วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2024
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่(กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 27/2566)

Related Posts

(กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 27/2566)

กสม. ชี้ กรณีสื่อมวลชนเสนอข่าว “น้องต่อ” ละเมิดสิทธิเด็ก และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว – ระบุกรณีเจ้าหน้าที่ สภ.ปากน้ำ จ.ระนอง ทำร้ายแรงงานชาวเมียนมาระหว่างควบคุมตัว เป็นการละเมิดสิทธิผู้ต้องหา – แนะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หยุดเผยแพร่สื่อที่สร้างความเข้าใจผิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 27/2566 โดยมีวาระสำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้

  1. กสม. ชี้กรณีสื่อมวลชนเสนอข่าว “น้องต่อ” เป็นการละเมิดสิทธิเด็กอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวเด็กชายวัย 8 เดือน หรือ “น้องต่อ” หายตัวไปจากบ้านพักในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีการนำเสนอข่าวและสอบถามข้อมูลด้วยคำถามที่ไม่เหมาะสมและเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก และมารดาซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี รวมถึงครอบครัวและบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสู่สาธารณะ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับผลการตรวจสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) และเปิดเผยใบหน้า ซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิเด็กอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ กสม. จึงมีมติในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นควรให้หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นตรวจสอบ

กสม. พิจารณาข้อเท็จจริง หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 และมาตรา 32 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 17 ประกอบกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ได้รับรองและคุ้มครองว่าการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็กต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก และเด็กจะไม่ถูกกระทำโดยมิชอบต่อเกียรติและชื่อเสียงรวมถึงในความเป็นส่วนตัวและครอบครัว และห้ามมิให้เผยแพร่ทางสื่อซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครองโดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ

จากการตรวจสอบรับฟังได้ว่า กรณีเด็กชายรายดังกล่าวหายตัวไปจากบ้านพัก และเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ตรวจหาดีเอ็นเอของบุคคลที่เกี่ยวข้องในการสืบสวนสอบสวน ต่อมาปรากฏรายงานข่าวของสื่อต่าง ๆ กล่าวอ้างว่า ได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าผลการตรวจดีเอ็นเอของเด็กตรงกับบุคคลอื่นซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิดของครอบครัวและยังเปิดเผยรูปพรรณสัณฐานของบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นด้วย และมีรายงานเพิ่มเติมว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวมารดาของเด็กส่งศาลเยาวชนและครอบครัว โดยเบื้องต้นได้แจ้งข้อหาความผิดทางอาญาหลายฐานนั้น

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในลักษณะดังกล่าวมีการเปิดเผยทั้งอัตลักษณ์ ข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะเกี่ยวกับผลการตรวจหาดีเอ็นเอของเด็กและมารดาซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปี อันเป็นการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลที่เกินกว่าความจำเป็นเพื่อกิจการสื่อมวลชนโดยมิได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก และไม่เป็นไปตามจริยธรรมทางการประกอบวิชาชีพ ส่งผลกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียงของเด็กและครอบครัว สำหรับการเปิดเผยอัตลักษณ์ของมารดาเด็กซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาก็ถือว่าขัดต่อหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) โดยข้อมูลของบุคคลนั้น ๆ จะยังอยู่ในระบบและสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งนำไปสู่การตีตราอันกระทบต่อสิทธิที่จะถูกลืม (Rights to be Forgotten) ในชั้นนี้ จึงรับฟังได้ว่าการเผยแพร่ข่าวของสื่อมวลชนกรณีดังกล่าว เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเด็กอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อปัจจุบันเป็นยุคแห่งการสื่อสารดิจิทัล ซึ่งทุกคนสามารถเป็นสื่อในโลกออนไลน์ได้ แต่เฉพาะบุคคลที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็น โดยสามารถใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อกิจการสื่อมวลชนอันเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบอาชีพหรือเป็นประโยชน์สาธารณะ ตามมาตรา 4 (3) พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้ ดังนั้น องค์กรสื่อมวลชนจึงต้องร่วมมือกันเพื่อดำรงจริยธรรมแห่งวิชาชีพ โดยพึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอาชญากรรมที่อาจนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น เพื่อยกระดับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารของสังคมโดยรวมให้มีความรับผิดชอบร่วมกัน จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ สรุปได้ดังนี้

(1) ให้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติประสานกับผู้ให้บริการโปรแกรมการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ลบข่าวที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะผลการตรวจดีเอ็นเอของเด็กชายรายดังกล่าว และข่าวเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการแก้ไขเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น และให้มีนโยบายและแนวปฏิบัติการนำเสนอข่าวที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมกำชับให้สื่อในกำกับดูแลปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและขอความร่วมมือกับสื่อที่ไม่เป็นสมาชิกให้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับบุคคลที่เป็นข่าวด้วย

(2) ให้สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกำชับการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์และวิทยุ ให้ระมัดระวังไม่นำเสนอข่าวที่เป็นการละเมิดสิทธิเด็กและสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัวของบุคคลที่เกี่ยวข้อง และให้แก้ไขเยียวยากรณีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน

(3) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำชับบุคลากรในทุกระดับชั้นที่ปฏิบัติหน้าที่สอบสวนและสืบสวน เผยแพร่ข้อมูลรูปคดีเท่าที่จำเป็น และต้องพึงระมัดระวังการกระทบสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts