วันอาทิตย์, กันยายน 22, 2024
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์กสม. ชี้กรณีดีเอสไอยึดโทรศัพท์เจ้าหน้าที่ในสังกัดไปตรวจสอบ เป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว

Related Posts

กสม. ชี้กรณีดีเอสไอยึดโทรศัพท์เจ้าหน้าที่ในสังกัดไปตรวจสอบ เป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว

วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 25/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1.กสม. ชี้ กรณีดีเอสไอยึดโทรศัพท์มือถือของเจ้าหน้าที่ในสังกัดไปตรวจสอบ หลังพบเอกสารราชการหลุด เป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของเจ้าหน้าที่

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมกราคม 2566 จากผู้ร้องรายหนึ่งระบุว่า เมื่อเดือนกันยายน 2565 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษกับพวก รวม 6 คน ได้เข้ามาที่สำนักเลขานุการกรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสั่งให้เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานในสำนักดังกล่าว ส่งมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนบุคคล พร้อมทั้งให้เขียนชื่อและรหัสผ่าน (password) ให้ โดยแจ้งว่าจะนำไปตรวจสอบเกี่ยวกับคดีพิเศษเป็นกรณีเร่งด่วน และสั่งให้ทำหนังสือยินยอมให้ตรวจสอบข้อมูลด้วย ผู้ร้องเห็นว่า การยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ใช่การปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจที่เกี่ยวข้องกับคดีพิเศษแต่อย่างใด จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้ให้การรับรองสิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัวไว้ การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัว หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

จากการตรวจสอบรับฟังได้ว่า ในวันเกิดเหตุเมื่อเดือนกันยายน 2565 อธิบดีและรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าไปที่ส่วนช่วยอำนวยการและประสานราชการ สำนักเลขานุการกรม เนื่องจากพบเบาะแสว่ามีเอกสารราชการซึ่งเป็นหนังสือร้องเรียนข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษถูกถ่ายภาพส่งออกไปให้บุคคลภายนอก โดยมีการนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ที่ส่วนงานดังกล่าวไปตรวจสอบ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษชี้แจงว่า การนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเป็นการกระทำภายใต้ความสมัครใจยินยอม เพื่อตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าลักษณะเป็นความผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว กสม. เห็นว่า อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรม ชอบที่จะใช้อำนาจดำเนินการตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 บัญญัติไว้ โดยสามารถตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ได้หากมีการกระทำความผิดจริง ทั้งนี้ การเลือกใช้วิธีสืบสวนข้อเท็จจริง ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้จะสามารถระบุตัวเจ้าหน้าที่ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยให้เหลือน้อยลง และคณะกรรมการทางวินัยยังสามารถเรียกเอกสารหลักฐานและพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบสวนได้ ประกอบกับกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาที่มีความยุ่งยากซับซ้อน การสืบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์ส่งเอกสารราชการให้บุคคลภายนอกจึงไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ระหว่างนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปตรวจสอบนั้น เจ้าหน้าที่รายหนึ่งได้ยอมรับต่อผู้บังคับบัญชาว่าเป็นผู้กระทำการดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหากดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ย่อมสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ไม่ยาก และการเลือกใช้ขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดจะไม่กระทบสิทธิในความเป็นส่วนตัว และสิทธิในการติดต่อสื่อสารถึงกันของเจ้าหน้าที่อื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้น การที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเลือกใช้วิธีการนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบย่อมเป็นการกระทำในลักษณะเหมารวมซึ่งเกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน

แม้กรมสอบสวนคดีพิเศษอ้างว่า การนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบกระทำภายใต้ความสมัครใจยินยอมของเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อพิจารณาถึงสถานะและการดำรงตำแหน่งบริหารของอธิบดีกับพวก การให้ความยินยอมดังกล่าวน่าเชื่อว่าไม่ได้เกิดจากความสมัครใจยินยอมอย่างแท้จริง แต่อาจเป็นเพราะความเกรงกลัวต่ออำนาจบังคับบัญชาที่สามารถให้คุณให้โทษได้ ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกการให้ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ผู้ถูกตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่าไม่ได้สมัครใจยินยอมให้ตรวจสอบแต่อย่างใด ดังนั้น การยินยอมในสถานการณ์เช่นนั้นจึงเป็นเพราะตกอยู่ในสภาวะจำยอม และนำมาสู่การร้องเรียนตามคำร้องนี้

ดังนั้น การที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเลือกใช้วิธีการนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ โดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จึงกระทบต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ไม่เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และไม่สอดคล้องกับประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนที่กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนพึงปฏิบัติตนเพื่อรักษาจริยธรรม ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามกฎหมายและตามทำนองคลองธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การกระทำดังกล่าวของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษกับพวก จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกระทรวงยุติธรรม โดยให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการกับอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษกับพวก ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนข้างต้น นอกจากนี้ให้กำชับหน่วยงานในสังกัดให้ระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้อำนาจที่อาจกระทบต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัว หรือการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ โดยให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิความเป็นส่วนตัวเป็นสำคัญด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts