วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่กสม. ชง พม. แก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว แนะบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานให้รวดเร็วและเป็นระบบ - เสนอสภาวิชาชีพสื่อ-สตช. กำกับดูแลการนำเสนอข่าวอาชญากรรมและข่าวที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเด็ก โดยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว

Related Posts

กสม. ชง พม. แก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว แนะบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานให้รวดเร็วและเป็นระบบ – เสนอสภาวิชาชีพสื่อ-สตช. กำกับดูแลการนำเสนอข่าวอาชญากรรมและข่าวที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเด็ก โดยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว

กสม. ชง พม. แก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว แนะบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานให้รวดเร็วและเป็นระบบ – เสนอสภาวิชาชีพสื่อ-สตช. กำกับดูแลการนำเสนอข่าวอาชญากรรมและข่าวที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเด็ก โดยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว

วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 28/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  1. กสม. ชง พม. แก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พัฒนากลไกป้องกันและแก้ไขปัญหาระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นระบบ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพเหยื่ออย่างทันท่วงที

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า สื่อมวลชนได้นำเสนอเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เช่น กรณีพ่อเลี้ยงทำร้ายร่างกายลูกเลี้ยง อายุ 8 ปี ทำให้ร่างกายของเด็กบอบช้ำหนัก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา และกรณีหญิงวัย 29 ปี (ผู้เสียหาย) ฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ตนเองหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีกับพี่เขยซึ่งก่อเหตุข่มขืนผู้เสียหาย สะท้อนให้เห็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคมไทย โดยเป็นผลสืบเนื่องจาก (1) การไม่มีกลไกในการติดตามสอดส่องครอบครัวที่มีสัญญาณการใช้ความรุนแรง เพื่อเข้าแทรกแซงและป้องกันความรุนแรงได้อย่างทันท่วงที (2) กลไกจำแนก คัดกรอง และติดตามการรักษาของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะติดตามเฝ้าระวังในระดับชุมชน (3) คดีที่เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ยังพบข้อจำกัดที่ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพโดยพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างทันท่วงที และ 4) กลไกคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดการกำหนดมาตรการรองรับการบังคับใช้กฎหมาย ด้วยเหตุผลข้างต้น ผู้ร้องจึงประสงค์ให้ กสม. มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข้างต้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

กสม. พิจารณาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน เอกสาร งานวิจัย และความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย รัฐมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งให้การบำบัด ฟื้นฟูและเยียวยาผู้ถูกกระทำการดังกล่าว ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 บัญญัติให้การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อันสอดคล้องตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ขณะเดียวกัน อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ก็ได้รับรองสิทธิของผู้หญิงและผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวให้ได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยด้วย

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กระทรวง พม.) ปรากฏว่า ตั้งแต่ปี 2560 – 2565 มีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 ปรากฏว่า มีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเข้ารับบริการประมาณ 15,000 ราย ซึ่งเป็นเพศหญิงมากที่สุด โดยพบอุปสรรคและข้อจำกัดป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เช่น ความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานของหลายหน่วยงาน ทั้งในระดับส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่นหรือชุมชน โดยไม่มีฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทำให้การจัดเก็บข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับเหตุการณ์และจำนวนผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวของแต่ละหน่วยงานไม่ตรงกันและไม่สอดคล้องกับสภาพความจริงที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณ และการขับเคลื่อนนโยบายในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดด้านความพร้อมของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณงาน อุปสรรคจากทัศนคติดั้งเดิมของคนในสังคมที่มักมองว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวที่บุคคลภายนอกไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทำให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์ไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุ ขณะที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเองก็ไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลเพื่อขอความช่วยเหลือตามกฎหมาย

แม้ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยเน้นให้ผู้กระทำความผิดมีโอกาสกลับตัวและยับยั้งการกระทำความผิดซ้ำ เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีและความมั่นคงของสถาบันครอบครัว และกำหนดให้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดอันยอมความได้ โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลตั้งผู้ประนีประนอม เพื่อช่วยเหลือไกล่เกลี่ยให้ยอมความ หรือมอบหมายให้นักสังคมสงเคราะห์ หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลใดช่วยเหลือไกล่เกลี่ยให้ยอมความกันก็ได้ แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงอย่างแท้จริง จึงสมควรพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สามารถปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

(1) ให้กระทรวง พม. จัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะการออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกัน ยับยั้ง และแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

(2) ให้กระทรวง พม. กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันพัฒนาระบบงานและปรับปรุงฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกลไกที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นหรือชุมชน ซึ่งอาจกำหนดให้กระทรวง พม. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน และจัดอบรมให้ความรู้และพัฒนาทักษะผู้ปฏิบัติงานระดับชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งสร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ด้วย

(3) ให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการพัฒนาระบบงานและการบริการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และจัดเก็บข้อมูลหลักฐานทางการแพทย์ พร้อมประวัติของผู้ป่วยกรณีสงสัยว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวให้ครบถ้วน เป็นระบบ และมีมาตรฐานเดียวกัน และจัดอบรมพัฒนาศักยภาพและซักซ้อมแนวปฏิบัติตามมาตรฐานในกระบวนการปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือคุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวให้แก่บุคลากรด้านสาธารณสุข

(4) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติปรับปรุงระเบียบและแนวทางการปฏิบัติงานเกี่ยวกับกรณีการสอบสวนคดีความรุนแรงในครอบครัวให้มีรูปแบบและขั้นตอนที่ชัดเจน เป็นระบบ และมีมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งควรเพิ่มจำนวนพนักงานสอบสวนหญิงและจัดอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและทัศนคติที่เป็นมิตรในการดำเนินคดีความรุนแรงในครอบครัวให้แก่พนักงานสอบสวนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กสม. ยังมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ไปยังกระทรวง พม. ให้แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาระบบงานของกลไกป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และกลไกส่งเสริมการพัฒนาสถาบันครอบครัว ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นหรือชุมชน ให้มีความเข้มแข็งและบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกมิติ เช่น การเชื่อมโยงฐานข้อมูล การเฝ้าระวัง การรับแจ้งเหตุ การระงับเหตุ การประสานส่งต่อ การให้ความช่วยเหลือ การคุ้มครองผู้เสียหาย การแก้ไขปัญหา การดำเนินคดี และการเยียวยาฟื้นฟู ฯลฯ รวมทั้งให้ทบทวนบทบัญญัติที่กำหนดให้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดอันยอมความได้ ไม่ว่าการพิจารณาคดีดังกล่าวจะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใด เพื่อให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีสิทธิได้รับความคุ้มครองและความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเป็นธรรม รวดเร็ว และเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts