การนำเสนอแนวคิดจัดตั้งสกุลเงิน BRICS เมื่อปีที่ผ่านมา ให้เป็นสกุลเงินสำรองใหม่ของโลก บนพื้นฐานของตะกร้าเงินสกุลเงินท้องถิ่นที่ใช้กันใน 5 ชาติสมาชิกของกลุ่มคือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และ แอฟริกาใต้ แม้จะเป็นเรื่องยุ่งยากในระยะสั้น จากความเห็นของ ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย แต่เขาก็ไม่ปฏิเสธว่า การใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างประเทศได้กลายเป็นจริงและกำลังเติบโตในระดับโลก
จากในอดีตที่ทุกประเทศต้องพึ่งพิงสกุลเงินดอลลาร์ การถูกแทรกแซงทางเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เมื่อเกิดแนวความคิดการจัดตั้งสกุลเงินร่วมกันสำหรับการค้าโลก ในฐานะสกุลเงินทางเลือกแทนดอลลาร์สหรัฐฯ จึงได้รับการสนับสนุนจากประเทศอื่นๆ จำนวนมาก ทั้งประเทศที่ต้องการเข้าร่วมกับ BRICS หรือยังไม่มีนโยบายเข้าร่วมกลุ่ม BRICS
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินรู้ดีว่า การเปิดตัวสกุลเงินท้องรูปแบบใหม่ ยังต้องใช้เวลายาวนาน ต้องผ่านกระบวนการบูรณาการและขั้นตอนต่างๆอีกมากมาย แต่ความสำเร็จของสกุลเงิน “ยูโร” เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นไปได้ หากมีความมุ่งมั่นในหมุดหมายเดียวกัน
ประเทศต่าง ๆ ตระหนักถึงประโยชน์ในแง่ของการทำการค้าระหว่างประเทศ ว่าจะต้องมีอิสระและตัวเลือกที่มากพอ การที่บรรดาสมาชิกกลุ่ม BRICS กำลังหาทางปลีกตัวเองออกจากดอลลาร์ในการทำการค้าร่วมกัน ด้วยแนวโน้มลดพึ่งพิงดอลลาร์ จึงไม่ต่างกับความหวังใหม่ในโลกแห่งเสรีภาพ ที่กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในความรู้สึกของบรรดาชาติกำลังพัฒนาที่ต้องการปลีกตัวเองออกห่างจากดอลลาร์ หันมาใช้สกุลเงินของตนเอง เพื่อตอบโต้การครอบงำระบบการเงินโลกของอเมริกา
ปัจจุบันประเทศต่างๆ จำนวนมากกว่า 40 ประเทศได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS โดย 22 ประเทศได้ยื่นเอกสารสมัครเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการแล้ว ขณะที่ประเทศที่เหลือแสดงความสนใจอย่างไม่เป็นทางการ โดยในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ซึ่งแอฟริกาใต้จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในวันที่ 22-24 ส.ค.นี้ ที่ประชุมจะประกาศรับ 5 ประเทศเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ อาร์เจนตินา และอินโดนีเซีย
แน่นอนว่าการลดพึ่งดอลลาร์จะเป็นเรื่องยุ่งยาก ซับซ้อน และไม่มีคำรับประกันว่ามันจะประสบความสำเร็จ แต่ถ้าไม่เริ่มต้นก็ย่อมมองไม่เห็นจุดหมายปลายทาง