อินเดีย ออย คอร์ป ผู้ซื้อน้ำมันดิบรัสเซียรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย กลายเป็นโรงกลั่นแห่งรัฐเจ้าแรก ที่จ่ายค่าจัดซื้อน้ำมันรัสเซียบางส่วนด้วยสกุลเงินหยวน ตั้งแต่เดือนที่แล้ว นอกจากนี้ยังมีโรงกลั่นเอกชนอย่างน้อยๆ 2 แห่ง จากทั้งหมด 3 แห่ง ก็ชำระเงินค่าน้ำมันนำเข้าจากรัสเซีย ด้วยสกุลเงินหยวนเช่นกัน เช่นเดียวกับปากีสถานได้จ่ายเงินด้วยสกุลเงินหยวนเป็นครั้งแรกในการชำระหนี้ในข้อตกลงนำเข้าน้ำมันกับรัสเซียก่อนหน้านี้
การที่โลกตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซีย ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยการกำหนดเพดานราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกลั่นที่นำเข้าจากรัสเซีย ไว้ไม่เกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สำหรับดีเซล และ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีเป้าหมายคือตัดทอนรายได้จากพลังงานของมอสโก ทำให้รัสเซียต้องแสวงหาตลาดใหม่ไปยังเอเชียและจุดหมายปลายทางอื่นๆ เพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว และแสวงหาหาทางเลือกอื่นแทนดอลลาร์ในการชำระค่าน้ำมัน อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินและธนาคารต่างๆของอินเดีย ได้ดำเนินธุรกรรมหักบัญชีการชำระเงินด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ละเมิดต่อมาตรการคว่ำบาตรอื่นๆ ที่บังคับใช้กับรัสเซีย
อาร์เจนตินาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่หันมาเลือกใช้ “หยวน” เป็นครั้งแรก ในการชำระหนี้บางส่วนแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อวันศุกร์ (30 มิ.ย.) เพื่อลดพึ่งพิงดอลลาร์สหรัฐ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเป็นการแสดงผลลัพธ์ให้บรรดาเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้เห็น ในขณะที่พวกเขาต้องเผชิญกับวิกฤตเลวร้ายจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อระดับสูงของสหรัฐฯ โดยเวลานี้มีบรรดาเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายชาติที่ปักหมุดหันเข้าหาเงินหยวนและละทิ้งดอลลาร์ เพื่อผละหนีความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งจะเร่งให้หยวนกลายเป็นสกุลเงินสากลและมีการใช้หยวนในตลาดระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น
ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว อาร์เจนตินาได้ชำระหนี้แก่ไอเอ็มเอฟด้วยสกุลเงินหยวน ในมูลค่าเทียบเท่ากับ 1,000 ล้านดอลลาร์ และอีก 1,700 ล้านดอลลาร์ จะจ่ายในรูปแบบ Special Drawing Rights (สิทธิถอนเงินพิเศษ) ซึ่งคือสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่เปรียบเสมือนเงินสกุลหนึ่ง ที่สร้างขึ้นโดยไอเอ็มเอฟ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นตามหลังการเดินทางเยือนจีนของ เซอร์จิโอ มาสซา รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาร์เจนตินา พร้อมด้วยคณะผู้แทนคนอื่นๆ ของรัฐบาล เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งระหว่างนั้นได้มีการลงนามแผนความร่วมมือส่งเสริมข้อริเริ่มเข็มขัดและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ที่เสนอโดยจีน โดยที่ความร่วมมือด้านการเงินและประเด็นการคลังคือแก่นกลางของแผนดังกล่าว