วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 17/2566
- กสม. ชี้ กรณีบุคคลนำสื่อมวลชนบุกเข้าตรวจสอบพฤติกรรมของพระภิกษุภายในวัด และถ่ายทอดสดขณะปฏิบัติการ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ วัดหนองปรือ จังหวัดฉะเชิงเทรา วัดหนองเตย จังหวัดนครนายก และวัดโคกงูเห่า จังหวัดสุพรรณบุรี ขอให้ตรวจสอบ การกระทำของบุคคลที่ได้นำสื่อมวลชนบุกเข้าไปตรวจสอบพฤติกรรมของพระภิกษุภายในวัด 3 แห่ง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพในเคหสถาน นั้น
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย แล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ผู้ถูกร้องได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการนำสื่อมวลชนบุกเข้าไปตรวจสอบพฤติกรรมของพระภิกษุในวัดหรือไม่ โดยที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 มาตรา 35 และมาตรา 50 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองและคุ้มครองว่า บุคคลทุกคนย่อมมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยปราศจากการแทรกแซงทั้งการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศิลปะ และการสื่อความหมายด้วยวิธีอื่น นอกจากนั้นยังได้รับรองเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ถูกร้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของพระภิกษุตามวัดต่าง ๆ ด้วยสาเหตุที่มีประชาชนหรือผู้เสียหายแจ้งเหตุร้องเรียนต่อผู้ถูกร้อง ซึ่งผู้ถูกร้องได้กลั่นกรองเรื่องร้องเรียนเบื้องต้น และดำเนินการเฉพาะกรณีที่ผู้แจ้งเหตุแสดงพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ากรณีมีมูล เช่น กรณีมีคลิปวิดีโอเป็นพยานหลักฐาน เป็นต้น และมีเจตนาเพื่อปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา โดย กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า สถาบันพระพุทธศาสนาเป็นองค์กรทางสังคม เชื่อมโยงกับความเชื่อของประชาชนและถือเป็นความมั่นคงของรัฐประการหนึ่ง โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ซึ่งใกล้ชิดกับผู้คนในสังคม จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนในการพิทักษ์ปกป้องพระพุทธศาสนา อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติหรือกฎเกณฑ์ใดที่กำหนดไม่ให้ฆราวาสตรวจสอบพฤติกรรมของพระภิกษุสงฆ์ จึงเห็นว่า การตรวจสอบพฤติกรรมของพระภิกษุสงฆ์ เป็นการมีส่วนร่วมในการปกป้องและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งผู้ถูกร้องหรือประชาชนทั่วไปสามารถกระทำได้
อย่างไรก็ตาม การใช้เสรีภาพในแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอาจถูกจำกัดได้ ตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อเคารพและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ความมั่นคงของรัฐ หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยที่บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ที่ต้องปราศจากการแทรกแซงของบุคคลอื่น การละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิดังกล่าวหรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำไม่ได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะ และจะกระทำได้เท่าที่จำเป็นหรือพอสมควรแก่เหตุเท่านั้น
จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกร้องรายดังกล่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพฤติกรรมของพระภิกษุสงฆ์ โดยผลปรากฏว่าไม่พบตัวพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด แต่ผู้ถูกร้องได้ถ่ายทอดสดภาพเหตุการณ์ อันมีผลให้ปรากฏภาพและเสียงของเจ้าอาวาสวัดที่เกิดเหตุทั้ง 3 แห่ง เผยแพร่ต่อสาธารณะอย่างชัดเจน โดยมิได้แจ้งขออนุญาตเจ้าอาวาสก่อนแต่อย่างใด รวมทั้งผู้ถูกร้องได้ตั้งข้อสงสัยต่อเจ้าอาวาส และเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดในประเด็นต่าง ๆ เช่น การปล่อยปละละเลยให้พระภิกษุกระทำผิดหรือมีจริยวัตรไม่เหมาะสม การปฏิบัติหรือการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด เป็นต้น โดยใช้ถ้อยคำตั้งข้อสงสัยที่มีความหมายในทางเสื่อมเสีย ให้วิญญูชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นพระภิกษุประพฤติตนไม่เหมาะสม พูดเท็จ รู้เห็นเป็นใจช่วยปกปิดการกระทำความผิด เป็นเหตุให้เจ้าอาวาสหรือเจ้าหน้าที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนได้รับความอับอาย เดือดร้อนรำคาญใจ เสียหาย ถูกทำลายชื่อเสียง การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเป็นการใช้เสรีภาพในแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกที่เกินสัดส่วนกับเหตุผลความจำเป็น และกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในเกียรติยศและชื่อเสียงของบุคคล อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ถูกร้องไม่ใช้วิธีการถ่ายทอดสดแต่ใช้วิธีการบันทึกภาพแล้วนำมาเบลอภาพก่อนเผยแพร่ต่อสาธารณะ อันถือเป็นเรื่องที่มีการแก้ไขปัญหาระดับหนึ่งแล้ว
สำหรับกรณีที่ผู้ถูกร้องเข้าไปในวัดต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบการกระทำของพระภิกษุนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในเคหสถาน โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกร้องได้ขออนุญาตต่อเจ้าอาวาสวัดแต่ละแห่งในการเข้าไปในกุฏิของพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาก่อนทุกครั้ง แต่เจ้าอาวาสวัดต่างก็ยอมรับว่า ไม่กล้าปฏิเสธเนื่องจากการใช้คำพูดเชิงกล่าวหาของผู้ถูกร้อง รวมถึงการถ่ายทอดสดภาพเหตุการณ์ทำให้รู้สึกกดดัน จึงอนุญาตให้ผู้ถูกร้องกับพวกเข้าไปภายในวัดได้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อความยินยอมดังกล่าวมีเหตุเงื่อนไขมาจากความรู้สึกถูกกดดันจากการใช้คำพูดเชิงกล่าวหา และการถ่ายทอดสดปฏิบัติการของผู้ถูกร้องดังกล่าว ประกอบกับแม้พื้นที่ภายในวัดแต่ละแห่งจะเป็นสาธารณสถานตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญาที่ประชาชนทั่วไปมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ แต่พื้นที่บางส่วนของวัด เช่น กุฏิของพระภิกษุ ก็เป็นพื้นที่จำกัดที่เป็นส่วนตัวซึ่งสมควรจำแนกจากการเป็นสาธารณสถาน ด้วยเหตุนี้ การที่ผู้ถูกร้องเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวโดยอาศัยความยินยอมในลักษณะเช่นว่านั้น ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการจำกัดเสรีภาพในเคหสถานของพระภิกษุสงฆ์
ทั้งนี้ กสม. เห็นว่า การที่ประชาชนเลือกใช้วิธีการแจ้งเหตุต่อผู้ถูกร้อง ย่อมมีสาเหตุมาจากความเชื่อมั่นต่อกระบวนการตรวจสอบของผู้ถูกร้องว่าจะให้ความเป็นธรรมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ควรสนับสนุนประชาชนและชุมชนให้ร่วมมีส่วนในการแจ้งเหตุเบาะแสเรื่องร้องเรียนหรือแจ้งภัยทางพระพุทธศาสนา ผ่านกลไกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 จึงมีมติว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้มีข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชน ต่อผู้ถูกร้องและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สรุปได้ดังนี้
ให้ผู้ถูกร้องเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ โดยลบโพสต์คลิปวิดีโอภาพการถ่ายทอดสดในขณะลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของพระภิกษุสงฆ์ตามคำร้องนี้ และให้ขอโทษผู้เสียหาย ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ นอกจากนี้ให้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของพระภิกษุสงฆ์ โดยต้องหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติยศของบุคคล หรือสร้างความเข้าใจผิดว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดโดยที่ยังไม่มีกระบวนการพิสูจน์ตามกฎหมาย รวมถึงต้องได้รับความยินยอมโดยแท้จริงจากผู้มีอำนาจปกครองวัดก่อนเข้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ ภายในวัด โดยให้หลีกเลี่ยงการเปิดเผยอัตลักษณ์ ใบหน้า หรือข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำให้ล่วงรู้ตัวตน เว้นแต่จะได้รับความยินยอมโดยแท้จริงจากบุคคลผู้นั้นก่อน
ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร องค์กรภาคประชาชน และสื่อมวลชน เป็นต้น เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและรวดเร็วในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนพฤติกรรมของพระภิกษุ รวมถึงวิธีหรือแนวทางในการสนับสนุนการตรวจสอบโดยภาคประชาชนแล้วเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป