เมื่อวันที่ 5 ก.ค.66 ที่ห้องประชุมฯ ชั้น 2 อาคาร 1 ตร. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย เครือข่ายภาคเอกชนร่วมเปิดการรณรงค์ “ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง”
สืบเนื่องจากคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ “คดีออนไลน์” เป็นอาชญากรรมที่ส่งผลสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ และความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอย่างมาก แม้ว่า ตร.จะพัฒนาระบบแจ้งความออนไลน์ หรือร่วมผลักดัน พระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.66 แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน เพียงแค่ทำให้คดีลดน้อยลง
ผบ.ตร.กล่าวว่า การที่จะป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ได้ดีที่สุดนั้น คือการสร้างความรู้ การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อกลโกงของคนร้ายบนโลกออนไลน์ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งคณะทำงานสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีกิจกรรมโครงการณรงค์ต่างๆ ซึ่งทำอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด รวมถึงโครงการโดยมีมาตรการสำคัญดังนี้
1) ร่วมกับทุกภาคส่วนและ กต.ตร.ในการสร้างการรับรู้ ต้านภัยออนไลน์ โดยใช้ข้อความที่เป็นสาระเดียวกันทุกหน่วยงานเป็น“ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” เพื่อสื่อสารข้อความดังกล่าวไปยังบุคคลากรในหน่วยงาน ประชาชนที่มาติดต่อราชการ หรือลูกค้าที่มาใช้บริการหรือซื้อสินค้า
2) ร่วมกับภาคการศึกษา อบรมให้ความรู้ภัยโกงทางไซเบอร์ พัฒนาหลักสูตรการเตือนภัยไซเบอร์ให้เหมาะสมกลุ่มเป้าหมายและอายุ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนต้านภัยไซเบอร์สำหรับเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาในสถานบันการศึกษา
3)ร่วมกับภาคสื่อมวลชน นำเสนอข่าวเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะรายละเอียดขั้นตอนการโกง เพื่อเป็นแนวทางการป้องกัน รวมทั้งสนับสนุนการเผยแพร่ข้อความ ข่าว รูป ป้ายประชาสัมพันธ์ เนื้อหาเกี่ยวกับเตือนภัยออนไลน์ระหว่างออกอากาศของช่องสื่อ
4) ร่วมกับภาครัฐ ผลิตแอพไซเบอร์วัคซีน
ผบ.ตร.ยังสั่งการให้ทุกกองบัญชาการระดมกวาดล้างอาชญากรรมออนไลน์ทุกประเภท ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2566 โดยเฉพาะบัญชีม้า ซิมม้า ที่เป็นต้นตอสาเหตุ ฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อเปิดบัญชีม้า ซิมม้า หากถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดจะมีโทษตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา ซื้อหรือขายบัญชีจะมีจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,0000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนมีข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดบัญชีม้า ซิมม้า สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที
นอกจากนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนและกำหนดแนวทางการบังคับใช้ พ.ร.ก. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่ง ผบ.ตร. เป็นประธานอนุกรรมการ ได้มีการประชุมหารือร่วมกับธนาคาร สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม เพื่อร่วมกำหนดมาตรการที่สำคัญ ได้แก่ กำหนดเหตุอันควรสงสัยว่ามีหรืออาจจะมีการกระทำความผิด ของสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรศัพท์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อระงับการทำธุรกรรม และส่งต่อข้อมูลกันเป็นระบบ ช่องทางติดต่อประสานงาน ทั้ง 21 ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรศัพท์ และ ตร.
พร้อมสั่งย้ำทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญกับการป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะการเพิ่ม ครูไซเบอร์ ให้เข้าถึงส่วนราชการ ภาคเอกชน สถานประกอบการ ร้านค้า ชุมชนต่าง เพื่อเข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด เพื่อให้ความรู้ประชาชน “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” พร้อมแนะนำให้ทำข้อสอบวัคซีน และบอกต่อคนอื่นๆ ให้ทำข้อสอบ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต้านภัยโกง
ผบ.ตร.กล่าวว่า “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการรับแจ้งความออนไลน์ ผ่านศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 30 มิถุนายน 2566 พบว่ามีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวน 287,122 คดี เฉลี่ยวันละกว่า 800 คดี รวมมูลค่าความเสียหายเกือบ 40,000 ล้านบาท มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1) คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3) คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 4) หลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และ 5) คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (คอลเซ็นเตอร์)
ฝากประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้ทำแบบทดสอบ วัคซีนไซเบอร์ จำนวน 40 ข้อ ซึ่งได้รวบรวมมาจากกลโกงของคนร้ายและสิ่งที่ประชาชนควรรู้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีความรู้ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์อีกทางหนึ่ง และขอให้บอกต่อเพื่อทำแบบทดสอบเพื่อให้มีความรู้เป็นภูมิคุ้มกันภัยกันทุกคน และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ เชื่อว่าไซเบอร์วัคซีนนี้ ถือเป็นวัคซีนที่ดี เมื่อได้รับภูมิแม้เพียงครั้งเดียว ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันได้ต่อเนื่องตลอดไป ถ้าคนไทยทุกคนได้รับวัคซีนนี้อย่างทั่วถึง จะเป็นการป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ได้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลมากที่สุด ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรสายด่วน 1441 “