วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงิน“เผือกร้อน” เลขา ก.ล.ต. คนใหม่

Related Posts

“เผือกร้อน” เลขา ก.ล.ต. คนใหม่

“…ผู้เสียหาย/ผู้ร้องทุกข์ ได้เปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล กับ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ระหว่างปี 2564 ถึง 2565 จนถึงปัจจุบัน  ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลคลิปโตเคอเรนซี่ และโทเคนดิจิทัล จาก ก.ล.ต. ทำการประกาศเชิญชวนประชาชนให้ซื้อขายสินทรัพย์ดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นบริษัทระดับมาตรฐานสากลเชื่อถือได้ มีการขออนุญาตจากรัฐบาลทั้งจากประเทศสิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย แต่การไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ โดยการนำสินทรัพย์ของผู้เสียหายไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผิดต่อกฎหมายจนเกิดความเสียหาย เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงถึงการกระทำของบริษัทและกรรมการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจน  จึงแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายกับ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด และ กรรมการของบริษัทฯ ทุกคนจนถึงที่สุด รวมทั้งความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน สำหรับ ก.ล.ต.จะไปทวงถาม เลขาฯ ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) สัปดาห์หน้า…โดยมีความประสงค์ที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด และ กรรมการของบริษัทฯ ทุกคนจนถึงที่สุด รวมทั้งความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน…”

จากกรณี บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (EXCHANGE) “Zipmex” ซึ่งมีบริษัทแม่ในสิงคโปร์ นำผลิตภัณฑ์ “Zipup+” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าไทยฝากสินทรัพย์ไว้ที่ Zipmex global สิงคโปร์ ไปลงทุนในแฟลตฟอร์มสินเชื่อคริปโตฯ ของ บาเบลล์ไฟแนนซ์ (Babel Finance) และ เซลเซียส (Celsius ) ซึ่งทั้งสองแห่งต่างประสบปัญหาจากการล่มสลายของเหรียญ LUNA จนทั้งสองบริษัทต้องประกาศระงับการถอนเงิน ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ใน Zipup+ ไม่สามารถทำธุรกรรมได้ ส่งผลให้ Zipmex ประเทศไทย ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565  จนมีตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายเดินทางไปร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความยุติธรรมและเงินลงทุนคืน

แม้ล่าสุดกลุ่มผู้เสียหาย Zipmex Thailand ราว 3,800 รายยังมีความหวังว่าจะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน เนื่องจากนักลงทุนรายใหญ่ของ Zipmex คือ V Ventures จะเติมเงินเข้ามา แต่จากรายงานข่าวเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา ระบุว่านักลงทุนที่จะให้เงินช่วยเหลือ Zipmex จำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการฟื้นฟูกิจการ หรือ กองทุน V Venture นั้น ต้องการเสนอให้ Zipmex จ่ายเงินเจ้าหนี้เพียง 10-20% ของจํานวนเงินที่พวกเขาเป็นหนี้  ตามมาตรการคุ้มครองเจ้าหนี้ของ Zipmex ซึ่งถ้าไม่ได้รับคำตอบตกลงตามข้อเสนอดังกล่าว เงินที่ค้างท่อของ V Ventures อาจจะตัดการอัดฉีดสภาพคล่องในทันที ทั้งที่ก่อนหน้านั้น Zipmex ให้คํามั่นว่าจะชําระคืนเต็มจํานวนตามจดหมายจาก Zipmex ถึงศาลสิงคโปร์ที่ดูแลการปรับโครงสร้างหนี้

นอกจากนี้ยังมีกรณีการกล่าวอ้างว่า สัญญาจองซื้อหุ้น (Share Subscription Agreement หรือ SSA) นั้นได้สิ้นสุดสัญญาลงแล้ว อีกทั้งข้อตกลงภายใน SSA นั้น “ยังไม่มีผลพันธะผูกพัน” ระหว่างกันอีกต่อไป ซึ่งสะท้อนนัยว่า กลุ่มทุน V Ventures เตรียมที่จะ “ขอเงินทุน” ในการดำเนินการ หรือ Working Capital ที่ได้มอบให้กับ Zipmex ก่อนหน้านี้กลับคืนไป ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องในการจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้เสียหายโดยรวมแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งสะท้อนเป็นนัยว่า ผู้เสียหายอาจต้องยอมรับชะตากรรมได้รับการชดใช้หนี้เพียง 10-20%

นอกจากจะได้เงินคืนเพียง 10-20% แล้ว ผู้เสียหายยังไม่ได้รับคืนเงินทันกำหนดภายในสิ้นเดือนเมษายน เนื่องจากล่าสุดศาลสิงคโปร์เปิดโอกาสให้ขยายเวลาชำระหนี้ไปอีก 2 เดือน ทำให้ผู้เสียหายรวมตัวเขียนคำร้องเรียน โดยเรียบเรียงไทม์ไลน์ความเสียหายของตน ส่งอีเมล์ถึง ก.ล.ต. เพื่อเป็นหลักฐานบันทึกไว้ว่าได้รับความเดือดร้อน ขณะที่ผู้เสียหายบางส่วน นัดหมายรวมตัวเข้าแจ้งความ-ร้องเรียน กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ในวันพุธ (วันที่ 3 พ.ค. 2566)

โดยเมื่อวันที่ 3 พ.ค.66 กลุ่มผู้เสียหายจำนวนหลายสิบคน ก็ได้เดินทางเข้าพบร้องขอความเป็นธรรมกับ พ.ต.ท.พงศธร แก่นพุฒ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอศ. ถนนพหลโยธิน จตุจักร กทม. โดยได้แจ้งความดำเนินคดีกับ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด , นายเอกลาภ ยิ้มวิไล และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

แหล่งข่าวรายหนึ่งเปิดเผยถึงหนังสือร้องทุกข์ของผู้เสียหายที่ส่งถึง พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผบก.ปอศ.) ขอให้ช่วยพิจารณาว่าการกระทำของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายหลอกลวงให้ร่วมลงทุนหรือไม่  ทั้งข้อหาฐานความผิดฉ้อโกงประชาชน, ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ, พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และในความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้รับโทษตามกฎหมาย
พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผบก.ปอศ.)

โดยหนังสือดังกล่าว ผู้เสียหายระบุวันเดือนปีที่เกิดเหตุคือ วันที่ 20 ก.ค.2565 (วันที่ถูกระงับการโอน) สำหรับพฤติกรรม (โดยย่อ) ผู้เสียหาย/ผู้ร้องทุกข์ ได้เปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล กับ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ระหว่างปี 2564 ถึง 2565 จนถึงปัจจุบัน บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลคลิปโตเคอเรนซี่ และโทเคนดิจิทัล จาก ก.ล.ต. ทำการประกาศเชิญชวนประชาชนให้ซื้อขายสินทรัพย์ดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นบริษัทระดับมาตรฐานสากลเชื่อถือได้ มีการขออนุญาตจากรัฐบาลทั้งจากประเทศสิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย มีพนักงานให้บริการ 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน มีระบบดูแลทรัพย์สินของลูกค้าที่ได้มาตรฐานสากล ดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ไม่นำไปแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย การฝากออมของลูกค้าจะได้รับผลตอบแทนสูงมีประกันผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุน

แต่ต่อมาวันที่ 20 ก.ค. 2565 บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัดและกรรมการบริษัทฯ ได้ออกประกาศทางสื่อออนไลน์ ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงกลุ่มผู้เสียหาย และทำหนังสือคำชี้แจงอย่างเป็นทางการจากบริษัทฯ ความสำคัญว่าบริษัทฯ จะระงับการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลใน 2 Wallet ทุกกรณีและไม่สามารถโอนสินทรัพย์ดิจิทัลทุกบัญชีสินทรัพย์ดิจิตอลของผู้เสียหายได้ด้วย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถรับสินทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดคืนจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาทางสำนักงาน ก.ล.ต. ได้พิจารณาลงโทษปรับ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด และ นายเอกลาภ ยิ้มวิไล หนึ่งในกรรมการบริษัทฯ ตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2566 ในความผิดเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดตามกฎหมาย พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ดังคำสั่งเปรียบเทียบที่ 2/2566 เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยการนำสินทรัพย์ของผู้เสียหายไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผิดต่อกฎหมายจนเกิดความเสียหาย เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงถึงการกระทำของบริษัทและกรรมการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจน ปกปิดข้อเท็จจริงต่อประชาชน ทั้งยังปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน

ผู้เสียหาย/ผู้ร้องทุกข์ มีความประสงค์ที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด และ กรรมการของบริษัทฯ ทุกคนจนถึงที่สุด รวมทั้งความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน, ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้รับโทษตามกฎหมาย

นอกจากนี้ทางกลุ่มผู้เสียหาย เปิดเผยอีกว่า สัปดาห์หน้าจะไปทวงถาม เลขา ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ถึงเรื่องความคืบหน้ากรณี Zipmex รวมทั้งเรียกร้องให้ ก.ล.ต. ดำเนินคดีกับกรรมการของบริษัทฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ครบถ้วนทุกคน กลายเป็นมหากาพย์ที่จบไม่ลง เผือกร้อนของเลขา ก.ล.ต.คนใหม่อย่างแท้จริง

(ซ้าย) นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. และ (ขวา) นางพรอนงค์ บุษราตระกูล

#สืบจากข่าว : รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Latest Posts