มื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ รัฐสภา กลุ่มองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย นำโดย น.ส.โรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรฯ ยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปกป้องและคุ้มครองช้างไทย พ.ศ…. และรายชื่อผู้เสนอร่างดังกล่าวจำนวน 16,495 รายชื่อ ต่อ
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมี น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานการเมืองของประธานสภาฯ เป็นผู้รับแทน
น.ส.โรจนา กล่าวว่า ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติไทย มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมมายาวนาน แต่ปัจจุบันองค์กรฯ พบว่าช้างไทยกำลังประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งด้านสวัสดิภาพ การทารุณกรรม ด้านข้อจำกัดทางกฎหมาย จากข้อมูลปัจจุบันประเทศไทยมีช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประมาณ 2,800 เชือก เพิ่มขึ้น 70% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ช้างเหล่านี้ต้องถูกแยกจากแม่ตั้งแต่ยังเล็กเพื่อนำมาฝึกอย่างโหดร้ายทารุณ และถูกนำไปใช้งานในสถานบันเทิง อุตสาหกรรมท่องเที่ยว จนกลายเป็นจุดขายของประเทศไทย ทั้งที่นักท่องเที่ยวไม่เคยทราบว่าช้างถูกฝึกอย่างโหดร้าย ถูกบังคับ ได้รับอาหารไม่เพียงพอ ถูกผสมพันธุ์ ที่ผู้ประกอบการอ้างเพื่อนำมาหากิน ทำให้ปัจจุบันช้างเลี้ยงต่างจากช้างป่า มีความเป็นอยู่ในเกณฑ์ที่ย่ำแย่ ช้างเลี้ยงไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าช้างป่า และวิกฤตโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่มีความสามารถดูแลช้างที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสม
จากปัญหาดังกล่าวองค์กรฯ จึงจัดทำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองช้างไทยขึ้นมาโดยเนื้อหามุ่งเน้นไปที่การยุติความโหดร้ายทารุณต่อช้างทุกรูปแบบ ยุติการผสมพันธุ์เชิงพาณิชย์ การกำหนดมาตรการขั้นต่ำด้านสวัสดิภาพหลักสากล การลดความซับซ้อนทางกฎหมาย การป้องกันการค้าช้างหรือชิ้นส่วนช้างผิดกฎหมาย จนไปถึงการจัดตั้งคณะกรรมการและกองทุนเพื่อสวัสดิภาพของช้าง ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความคิดเห็นของประชาชน ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและคนเลี้ยงช้างที่ร่วมลงชื่อในการสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว