วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ. ร่วมกันแถลงผลการตรวจค้นคลินิกเถื่อน ย่านทองหล่อ เปิดให้บริการรักษาลูกค้าต่างชาติ โดยใช้บุคลากรทางการแพทย์จากประเทศเพื่อนบ้านรักษา และมีสาขาทั่วโลก กว่า 15 สาขา ตรวจยึดของกลาง 51 รายการ มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับการประสานจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ว่าได้รับเรื่องเรียน จากประชาชน สงสัยว่าสถานพยาบาลแห่งหนึ่งย่านทองหล่อ เปิดสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และแพทย์ผู้ทำการรักษาไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ รวมทั้งสงสัยว่ายาที่ใช้ในการรักษา จดทะเบียนตำรับยาหรือไม่ จึงทำการสืบสวนจนทราบว่า สถานพยาบาลดังกล่าว ชื่อว่า CCOCO BEAUTY CLINIC ตั้งอยู่ 33/7 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร และมีการเปิดดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าคลินิกดังกล่าวประกอบกิจการโดย บริษัท ซี โคโค่ บิวตี้ คลินิก จำกัด โดยมีบุคคลสัญชาติจีน เป็นกรรมการบริษัท และมีการเปิด สถานพยาบาลในชื่อ CCOCO BEUTY ในหลายประเทศทั่วโลกกว่า 15 สาขา เช่น จีน, ญี่ปุ่น, อังกฤษ, ออสเตรเลีย เป็นต้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญากรุงเทพใต้เข้าทำการตรวจค้นสถานพยาบาลดังกล่าว โดยขณะเข้าตรวจค้นพบว่า คลินิกดังกล่าวเปิดรักษาแก่ประชาชนทั่วไป และมีประชาชนเข้ารับบริการ ซึ่งมี Miss EI MON (สงวนนามสกุล) สัญชาติ เมียนมาร์ อ้างตนเป็นแพทย์ประจำคลินิก ทำการตรวจรักษาและ ฉีดวิตามินบำรุงผิวกับประชาชน โดย Miss EI MONฯ รับว่า ตนเป็นชาวเมียนมาร์ จบการศึกษาทางด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยในประเทศเมียนม่า เมื่อจบการศึกษาแล้ว ได้มีผู้ชักชวนให้มาทำงาน ณ สถานพยาบาลดังกล่าวในลักษณะพาร์ทไทม์ รับค่าจ้างครั้งละ 2,000 บาท โดยทำงานมาแล้วประมาณ 1 เดือน ซึ่งจากการตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน พบว่าได้รับสิทธิอนุญาตให้ทำงานเพียงเป็นผู้จัดการทั่วไป แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของประเทศไทยแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตรวจยึดของกลาง 51 รายการ เป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 23 รายการ, เครื่องมือแพทย์ จำนวน 12 รายการ และเครื่องสำอาง จำนวน 16 รายการ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 5,000,000 บาท พร้อมจับกุมผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี
พนักงานสอบสวนฯ ได้ดำเนินคดี Miss EI MONฯ ในความผิดฐาน“ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิจะทำได้” โดย MISS EI MONฯ ให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหาโดยศาลพิพากษา จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท จำรอ 6 เดือน โทษจำรอลงอาญา
ในส่วนเจ้าของคลินิกดังกล่าว ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อจะได้เรียกมาแจ้งข้อกล่าวหา ในความผิดฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา,ขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต,ขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง,ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้ง,และข้อหาตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของบุคคลต่างด้าว ต่อไป
ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ประจำคลินิก แจ้งว่าสำหรับสาขาในประเทศไทย เปิดขึ้นมาเพื่อรองรับลูกค้าชาวต่างประเทศ และลูกค้าที่มาจากสาขาต่างประเทศ ไม่รับลูกค้าที่เป็นคนไทย โดยคลินิกแห่งนี้ได้เปิดดำเนินการมาแล้วประมาณ 9 เดือน
อนึ่ง จากการตรวจสอบการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ของสถานพยาบาลดังกล่าว พบว่ามีการใช้ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ชื่อดัง ที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ กิจการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ออกหมายเรียกบุคคลดังกล่าวเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวมีความผิดตาม
กรณีแพทย์ที่ทำการรักษา
- พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของบุคคลต่างด้าว พ.ศ.2560 ฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิจะทำได้” ระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับประเทศ
กรณีกรรมการ บริษัท มีความผิดฐาน - พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ฐาน “ขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ฐาน” ขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
- พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของบุคคลต่างด้าว พ.ศ.2560 ฐาน “รับคนต่างด้าวที่ไม่ไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากมีสิทธิที่จะทำได้”ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรศึกษาข้อมูลคลินิก แพทย์และขั้นตอนการรักษาให้ดีก่อนที่จะเข้ารับบริการรักษาโรค หรือเสริมความงามเนื่องจากเป็นขั้นตอนและวิธีการที่จะต้องใช้ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและเกิดผลกระทบกับร่างกายโดยตรง ควรตรวจสอบคลินิกและแพทย์ที่ทำการรักษาว่าได้รับอนุฐาตถูกต้องหรือไม่ และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค