือ การถูกคัดเลือกจากคนนอกเป็นหลัก แน่นอนว่าหลายคนที่ได้รับการเลือกสรรเข้ามาเป็นคนเก่ง แต่อาจจะเก่งในสายงานที่เคยบริหารงานนั้นๆ ก่อนจะมาทำหน้าที่เลขาฯ ก.ล.ต. เมื่อเข้ามาเจอตลาดเงิน ตลาดทุนที่มีแนวทางเฉพาะตัว เป็นศูนย์รวมของคนที่มีความเชี่ยวชาญทางการเงินหลากหลาย วัฒนธรรมองค์กรมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก็อาจจะคุยกันไม่รู้เรื่อง เมื่อคนที่เข้ามามองเห็นแค่ภาพแบบเบลอๆ การกำหนดวิสัยทัศน์จึงไม่ชัดเจน ใช้คนไม่ตรงกับงาน หรือได้รับคำแนะนำที่ไม่เหมาะสม กลายเป็นความผิดพลาดในภาพรวม ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะให้ “คนใน” ของ ก.ล.ต. เข้ามาช่วยกู้วิกฤต แก้ปัญหา เก็บกวาดกองซากปรักหักพัง แล้วก่อร่างสร้างระบบขึ้นมาให้สอดคล้องกับเป้าหมายแนวทางที่ควรจะเป็น…”
รายงานข่าวจากสำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยถึงผลการพิจารณาผู้ที่สมัครเข้ามาเป็น เลขาธิการ ก.ล.ต. คนที่ 13 ต่อจาก นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 และกำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 30 เมษายน 2566 นี้ หลังจากปิดรับสมัครและเปิดให้แสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครแล้ว ปรากฏว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต.ที่มี นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ ได้มีมติคัดเลือกผู้เหมาะสมเหลือ 2 รายชื่อ คือ
1.นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. ดูแลกำกับธุรกิจจัดการลงทุนและตัวกลาง กับสายกำกับตลาดและความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีอาวุโสสูงสุด รองจาก นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.คนปัจจุบัน
2.นางพรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน / ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการกำกับดูแลกิจการ อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับ นางสาวรื่นฤดี เลขาฯ ก.ล.ต.คนปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระ ก็ต้องถือว่าเป็นคนเก่ง มีความรู้ ความสามารถ จึงผ่านการพิจารณาของ บอร์ด ก.ล.ต. ให้เข้ามาดำรงตำแหน่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีปัญหามากมายที่แก้ไม่จบ ทั้งเรื่องตลาดทุน-ตลาดคริปโตฯ ที่ได้รับบทเรียนราคาแพง ทั้งปัญหา Zipmex, FTX, หุ้น more หรือแม้แต่การบริหารนโยบายที่เอกชนมองว่าใช้กฎหมายเป็นตัวนำ มากกว่าคำนึงถึงนโยบายที่จะประสานและพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่าง ก.ล.ต. กับเอกชน จนเกิดเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการคริปโตฯ ว่า ก.ล.ต.ออกกฎต่างๆ มาใช้บังคับอย่างไม่สมดุล เน้นแต่การกำกับและควบคุมอย่างเข้มงวด แต่ไม่เคยส่งเสริมและพัฒนา ทำให้เอกชนไทยผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายประกอบกิจการแข่งขันได้อย่างยากลำบาก
ประเด็นหนึ่งซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าอาจเป็นปัญหาของผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้คือ การถูกคัดเลือกจากคนนอกเป็นหลัก แน่นอนว่าหลายคนที่ได้รับการเลือกสรรเข้ามาเป็นคนเก่ง แต่อาจจะเก่งในสายงานที่เคยบริหารงานนั้นๆ ก่อนจะมาทำหน้าที่เลขาฯ ก.ล.ต. เมื่อเข้ามาเจอตลาดเงิน ตลาดทุนที่มีแนวทางเฉพาะตัว เป็นศูนย์รวมของคนที่มีความเชี่ยวชาญทางการเงิน หลากหลายวัฒนธรรมองค์กรมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก็อาจจะคุยกันไม่รู้เรื่อง เมื่อคนที่เข้ามามองเห็นแค่ภาพแบบเบลอๆ การกำหนดวิสัยทัศน์จึงไม่ชัดเจน ใช้คนไม่ตรงกับงาน หรือได้รับคำแนะนำที่ไม่เหมาะสม กลายเป็นความผิดพลาดในภาพรวม พนักงานเก่งๆ ที่ไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น หรือแสดงความคิดเห็นแต่ถูกคัดค้าน ก็หมดไฟในการทำงาน เพราะมองภาพคนละอย่าง พูดกันคนละภาษา จนเกิดปัญหาคนมีฝีมือจำนวนมากเลือกที่จะเดินออกจากองค์กรแห่งนี้ไปแสวงหาเส้นทางใหม่ที่สบายใจกว่า ดังที่แหล่งข่าวระดับสูงจากโบรกเกอร์รายหนึ่งกล่าวว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความขัดแย้งด้านการทำงานเกิดขึ้นภายในหน่วยงานของ ก.ล.ต. จนส่งผลกระทบให้ผู้บริหารระดับสูงและพนักงานลาออกจากสำนักงาน ก.ล.ต. ถึงประมาณมากกว่า 200 คน
นั่นคือสิ่งที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนและนักลงทุนมองว่า ในวันที่ 1 พ.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ ก.ล.ต. ควรสรรหาเลขาฯ คนใหม่ที่มาจาก “คนใน” แทนที่จะดึง “คนนอก” เข้ามา เพราะอาจจะขาดความรู้ความเข้าใจในงานด้านนี้ ขณะที่ตลาดเงิน ตลาดคริปโตฯ มีปัญหามากมายต้องเข้ามากอบกู้ ถ้าได้เลขาฯ ที่ไม่เข้าใจระบบ ไม่เข้าใจโครงสร้าง ก็อาจจะต้องเผชิญทั้งศึกนอก ศึกใน จะบริหารจัดการตลาดทุนให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร จึงอาจต้องถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะให้ “คนใน” ของ ก.ล.ต. เข้ามาช่วยกู้วิกฤต แก้ปัญหา เก็บกวาดกองซากปรักหักพัง แล้วก่อร่างสร้างระบบขึ้นมาให้สอดคล้องกับเป้าหมายแนวทางที่ควรจะเป็น
เมื่อ ก.ล.ต.ต้องการสร้างองค์กรที่มีความโปร่งใส เป็นอิสระจากการถูกแทรกแซงขององค์กรหรือบุคคลภายนอก ก็ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน การคัดสรรครั้งใหม่ บอร์ด ก.ล.ต. ได้ตัดสินใจเลือกมาแล้ว 2 รายชื่อ ขั้นตอนต่อไปจะต้องส่งต่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยหวังว่าท่านจะพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เนื่องจาก ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานกำกับที่สำคัญในโลกแห่งการเคลื่อนย้ายเงินทุน การจะพัฒนาได้ดี ต้องยอมรับปัญหาค้างท่อ นักลงทุน-บุคลากรภายใน ก.ล.ต. ต่างคาดหวังฝีไม้ลายมือบอร์ด ก.ล.ต. ว่า การคัดสรรพิจารณาจะหาผู้เหมาะสม ให้มีคุณสมบัติที่เหนือกว่าคนทั่วไป ดังต่อไปนี้
- ต้องเฟ้นหาบุคคลที่รู้ลึกซึ้งปัญหาภายในองค์กร มองเห็น ยอมรับ และพร้อมแก้ไข อาจจะต้องรู้จักการตั้งคำถามว่า ก.ล.ต. อ่อนแอลงด้วยเหตุผลอะไร เหตุใดบุคลากรลาออกกว่า 1 ใน 3 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
- มีความสามารถมากกว่าคุณสมบัติตามเกณฑ์ในกระดาษ มีศักยภาพการทำงาน มีศิลปะในการบริหาร มีทัศนคติที่ดีต่อความท้าทาย ยอมรับความเสี่ยงและโอกาส มีความเข้าใจเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศไทยแข่งกับประเทศอื่นๆ ได้
- มีความพร้อมในการนำเสนอ และเป็นผู้ฟังที่ดี มีทักษะผู้ประสาน 10 ทิศ สามารถทำงานร่วมกับบอร์ดได้อย่างราบรื่น จูงใจให้เอกชนมีบทบาทในการร่วมสร้างมาตรฐานที่ดีในธุรกิจ
- มีความซื่อตรงและจริยธรรม ไม่เห็นแก่พวกพ้อง ไม่หาประโยชน์ให้แก่ตนเอง
- ไม่หนีปัญหา มีความรับผิดชอบ กล้าทำ กล้ารับ ไม่โยนความผิดให้พนักงาน
อย่างไรก็ตาม มติบอร์ด ก.ล.ต. ได้มีการคัดเลือกผู้เหมาะสมเหลือ 2 รายชื่อ เพื่อส่งให้ รมว.คลัง คัดต่อเหลือ 1 ชื่อ ก่อนส่งให้ ครม. แต่งตั้งภายในเดือนนี้ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจขั้นสุดท้ายว่าคนไหนมีคุณสมบัติครบถ้วน เหมาะสมมากกว่ากัน แม้นักลงทุนอยากได้ (คนใน) แต่ถึงที่สุดทุกอย่างต้องพิจารณากันด้วยหลักการสรรหา ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติ ผลงาน ฝีมือ หรือ วิสัยทัศน์ แต่ไม่ว่าคนไหนจะเข้าวิน เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสังคมให้การยอมรับหรือไม่
#สืบจากข่าว : รายงาน