วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2024
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่กสม. แนะ สตช. ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจปราบปรามยาเสพติด หลังปรากฏกรณีจับกุมผู้ต้องหาบังคับให้สารภาพ และนำสื่อเข้าบันทึกภาพโดยละเมิดสิทธิฯ

Related Posts

กสม. แนะ สตช. ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจปราบปรามยาเสพติด หลังปรากฏกรณีจับกุมผู้ต้องหาบังคับให้สารภาพ และนำสื่อเข้าบันทึกภาพโดยละเมิดสิทธิฯ

วันที่ 11 พ.ค. นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งอ้างว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดได้เข้าตรวจค้นบ้านพักของผู้ร้องในพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยบังคับและข่มขู่บุคคลภายในบ้านซึ่งมีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้หญิงมีครรภ์ให้มานั่งรวมกัน มีการทำร้ายร่างกายบุตรชายของผู้ร้อง

และพังประตูเข้าไปตรวจค้นภายในห้องทำให้ลูกบิดประตูเสียหาย นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้บุตรสาวของผู้ร้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวในระหว่างการตรวจค้น และได้จับกุมหญิงรายหนึ่งซึ่งเป็นญาติของผู้ร้องไว้ รวมทั้งยึดเครื่องบันทึกข้อมูลกล้องโทรทัศน์วงจรปิดและอายัดทรัพย์สินของบุคคลภายในบ้านหลายรายการ ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้นำตัวสามีของผู้ร้อง ซึ่งถูกจับกุมที่จังหวัดราชบุรี และ บุตรชายของผู้ร้อง ซึ่งถูกจับกุมที่กรุงเทพฯ เดินทางมายังบ้านพักหลังดังกล่าวเพื่อทำการแถลงข่าว โดยในระหว่างการเดินทาง บุคคลทั้งสองถูกข่มขู่ให้รับสารภาพ และเมื่อแถลงข่าวแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่ได้นำตัวบุคคลที่ถูกจับกุมเดินทางไปยังค่ายนเรศวร จังหวัดเพชรบุรี เพื่อสอบปากคำและจัดทำบันทึกการจับกุม โดยระหว่างที่อยู่ในค่ายนเรศวร ผู้ร้องแจ้งว่ามีการข่มขู่และทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับกุมด้วย นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดอีกชุดหนึ่งได้เข้าตรวจค้นและจับกุม บุตรชายของผู้ร้องอีกคนหนึ่งที่บ้านพักในจังหวัดเชียงใหม่ โดยอ้างว่ามีการทำร้ายร่างกาย และข่มขู่ให้ลงชื่อรับสารภาพ จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาแยกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง กรณีกล่าวอ้างว่า การตรวจค้นบ้านพักในพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ทรัพย์สินภายในบ้านได้รับความเสียหาย และมีการข่มขู่ ทำร้ายร่างกายบุคคลที่อยู่ภายในบ้าน จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า การตรวจค้นบ้านพักในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามหมายค้นของศาลอาญา มีการแสดงหมายค้นให้บุคคลภายในบ้านได้รับทราบ และเมื่อพิจารณาวิดีโอถ่ายทอดสดของผู้สื่อข่าวที่เจ้าหน้าที่ให้ติดตามไปบันทึกภาพและเสียงระหว่างตรวจค้นก็ไม่พบว่ามีการทำร้ายร่างกายบุคคลที่อยู่ภายในบ้านตามที่กล่าวอ้าง ในชั้นนี้จึงยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่รับฟังได้ว่า มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่ทำลายลูกบิดประตูห้องนอนชั้นสองของบ้านเพื่อให้สามารถเข้าไปตรวจค้นภายในห้องดังกล่าวได้โดยไม่แจ้งให้บุคคลที่อยู่ภายในบ้านนำกุญแจมาเปิดประตูให้เสียก่อนนั้น เห็นว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้พยายามอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันมิให้ทรัพย์สินของผู้ร้องได้รับความเสียหาย ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่สอง กรณีกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่และทำร้ายร่างกายเพื่อให้บุคคลที่ถูกจับกุมรับสารภาพในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 และมาตรา 29 รับรองและคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลไว้ การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

จากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ฝ่ายผู้ร้องและเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกร้องให้ข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกันในสาระสำคัญว่ามีการข่มขู่หรือทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับกุมในระหว่างที่อยู่ในความควบคุมหรือไม่ เห็นว่า ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยแนวทางการประสานงานคดียาเสพติด พ.ศ. 2553 การจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายสำคัญ ต้องจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงขณะซักถาม แต่เอกสารบันทึกการตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาทั้งสี่ราย ไม่พบว่ามีการระบุถึงการบันทึกภาพและเสียง และแม้เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าในบันทึกการตรวจค้นจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่มิได้บังคับขู่เข็ญ และผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานแล้ว แต่การลงลายมือชื่อในเอกสารบันทึกการตรวจค้นจับกุมอาจมีลักษณะที่ผู้ต้องหาจำยอมต้องลงลายมือชื่อเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกกระทำบางอย่าง ซึ่งไม่อาจยืนยันได้ว่าไม่มีการข่มขู่หรือทำร้ายร่างกายในระหว่างควบคุมตัว และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลคือผู้ร้องและผู้ถูกจับกุมก็ยืนยันตรงกันว่า ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่สอบปากคำผู้ถูกจับกุมรายหนึ่งที่ค่ายนเรศวร ได้ยินเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดของผู้ถูกจับกุมอีกรายด้วย จึงน่าเชื่อว่า มีการทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้สารภาพภายในค่ายฯ นอกจากนี้ กสม. ยังเห็นว่า กรณีตามคำร้องนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 ควบคุมตัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดไว้ไม่เกิน 3 วัน เพื่อสอบสวนขยายผล ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่กำหนดให้บุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา ต้องถูกนำตัวไปยังศาลโดยพลัน ซึ่ง กสม. เคยมีข้อเสนอแนะให้ยกเลิกอำนาจการควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกิน 3 วัน แล้ว เพื่อคุ้มครองสิทธิที่ผู้ถูกจับกุมจะได้พบศาลโดยเร็วด้วย

ประเด็นที่สาม กรณีเจ้าหน้าที่ให้สื่อมวลชนติดตามการปฏิบัติหน้าที่และบันทึกภาพและเสียงในระหว่างการตรวจค้น จากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีสื่อมวลชนจำนวนมากเข้าไปในบ้านของผู้ร้องในพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อบันทึกภาพและเสียง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจค้นและจับกุม และมีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยไม่มีการปกปิดภาพเด็กและบุคคลที่อยู่ภายในบ้านซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี และสื่อมวลชนได้สัมภาษณ์ผู้ต้องหาเกี่ยวกับพฤติการณ์ความผิดภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้แล้วด้วย การที่สื่อมวลชนกระทำการดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ป้องกันที่เพียงพอมิให้เกิดการแทรกแซงความเป็นอยู่ส่วนตัว สิทธิส่วนบุคคล ตลอดจนหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายว่ามีความผิด อันไม่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 855/2548 ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว ซึ่งห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจนำสื่อมวลชนทุกแขนงไปทำข่าวหรือถ่ายภาพ และห้ามให้สื่อมวลชนทุกแขนงถ่ายภาพ สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวผู้ต้องหา ในระหว่างปฏิบัติการตรวจค้น จับกุม การควบคุมตัวของตำรวจ จึงถือว่าเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผู้ถูกร้อง) ที่ได้ทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับกุมในระหว่างการจัดทำบันทึกการตรวจค้นจับกุมภายในค่ายนเรศวร จังหวัดเพชรบุรี และให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ละเลยปล่อยให้สื่อมวลชนเข้าไปในบ้านของผู้ต้องหาซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ เพื่อบันทึกภาพและเสียง และถ่ายทอดสดการปฏิบัติหน้าที่ขณะตรวจค้นและจับกุม รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้ต้องหาในขณะอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยให้ดำเนินการไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อมิให้เกิดกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนลักษณะนี้อีก

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts