สืบเนื่องมาจากเมื่อช่วงประมาณต้นปี พ.ศ.2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการร้องเรียนจากทางสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพได้นำชื่อสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปแอบอ้างด้วยการเปิดเว็บไซต์หลอกลวงประชาชนให้นำเงินมาลงทุนในหุ้นทองคำ โดยใช้ชื่อเว็บไซต์ว่า Royal Gold (https://sh.capital868.com/main/home) ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้เสียหายหลงเชื่อนำเงินไปร่วมลงทุนกับกลุ่มมิจฉาชีพเป็นจำนวนมาก โดยจากการตรวจสอบ ตั้งแต่ มกราคม ถึง พฤษภาคม 2566 พบมีผู้เสียหายหลงเชื่อกว่า 2,000 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 500 ล้านบาท
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงมอบหมายให้ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) รับผิดชอบสืบสวนและติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดี โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เป็นผู้ดำเนินการสืบสวนติดตามจับกุมกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว
จากการสืบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอท. พบว่ากลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวมีพฤติกรรมหลอกลวงโดยใช้บัญชีเฟซบุ๊กปลอมเป็นหญิงสาวหน้าตาดี ติดต่อเข้ามาพูดคุยกับผู้เสียหาย ตีสนิทด้วยการพูดคุยในลักษณะเชิงชู้สาว ก่อนจะชักชวนให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนในหุ้นทองคำผ่านเว็บไซต์ Royal Gold (เว็บไซต์ปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา มีลักษณะคล้ายเว็บไซต์เทรดหุ้น มีกราฟแสดงมูลค่าของหุ้นตลอดเวลา) นอกจากนี้มีการแอบอ้างว่าเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเว็บไซต์ลงทุนในหุ้นทองคำที่เกี่ยวข้องกับสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
ซึ่งในช่วงแรก มิจฉาชีพจะชักชวนให้ผู้เสียหายนำเงินมาทดลองลงทุน โดยจะให้ผู้เสียหายโอนเงินลงทุนไปยังบัญชีม้าที่เปิดเตรียมไว้ หลังจากลงทุนไปสักระยะเวลาหนึ่ง มิจฉาชีพจะคืนเงินต้น และให้ผลตอบแทนในการลงทุน (คิดเป็น 10% ของเงินลงทุน) จึงทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าการลงทุนดังกล่าวได้รับผลตอบแทนจริง
อีกทั้งในเว็บไซต์ดังกล่าวมีการแสดงยอดเงินลงทุนและผลตอบแทนให้เห็นตรงตามกับจำนวนเงินที่ผู้เสียหายลงทุนไป จึงยิ่งทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อนำเงินมาลงทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่ภายหลังเมื่อผู้เสียหายต้องการจะถอนเงินออกจากเว็บไซต์ มิจฉาชีพจะหลอกให้ผู้เสียหายเสียค่าดำเนินการและเสียภาษีก่อน โดยเมื่อผู้เสียหายโอนเงินเพิ่มตามจำนวนที่มิจฉาชีพแจ้งแล้ว มิจฉาชีพจะบล็อกช่องทางการติดต่อ ทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถติดต่อกับมิจฉาชีพได้อีก
จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า เมื่อผู้เสียหายโอนเงินเข้าไปยังบัญชีม้าตามที่มิจฉาชีพกล่าวอ้างแล้ว เงินทั้งหมดจะถูกนำไปซื้อเหรียญดิจิทัล (Cryptocurrency) ในสกุล USDT จากพ่อค้าคนกลาง หลังจากนั้นจะมีการโอนเหรียญดิจิทัลดังกล่าวเข้าไปยังกระเป๋าวอลเล็ตม้า (กระเป๋าดิจิทัลที่ถูกว่าจ้างให้เปิด) ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการฟอกเงินในรูปแบบเหรียญดิจิทัล โดยเป็นการยักย้ายถ่ายเทเหรียญคริปโตในเครือข่ายกระเป๋าเหรียญดิจิทัลที่มีมากกว่าร้อยกระเป๋า แต่ท้ายที่สุดก็พบว่าคนร้ายมีการโอนเหรียญดิจิทัลทั้งหมดไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัลของกลุ่มผู้บริหารเครือข่ายชาวจีนที่รับหน้าที่ฟอกเงิน โดยการนำเหรียญดิจิทัลที่ได้มาจากการฉ้อโกงไปขายแลกกลับมาเป็นเงินบาทไทย ก่อนจะนำเงินที่ได้มาไปส่งมอบให้กับหัวหน้าเครือข่าย
ซึ่งรูปแบบการกระทำความผิดของกลุ่มมิจฉาชีพ พบว่าเป็นการกระทำความผิดในลักษณะขบวนการ มีแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจะแบ่งเป็น (1) หัวหน้า ทำหน้าที่ สั่งการ, (2) กลุ่มคอลเซ็นเตอร์ ทำหน้าที่ ติดต่อพูดคุยและหลอกลวงเหยื่อ, (3) กลุ่มจัดหาบัญชีม้าและกระเป๋าม้า รวบรวมบัญชีต่างๆ นำไปมอบให้กับกลุ่มคอลเซ็นเตอร์, (4) กลุ่มบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า ทำหน้าที่รับจ้างเปิดบัญชีและกระเป๋าเงินดิจิทัล (5) กลุ่มที่ทำหน้าที่ฟอกเงิน แลกเปลี่ยนเงิน รวมถึงทำหน้าที่รับโอนเงินที่ได้มาจากการฉ้อโกงเพื่อนำไปซื้อเหรียญดิจิทัล และขายเหรียญดิจิทัลเปลี่ยนเป็นเงินบาทไทยและจากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า กลุ่มคนที่รับจ้างเปิดบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ จ.เชียงราย ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน ประมาณ 3,000 – 4,000 บาท โดยกลุ่มผู้จัดหาและว่าจ้างจะเตรียมโทรศัพท์พร้อมซิมการ์ดมาให้กลุ่มผู้รับจ้างทำการยืนยันตัวตน (KYC) เพื่อเปิดบัญชีธนาคารพร้อมกับกระเป๋าแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล (Wallet) หลังจากนั้นจะรวบรวมบัญชีม้าพร้อมโทรศัพท์มือถือที่ผูกกับกระเป๋าม้านำไปส่งให้กับนายทุนที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ที่ สปป.ลาว
จากข้อมูลในการสืบสวนดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้มีการรวบรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการ โดยในวันที่ 13 มิถุนายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังเข้าจับกุม ผู้ร่วมขบวนการใน กลุ่มของผู้จัดหาและรวบรวมบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า, กลุ่มรับจ้างเปิดบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 8 ราย และหลังจากนั้น วันที่ 20 มิถุนายน 2566 มีการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้เพิ่มอีก 3 ราย เป็น หัวหน้าเครือข่าย, ผู้บริหารดูแลเรื่องฟอกเงิน และผู้รวบรวมบัญชี รวมผู้ต้องหาที่จับกุมได้ทั้งสิ้น 11 ราย จากนั้นได้มีการนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
จากการสอบถามผู้ต้องหาเบื้องต้น *** หนึ่งในผู้ต้องหาที่ทำหน้าที่จัดหาและรวบรวมบัญชีม้า ให้การรับว่าตนเองได้รับการว่าจ้างมาจากนายทุนชาวจีน ว่าจ้างให้รวบรวมบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้าของคนไทย และให้นำไปส่งมอบให้กับชาวจีนที่อยู่ในพื้นที่ของบ่อนคาสิโนคิงส์โรมัน ฝั่ง สปป.ลาว ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานปฏิบัติการ โดยตนจะได้รับค่าจ้างประมาณ 10,000 บาท ต่อบัญชี ซึ่งสาเหตุที่ตนรับจ้างทำงานในลักษณะนี้ เนื่องจากตนเองมีหนี้สินที่เกิดจากการเล่นพนันในบ่อนคาสิโนคิงส์โรมัน และนายทุนชาวจีนดังกล่าวเป็นคนภายในบ่อนคาสิโน ตนจึงถูกบังคับให้จัดหาและรวบรวมบัญชีม้ามาให้เพื่อใช้หนี้การพนัน อีกทั้งจากการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถตรวจยึดทรัพย์สิน จำนวนหลายรายการ อาทิเช่น รถยนต์หรู จำนวน 3 คัน, เงินสด รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท, สร้อยคอทองคำ แหวน กว่า 30 รายการ, นาฬิกาหรู และกระเป๋าแบรนเนมด์, คอมพิวเตอร์, โน๊ตบุ๊ก, โทรศัพท์มือถือ, ซิมการ์ด, สมุดบัญชีธนาคาร และใบรับประกันทอง จำนวนหลายรายการและจากการตรวจสอบข้อมูลในคอมพิวเตอร์ที่ได้ตรวจยึดมา พบว่า มีกลุ่ม Telegram ซึ่งเป็นกลุ่ม Scammer จะมีการส่งภาพถ่าย หญิงสาวหน้าตาดี, ภาพอาหารราคาแพง, ภาพวาบหวิวของหญิงสาว และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เพื่อใช้ในการหลอกลวงเหยื่อให้ตกหลุมรัก อีกทั้งยังมีบทสนทนาที่เตรียมไว้พูดคุยกับเหยื่อ และตารางสรุปยอดที่เหยื่อหลงเชื่อและสนใจเข้ามาลงทุน ไปจนถึงจำนวนเหยื่อที่เข้ามาลงทุนในเว็ปไซต์ และยังมีหนึ่งในผู้ต้องหา รับว่าใบรับประกันทองที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดมา เป็นการซื้อทองคำ เพื่อนำไปมอบเป็นรางวัลโบนัสให้กับพนักงานที่สามารถหลอกลวงเหยื่อให้เข้ามาลงทุนในเว็บไซต์ได้
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอเตือนภัยไปยังประชาชน ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนให้ถี่ถ้วนก่อนการลงทุนทุกครั้ง เนื่องจากมิจฉาชีพมักอ้างหน่วยงานหรือสถาบันที่ดูมีความน่าเชื่อถือ, อย่าตัดสินใจลงทุนเพียงเพราะเห็นว่ารูปแบบเว็บไซต์นั้นดูน่าเชื่อถือ เพราะในปัจจุบันมิจฉาชีพสามารถปลอมข้อมูลขึ้นมาได้ทั้งหมด, ห้ามฝากเงินหรือโอนเงินลงทุนเข้าบัญชีส่วนตัวของบุคคลธรรมดา หากเป็นบัญชีส่วนตัวให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ, สังเกตสัญญาณเตือนภัยกลโกงจากข้อเสนอการลงทุน เช่น ลักษณะผลตอบแทนที่ดูดีเกินไป รับประกันผลตอบแทน เร่งรัดให้ตัดสินใจลงทุน ดึงดูดใจด้วยสินทรัพย์ใหม่ ๆ เป็นต้น