“…มีผู้เสียหาย 2,000 ล้านบาท เพราะปรากฎการณ์ดีลลับ ร่วมกันกินรวบระหว่าง Zipmex และ “V Ventures” ก.ล.ต. จะรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร เป็นบทสะท้อนการตีหน้า กินรวบ ทิ้งร่องรอยความเจ็บปวดไว้ที่กระเป๋าเงินผู้เสียหาย ล่าสุดผู้เสียหายทยอยแจ้งความ ปอศ.เอาผิด “บ.ซิปเม็กซ์ และผู้บริหาร” ฐานฉ้อโกงประชาชน โดยขอให้ช่วยพิจารณาว่าการกระทำของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด มีพฤติกรรมเข้าข่ายหลอกลวงให้ร่วมลงทุนหรือไม่ ทั้งข้อหาฐานความผิดฉ้อโกงประชาชน , ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ , พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และในความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้รับโทษตามกฎหมาย พร้อมเตรียมลุยต่อ จะไปทวงถาม เลขาฯ ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) สัปดาห์หน้า…”
เหยื่อซึ่งเคยเป็นนักลงทุนใน Zipmex ต่างเฝ้าติดตามสถานการณ์จนต้องแจ้งความดำเนินคดีด้วยตัวเอง ทั้งการไปร้องนายกรัฐมนตรี ที่เวลานี้ง่วนอยู่กับการหาเสียง ทั้งแจ้งความดำเนินคดีมาแล้วทั้ง ตำรวจ บก.ปอศ. และ สอท.1 บช.สอท.
แต่หน่วยงานกำกับอย่าง ก.ล.ต. ยังลอยตัวอยู่เหนือปัญหานี้ตลอดมา อย่าทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก เพราะปรากฎการณ์ดีลลับ ร่วมกันกินรวบระหว่าง Zipmex และ “V Ventures” เป็นบทสะท้อนการตีหน้า กินรวบ ทิ้งร่องรอยความเจ็บปวดไว้ที่กระเป๋าเงินผู้เสียหาย
ก.ล.ต. จะรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร อย่าให้คนครหาว่า เอกชนเส้นใหญ่ ยักเงินนักลงทุนเท่าไหนก็ได้ในประเทศนี้เพราะไม่ต้องเสี่ยงคุก งานนี้เมื่อมีผู้เสียหาย 2,000 ล้านบาท หากผู้สร้างความเสียหายไม่ติดคุก ผู้ใหญ่บางคนในหน่วยงานกำกับ ก็น่าจะเป็นคน เซ่นคุกเสียเองบ้าง จะได้กระตือรือร้นปกป้องนักลงทุนมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ล่าสุดผู้เสียหายทยอยแจ้งความ ปอศ.เอาผิด “บ.ซิปเม็กซ์ และผู้บริหาร” ฐานฉ้อโกงประชาชน
เมื่อวันที่ 3 พ.ค.66 กลุ่มผู้เสียหายจำนวนหลายสิบคน เดินทางเข้าพบร้องขอความเป็นธรรมกับ พ.ต.ท.พงศธร แก่นพุฒ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอศ. ถนนพหลโยธิน จตุจักร กทม. โดยได้แจ้งความดำเนินคดีกับ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด , นายเอกลาภ ยิ้มวิไล และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้เสียหายรายบุคคลจนถึง 22.00 น. และยังขอนัดผู้เสียหายที่เหลือมาให้ปากคำเพิ่มเติมต่อ ในวันจันทร์ที่ 8 พ.ค. 2566 นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เสียหายได้ทำหนังสือร้องทุกข์ถึง พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. โดยขอให้ช่วยพิจารณาว่าการกระทำของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด มีพฤติกรรมเข้าข่ายหลอกลวงให้ร่วมลงทุนหรือไม่ ทั้งข้อหาฐานความผิดฉ้อโกงประชาชน , ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ , พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอลฯ และในความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้รับโทษตามกฎหมาย โดยมีเอกสารประกอบการพิจารณาที่เกี่ยวข้องคือ
1.สำเนาหนังสือรับรองบริษัทซิปเม็กซ์
2.สำเนาเอกสารประกาศชวนเชื่อต่อประชาชนและรายละเอียดการประกันผลตอบแทนการลงทุน
3. คำชี้แจงอย่างเป็นทางการจากบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ลงวันที่ 21 ก.ค.2564
4. สำเนาหนังสือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เรื่องข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายในรอบสามเดือนที่ผ่านมาจำนวนรายการที่พบ 110 รายการ (ลำดับที่ 24 ถึงลำดับที่ 37)
5. รายชื่อผู้เสียหาย/ผู้ร้องทุกข์
ผู้เสียหายระบุวันเดือนปีที่เกิดเหตุคือ วันที่ 20 ก.ค.2565 (วันที่ถูกระงับการโอน) สำหรับพฤติกรรม (โดยย่อ) ผู้เสียหาย/ผู้ร้องทุกข์ ได้เปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล กับ บริษัทซิปเม็กซ์ จำกัด ระหว่างปี 2564 ถึง 2565 จนถึงปัจจุบัน บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลคริปโตเคอเรนซี่ และโทเคนดิจิจัล จาก ก.ล.ต. ทำการประกาศเชิญชวนประชาชนให้ซื้อขายสินทรัพย์ดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นบริษัทระดับมาตรฐานสากลเชื่อถือได้ มีการขออนุญาตจากรัฐบาลทั้งจากประเทศสิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และหากลูกค้าได้รับความเสียหาย จากการซื้อขายสินทรัพย์ดังกล่าว บริษัทฯ ทำประกันไว้กับบริษัทระดับโลกแห่งหนึ่ง มูลค่าที่เอาประกัน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีพนักงานให้บริการ 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน มีระบบดูแลทรัพย์สินของลูกค้าที่ได้มาตรฐานสากล ดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ไม่นำไปแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย การฝากออมของลูกค้าจะได้รับผลตอบแทนสูงมีประกันผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุน
ต่อมาวันที่ 20 ก.ค. 2565 บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัดและกรรมการบริษัทฯ ได้ออกประกาศทางสื่อออนไลน์ ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงผู้เสียหาย และทำหนังสือคำชี้แจงอย่างเป็นทางการจากบริษัทฯ ความสำคัญว่าบริษัทฯ จะระงับการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลใน 2 Wallet ทุกกรณีและไม่สามารถโอนสินทรัพย์ดิจิทัลทุกบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลผู้เสียหายได้ด้วย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถรับสินทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดคืนจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาทางสำนักงาน ก.ล.ต. ได้พิจารณาลงโทษปรับ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด และ นายเอกลาภ ยิ้มวิไล หนึ่งในกรรมการบริษัทฯ ตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิตอล เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2566 ในความผิดเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดตามกฎหมาย พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ดังคำสั่งเปรียบเทียบที่ 2/2566 เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยการนำสินทรัพย์ของผู้เสียหายผู้ร้องทุกข์ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผิดต่อกฎหมายจนเกิดความเสียหาย เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงถึงการกระทำของบริษัทและกรรมการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจน
ด้วยเหตุนี้ผู้เสียหาย/ผู้ร้องทุกข์ จึงเชื่อว่าพฤติกรรมดังกล่าวของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด เป็นการใช้กลอุบายการหลอกลวงเพื่อเอาเงินของผู้เสียหาย/ผู้ร้องทุกข์ไปโดยทุจริต เป็นการแสดงข้อความเท็จปกปิดหลอกลวงข้อเท็จจริงต่อประชาชนทั้งยังปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน
ผู้เสียหาย/ผู้ร้องทุกข์ มีความประสงค์ที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด และ กรรมการของบริษัทฯ ทุกคนจนถึงที่สุด รวมทั้งความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ,ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ , พร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน , พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้รับโทษตามกฎหมาย
นอกจากนี้ทางกลุ่มผู้เสียหาย เปิดเผยอีกว่า สัปดาห์หน้าจะไปทวงถาม เลขาฯ ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ถึงเรื่องความคืบหน้ากรณี Zipmex รวมทั้งเรียกร้องให้ ก.ล.ต. ดำเนินคดีกับกรรมการของบริษัทฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ครบถ้วนทุกคน
จากสถานการณ์ล่าสุด ผู้เสียหายอยู่ในช่วงที่ยากลำบากมากที่สุด นับตั้งแต่การล้มกระดาน Zipmex จากการพานักลงทุนไทยเสียหายไป 2,000 ล้านบาท โดยไม่มีวี่แววว่าจะได้รับเงินคืน ขณะที่ประเทศไทยมีหน่วยงานกำกับอย่าง ก.ล.ต. ที่แผลเหวอะหวะตั้งแต่ปี 2565 ก็ยังไร้ทางออกในการเอา ในเหตุการณ์นี้ยังไม่มีใครต้องเข้าคุก แม้แต่รายเดียว และยังส่อแววว่า ผู้เสียหายอาจไม่ได้เงินสักแดงเดียว
กลุ่มผู้เสียหาย Zipmex ไม่อาจได้เงินคืนตามคำโฆษณาหรือคำปลอบโยนที่ผู้บริหาร Zipmex กล่าวไว้ในอดีต ด้วยสถานการณ์ในตอนนี้เงินเยียวยาหรือเงินที่เสียหายไป มีโอกาสได้รับคืนเพียง 10-20% จากมูลค่าที่ลงทุนไปเท่านั้น ขณะที่การคุ้มครองเจ้าหนี้ได้หมดลงไปแล้วนับตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 66 ตามอำนาจศาลสิงคโปร์
ด้าน รายงานข่าวจากต่างประเทศ ว่ากองทุน V Ventures ที่เดิมจะเข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน Zipmex โดยการใส่เงินลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินลงทุนดังกล่าวจะถูกนำมาชดใช้ค่าเสียหายให้กับนักลงทุนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ในเวลานี้กลับต้องการให้ Zipmex จ่ายคืนให้แก่นักลงทุนแต่ละรายเพียง 10-20% ของมูลค่าเงินทุนที่ลงทุนไว้เท่านั้น ทั้งที่ผ่านมา Zipmex ยืนยันจะให้เงินคืนเต็มจำนวนตามจดหมายที่ส่งถึงศาลสิงคโปร์ถึงแผนการปรับโครงสร้าง
พร้อมคำขู่กลาย…อ้างว่า สัญญาจองซื้อหุ้น (Share Subscription Agreement หรือ SSA) นั้นสิ้นสุดลงแล้ว และข้อตกลงภายใน SSA นั้น “ไม่มีผลผูกพัน” อีกต่อไป นอกจากนี้ V Ventures ยังได้ “ขอเงินทุน” เพื่อการดำเนินการ (Working Capital) ที่ได้ลงทุนก่อนหน้านี้กลับคืน ทำให้บริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจากับนักลงทุนดังกล่าวเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ไม่รู้ว่า ซิปเม็กซ์ สามารถใช้ข้ออ้างของ V Ventures ขอเงินคืน และยังบีบให้ซิปเม็กซ์ใช้หนี้เพียง 10-20% เป็นข้ออ้างตีหน้าเศร้าย่างไร งานนี้การทวงเงินของผู้เสียหายจึงต้องลุ้นยิ่งกว่าการซื้อหวยใต้ดิน
ส่วน Zipmex Asia นั้นแสดงถึงความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ต่อบริการ Z-Wallet โดยทาง Zipmex Asian ให้คำมั่นสัญญาว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้เร่งเจรจากับกลุ่มทุนหลายราย เพื่อเร่งหาทางออกให้กับลูกค้า แม้จะถูกบีบครั้นด้วยกรอบระยะเวลาและความหวังริบหรี่ในช่วงเวลานี้ เพื่อหวังเพิ่มผลประโยชน์สูงสุดให้กับลูกค้าหลังจากการชำระเงินล่าช้า โดยบริษัทได้ยื่นคำร้องต่อศาลสิงคโปร์เพื่อเลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปเป็นระยะเวลาอีก 2 เดือน ตามมาตราการแลกเปลี่ยนที่จะใช้ระยะเวลาเพิ่มเติมในการวางแผนและถอน Z-Wallet อีกครั้ง
ทางออกของ Zipmex นั้นมีอยู่ และ V Ventures ก็พร้อมจะถูกหวยไปด้วย หากสามารถหารูรั่วทางกฎหมาย ตัดเงินสินทรัพย์ถึง 90% หรือยอมตัดขาดทุน 100% ไปเลย เพื่อให้ Zipmex รอดจากวิกฤตที่ผ่านมาและเดินหน้าต่อไปได้ ส่วน V Ventures ก็ได้ความเป็นหุ้นส่วนที่ไม่ต้องแบกหนี้กันมากนัก
สื่อต่างจับตามองการชดใช้ความเสียหาย และรายงานเพิ่มเติมว่า กรณีของ Zipmex ยังไม่จบง่าย ๆ แล้วนักลงทุนไทยก็ยังไม่มีใครได้เงินคืน ไม่สามารถถอนสินทรัพย์ออกจาก Z Wallet ได้ ย้อนกลับไปวันที่ 18 เม.ย. ทาง Zipmex ได้มีการประกาศว่า บริษัทได้ขอขยายระยะเวลาในการพักชำระหนี้ต่อศาลสิงคโปร์ เนื่องจากปัญหาขาดสภาพคล่องของบริษัท โดยทาง Zipmex ขยายความว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนแก่ลูกค้าสูงสุด โดยจะขอขยายเวลาในการชำระหนี้ออกไปอีก 2 เดือน และจะใช้เวลาเพิ่มเติมในการวางแผน เพื่อเปิดให้ถอนสินทรัพย์ ออกจาก Z Wallet ได้ ทำให้กรณีของ Zipmex ที่เป็นอีกหนึ่ง Exchange ที่ได้ License จากสำนักงาน ก.ล.ต. ไทย นั้นเป็นข่าวดังไปทั่วโลกที่เฝ้าติดตามข่าว
และคำถามสำคัญ เมื่อเหยื่อซึ่งเคยเป็นนักลงทุนใน Zipmex ต่างเฝ้าติดตามสถานการณ์จนต้องแจ้งความดำเนินคดีด้วยตัวเอง ทั้งการไปร้องนายกฯรัฐมนตรี ที่เวลานี้ง่วนอยู่กับการหาเสียง แจ้งความดำเนินคดีมาแล้วทั้ง ตำรวยจ บก.ปอศ. และ สอท.1 บช.สอท.
แต่หน่วยงานกำกับอย่าง ก.ล.ต. ยังลอยตัวอยู่เหนือปัญหานี้ตลอดมา อย่าทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก เพราะปรากฎการณ์ดีลลับ ร่วมกันกินรวบระหว่าง Zipmex และ “V Ventures” เป็นบทสะท้อนความเป็นมืออาชีพ
ก.ล.ต. จะรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร อย่าให้คนครหาว่า เอกชนเส้นใหญ่ ยักเงินนักลงทุนเท่าไหนก็ได้ในประเทศนี้เพราะไม่ต้องเสี่ยงคุก
งานนี้เมื่อมีผู้เสียหาย 2,000 ล้านบาท หากผู้สร้างความเสียหายไม่ติดคุก ผู้ใหญ่บางคนในหน่วยงานกำกับ ก็น่าจะเป็นคน เซ่นคุกเสียเองบ้าง จะได้กระตือรือร้นปกป้องนักลงทุนมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
#สืบจากข่าว : รายงาน