พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์แนะนำประชาชนให้ดำเนินการสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อตัดวงจรการกระทำผิดของมิจฉาชีพ ป้องกันภัยทางการเงินออนไลน์ ดังนี้
ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการประกาศเผยแพร่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.66 ที่ผ่านมาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน คุ้มครองประชาชนซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียทรัพย์สิน ผ่านทางโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์จากมิจฉาชีพ โดย พ.ร.ก. ดังกล่าวมีสาระสำคัญ เช่น สถาบันการเงินมีอำนาจและหน้าที่ยับยั้งธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัย ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด ผู้เสียหายสามารถแจ้งธนาคารเพื่ออายัดเงินในบัญชีด้วยความรวดเร็ว ผู้เสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ทั่วราชอาณาจักร และมีบทกำหนดโทษสำหรับผู้รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝาก รวมไปถึงการซื้อขายเลขหมายโทรศัพท์ ซึ่งลงทะเบียนแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมามีการกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีปฏิบัติที่สำคัญเข้าทำการตรวจค้นทั่วประเทศกว่า 40 จุด สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้หลายราย ตรวจยึดซิมโทรศัพท์ของกลางได้รวมกว่า 110,000 ซิม เพื่อตัดวงจรการครอบครองซิมโทรศัพท์มือถือของมิจฉาชีพนำไปใช้หลอกลวงประชาชน
ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้ทำสถาบันการเงินปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน ภายใต้มาตรการการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ลดช่องทางของมิจฉาชีพที่ใช้ในการเข้าถึงประชาชน ซึ่งมีมาตรการที่สำคัญ คือ 1.มาตรการป้องกัน 2.มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมที่ต้องสงสัย 3.มาตรการตอบสนองและรับมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านมาตรการป้องกัน เช่น การยกเลิกการแนบ link ทางข้อความสั้น (SMS) และอีเมล การปรับปรุงระบบการรักษาความปลอดภัยบน Mobile Banking ให้เป็นปัจจุบัน และการให้ประชน หรือลูกค้าทำการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมการเงินผ่าน Mobile Banking ในกรณีการเปิดบัญชีแบบไม่เห็นใบหน้า (non-face-to-face) กรณีการโอนเงินตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปต่อครั้ง กรณียอดรวมของการโอนเงินทุก 200,000 บาทต่อวัน และกรณีการเปลี่ยนวงเงินในการทำธุรกรรม ซึ่งกำหนดให้แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.66 นั้น
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร และซื้อขายหมายเลขโทรศัพท์โดยผิดกฎหมาย ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมประเภทดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถยับยั้งความเสียหายได้ทันท่วงที รวมถึงสร้างการรับรู้ให้กับภาคประชาชนเพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา บช.สอท. ยังคงมุ่งหน้าปราบปรามจับกุมอาชญากรไซเบอร์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งนี้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ถือเป็นกฎหมายที่สำคัญ ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดัน และวางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญของการหลอกลวงออนไลน์ ทำให้ภัยจากอาชญากรรมออนไลน์ลดลงอย่างต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนเตรียมความพร้อมและเร่งดำเนินการเข้าไปยืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้าที่สถาบันการเงิน หรือธนาคารสาขาต่างๆ หรือตามช่องทางที่ธนาคารนั้นได้กำหนดเอาไว้ เพื่อให้การทำธุรกรรมการเงินไม่ติดขัด เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเพื่อเป็นการตัดวงจรการกระทำผิดของมิจฉาชีพก่อนจะนำเอาทรัพย์สินของประชาชนหลบหนีไป