“…เนื่องจากลักษณะเฉพาะของข้อเท็จจริงการได้มาซึ่งทรัพย์สินย่อมอยู่ในความรู้เห็นของผู้ถูกกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียว หากเป็นทรัพย์สินโดยสุจริต ผู้ถูกกล่าวหาย่อมเป็นบุคคลที่รู้ดีที่สุดว่าทรัพย์สินเหล่านั้นได้มาโดยสุจริตด้วยวิธีการใด อย่างไร…”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2565 ราชกิจจานุเบกษา แพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 1/2565 เรื่อง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 81 วรรคสอง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรรคสาม หรือไม่
คดีที่ศาลอุทธรณ์ส่งคำโต้แย้งของผู้คัดค้าน 2 ราย ประกอบด้วย นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ผู้คัดค้านที่ 1 และ นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ ผู้คัดค้านที่ 5 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ปช.1/2559 และคดีหมายเลขแดงที่ ปช.1/2561 เพื่อขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ กรณีที่ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของนายธาริตและนางวรรษมล จำนวน 49 รายการ รวมมูลค่า 341 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกผลของทรัพย์สินดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดิน แต่นายธาริต ได้ยื่นคำคัดค้านคำสั่งและโต้แย้งว่า มาตราดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2565 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้คำร้องของ นายธาริต และ นางวรรษมล ถูกตีตก
สำหรับคำวินิจฉัยฉบับเต็ม มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
ที่มา
อัยการสูงสุด ผู้ร้อง ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติของผู้คัดค้านทั้ง 2 คนตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 80 (4) มาตรา 81 และ มาตรา 83 ต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ รวมจำนวน 49 รายการ มูลค่า 341,797,811.58 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินที่ได้โดยร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน หากไม่อาจบังคับเอาแก่ทรัพย์สินได้ทั้งหมดหรือบางส่วน ให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้คัดค้านที่ 1 ได้ภายในอายุความ 10 ปี แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นอุทธรณ์ ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ ยื่นคำโต้แย้งว่า การร้องขอคดีนี้ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกำหนดให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับอนุโลม ระบุว่า ฝ่ายใดกล่าวอ้าง ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ แต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 81 วรรคสอง กำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหามีภาระการพิสูจน์ที่ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาเพราะเป็นคดีแพ่งที่มีกฎหมายกำหนดสิทธิดังกล่าวไว้
และฝ่ายผู้กล่าวหาเป็นรัฐซึ่งมีอำนาจตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานและเข้าถึงพยานหลักฐานต่างๆ มากกว่าผู้ถูกกล่าวหา ไม่เป็นการเสมอกันหรือเท่าเทียมกันในกฎหมาย เป็นการเลือกปฏิบัติ และละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 81 วรรคสอง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 ประกอบมาตรา 4 และมาตรา 5
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวบังคับแก่คดีและยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น จึงส่งคำโต้แย้งดังกล่าวต่อศาลรัฐธรมนุญ เพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับไว้พิจารณาวินิจฉัย และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งเอกสารหรือหลักฐานยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
1.เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดส่งสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และสำเนารายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2542
2.เลขาธิการ ป.ป.ช. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นว่า ภาระการพิสูจน์ของผู้ถูกกล่าวหาในคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เป็นการพัฒนาของกฎหมายตามลำดับ
ทั้งนี้เนื่องจากข้อเท็จจริงการได้มาซึ่งทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหา เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นเอง ผู้ถูกกล่าวหาสามารถที่จะเข้าถึงพยานหลักฐานที่เกี่ยวพันกับข้อเท็จจริงนั้นได้ และการได้มาทรัพย์สินมาในทางไม่ชอบมักจะไม่ปรากฎหลักฐานที่เพียงพอที่จะชี้ชัดได้ว่าเป็นการได้มาโดยชอบ เป็นการสมควรที่กฎหมายต้องกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้มีหน้าที่พิสูจน์ว่าทรัพย์สินมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติอย่างไร เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ความเห็น
พิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีเหตุผลในการประกาศไว้ว่า โดยที่มาตรา 301 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ … และไต่สวนวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแห่นงหน้าที่ … ซึ่งมาตรา 331 บัญญัติให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่วาต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการร่ำรวยผิดปกติและการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและส่วนรวม รวมทั้งหลักเกณฑ์วิธีการและกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อกล่าวห
ตลอดจนโทษที่ประธานกรรมการหรือกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะได้รับในกรณีที่กระทำการโดยขาดความเที่ยงธรรม กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เห็นได้ว่า การที่รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าว กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ในการกำหนดมาตรการหรือกลไกพิเศษของกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามการทุจริตนอกเหนือจากคดีอาญาทุจริต ที่ถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติเป็นการกระทำละเมิดต่อรัฐ และกำหนดให้รัฐใช้การดำเนินการทางแพ่งต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติ โดยไม่พิจารณาความผิดของเจ้าของทรัพย์สินว่าจะมีความผิดทางอาญาหรือทางวินัยหรือไม่ อันเป็นการสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต ค.ศ.2003 ทั้งนี้ เพื่อตัดวงจรและทำลายแรงจูงใจในการประกอบอาชญากรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐกับสังคมส่วนรวม
พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 หมวด 7 การร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตั้งแต่มาตรา 78 ถึง มาตรา 83 กำหนดว่าการร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินมีสองกรณี
กรณีแรก เป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่าทรัพย์สินรายใดของผู้ถูกกล่าวหาเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติ และมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมีการโอน ยักย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สินดังกล่าว ป.ป.ช.มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์ไว้ชั่วคราว แล้ว ป.ป.ช.ต้องจัดให้มีการพิสูจน์ทรัพย์โดยเร็ว ถ้าผู้ถูกกล่าวหาแสดงหลักฐานได้ว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง ให้ ป.ป.ช.มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์ไว้จนกว่าจะมีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล หรือจนกว่าจะมีคำพิพากษายกฟ้องคดีนั้น
กรณีที่สอง การยึดหรืออายัดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 80 กำหนดว่า กรณี ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริง และมีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ ให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือให้ส่งเรื่องอัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณา แล้วแต่กรณี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจาก ป.ป.ช.
พนักงานอัยการยังคงมีภาระหน้าที่ในการนำสืบแสดงให้เห็นเหตุอันสมควรสงสัยว่าทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีภาระหน้าที่ในการนำสืบแสดงให้เห็นถึงเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์ดังกล่าวเชื่อมโยงกับการกระทำความผิดหรือไม่
หลังจากนั้น เจ้าของมีภาระพิสูจน์ให้เห็นว่า ทรัพย์สินของตนไม่สมควรถูกริบ เพราะเหตุผลในมาตรา 81 วรรคสอง ที่กำหนดว่า ในคดีที่ร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินให้ผู้ถูกกล่าวหามีภาระการพิสูจน์ที่ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า ทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ อันเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้พิสูจน์สิทธิต่อศาลได้อย่างเต็มที่
ข้อโต้แย้งของผู้คัดค้านทั้งสองที่ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 81 วรรคสอง กำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหามีภาระการพิสูจน์ที่ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา เห็นว่า การดำเนินการร้องขอให้ศาลแพ่งสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน พนักงานอัยการจะต้องยื่นคำร้องโดยมีเหตุผลที่ปรากฎหลักฐานอันเชื่อได้ว่าการมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่ตามความหมายของคำว่า ร่ำรวยผิดปกติ
การที่ศาลแพ่งจะมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินจะต้องทำการไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการก่อน ที่มีภาระการพิสูจน์ให้เชื่อก่อนว่าทรัพย์สินเกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติ เมื่อพนักงานอัยการนำสืบดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะพิสูจน์หรือมีภาระการพิสูจน์ให้ศาลแพ่งเห็นว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวกับการกระทำความผิด หากไม่สามารถนำสืบหักล้างได้ ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
การรับฟังพยานหลักฐานของศาลยังคงใช้หลักการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงมีความเหมาะสมและความจำเป็นที่จะกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้มีภาระการพิสูจน์ เนื่องจากลักษณะเฉพาะของข้อเท็จจริงการได้มาซึ่งทรัพย์สินย่อมอยู่ในความรู้เห็นของผู้ถูกกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียว หากเป็นทรัพย์สินโดยสุจริต ผู้ถูกกล่าวหาย่อมเป็นบุคคลที่รู้ดีที่สุดว่าทรัพย์สินเหล่านั้นได้มาโดยสุจริตด้วยวิธีการใด อย่างไร
ดังนั้น พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 81 วรรคสอง จึงเป็นการจำกัดสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอย่างสมเหตุสมผลพอเหมาะพอควรตามความจำเป็น และมีความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะกับสิทธิของบุคคลที่ถูกจำกัด ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล
ข้อโต้แย้งของผู้คัดค้านที่ว่า การร้องขอคดีนี้มีการยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 80 ให้นำประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้น การบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ให้นำมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เมื่อกฎหมายบัญญัติถึงภาระการพิสูจน์ในคดีที่ร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้ผู้ถูกกล่าวหามีภาระการพิสูจน์ไว้เป็นการเฉพาะ ไม่อาจอนุโลมนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ ข้อโต้แย้งของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 81 วรรคสอง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรรคสาม