วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2024
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่กสม. ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ สภ.ปากน้ำ จ.ระนอง ทำร้ายแรงงานชาวเมียนมาระหว่างควบคุมตัว ชี้ละเลยการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของผู้ต้องหา

Related Posts

กสม. ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ สภ.ปากน้ำ จ.ระนอง ทำร้ายแรงงานชาวเมียนมาระหว่างควบคุมตัว ชี้ละเลยการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของผู้ต้องหา

นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม สถานีตำรวจภูธรปากน้ำ จังหวัดระนอง (ผู้ถูกร้อง) ได้ตรวจค้นและจับกุมชายแรงงานชาวเมียนมารายหนึ่ง (ผู้เสียชีวิต) ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยในระหว่างควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ได้ข่มขู่ ทำร้ายร่างกายและบังคับให้แรงงานรายดังกล่าวดื่มน้ำซึ่งคาดว่าอาจผสมสารบางชนิดที่ทำให้ปวดศีรษะอย่างรุนแรงเพื่อให้รับสารภาพ ต่อมาขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวบิดาเลี้ยงและมารดาของผู้เสียชีวิต รวมทั้งตัวผู้เสียชีวิต ไปยังสถานีตำรวจภูธรปากน้ำ มารดาสังเกตเห็นว่าผู้เสียชีวิตมีอาการไม่ค่อยดี ไม่มีสติรู้ตัว จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งต่อมาแรงงานรายดังกล่าวได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565 ผู้ร้องเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจกระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 4 ประเด็นดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกร้องได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้เสียชีวิต ด้วยการทำร้ายร่างกายผู้เสียชีวิตหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 7 ข้อ 9 และข้อ 10 ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ นอกจากนี้ การควบคุมตัวผู้ต้องหา อันเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญา ตามมาตรา 84 มาตรา 84/1 และมาตรา 87 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบมาตรา 6 (3) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตร่างกายและอนามัยของผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการถูกควบคุมตัวตลอดเวลาด้วย

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันเกิดเหตุก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว ผู้เสียชีวิตมีร่างกายแข็งแรง มีสติสัมปชัญญะเช่นบุคคลทั่วไป และไม่ปรากฏอาการบาดเจ็บใด ๆ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้เสียชีวิตไปยังสถานีตำรวจภูธรปากน้ำเพื่อตรวจหาสารเสพติด ก็พบว่าผู้เสียชีวิตได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งผู้เสียชีวิตได้แจ้งกับพยานรายหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับให้ดื่มน้ำบางอย่างที่ผู้เสียชีวิตไม่ทราบชนิดทำให้ผู้เสียชีวิตปวดหัวอย่างรุนแรง ทั้งยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกาย เมื่อนำรายงานการตรวจชันสูตรศพของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มาประกอบการพิจารณาพบว่า ผู้เสียชีวิตมีร่องรอยบาดแผลบริเวณแก้มก้นและแผ่นหลังซึ่งมีลักษณะค่อนข้างใหม่ที่ไม่ได้เกิดจากการปั๊มหัวใจ นอกจากนี้ผลการตรวจชันสูตรศพการตรวจทางนิติพิษวิทยาที่กระเพาะอาหารของผู้เสียชีวิตไม่พบยา สารพิษ และสารเสพติด เพียงแต่พบปริมาณแอลกอฮอล์จากเลือดน้อยกว่า 10.00 mg% ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้เสียชีวิตได้ให้ข้อมูลว่าก่อนออกไปทำงานผู้เสียชีวิตได้เสพยาบ้าไป 1 เม็ด และไม่ได้เสพยาบ้าจำนวน 50 เม็ด ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหา

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเชื่อว่า การบาดเจ็บของผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม อันแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้ความสำคัญที่เพียงพอต่อการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของผู้ที่อยู่ระหว่างการควบคุมตัว จึงถือได้ว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย

ประเด็นที่สอง การใส่กุญแจมือผู้เสียชีวิตในขณะหมดสติและอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถจะต่อสู้หรือหลบหนีได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา วางหลักเรื่องการจับกรณีบุคคลซึ่งถูกจับขัดขวางหรือพยายามจะหลบหนี ให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำการจับสามารถใช้วิธีป้องกันได้เท่าที่เหมาะสมกับพฤติการณ์ แต่กรณีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจใส่กุญแจมือผู้เสียชีวิตขณะที่ผู้เสียชีวิตหมดสติอยู่ในพฤติการณ์ที่ไม่สามารถจะต่อสู้ หรือหลบหนีได้ จึงเห็นว่า เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่สาม การจับกุมและควบคุมตัวบิดา และมารดาของผู้เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไว้ว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ และหากถูกจับกุมจะต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม รวมถึงข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องใส่กุญแจมือบิดาและมารดาของผู้เสียชีวิตพร้อมทั้งควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจภูธรปากน้ำ แต่กลับปล่อยตัวทั้งสองในภายหลังโดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาใด ๆ และปราศจากพยานหลักฐานว่ามีการกระทำความผิดหรือไม่ จึงเป็นการใช้อำนาจที่ไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่สี่ เรื่องสาเหตุการเสียชีวิต ปรากฏว่า พนักงานอัยการจังหวัดระนองได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดระนองเพื่อขอให้ไต่สวนการตายแล้ว ขณะตรวจสอบและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดระนอง ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 39 (1) บัญญัติให้เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล เป็นเรื่องที่ห้ามมิให้ กสม. พิจารณา จึงมีมติให้ยุติการตรวจสอบในประเด็นนี้

จากเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ต้องหาแรงงานชาวเมียนมารายดังกล่าว เยียวยาความเสียหายให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต และดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรมต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts