(27 ก.พ.65) ดร.เกษม ศุภสิทธิ์ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท แฟมมิลี่ อะมิวส์เม้น จำกัด ผู้ให้เช่าเครื่องตู้คีบตุ๊กตา แบบตู้ขายสินค้า ชี้แจงกรณีเมื่อวันที่ 17 มี.ค.64 เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ สภ.แม่ปิง จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกันจับกุมร้านค้าภายในห้างสรรพสินค้าพรอมเมนาดา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พร้อมยึดของกลาง คือ
- เครื่องหยิบจับตู้ตุ๊กตาอัตโนมัติ Toy Story จำนวน 9 เครื่อง
- เครื่องหยิบจับตุ๊กตาอัตโนมัติ Luck Star จำนวน 13 เครื่อง
- เครื่องหยิบจับตุ๊กตาอัตโนมัติไม่ระบุชื่อจำนวน 13 เครื่อง
- ตู้แลกเหรียญอัตโนมัติจำนวน 5 เครื่อง
- ตู้แลกเหรียญอัตโนมัติ(Token) จำนวน 2 เครื่อง
- เงินสดเหรียญจำนวน 198,750 บาท และ
- กุญแจไขตู้คีบตุ๊กตาจำนวน 2 อัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ก.พ.65 อัยการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองข้อหาคือข้อหา ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ซึ่งของอันตนพึ่งรู้ว่าเป็นของที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ม. 246 วรรคแรกประกอบ ม. 242 โดยให้เหตุผลว่า ตู้คีบสินค้า(ตุ๊กตา) จำนวน 35 ตู้ ของกลางนั้น บริษัท แฟมมิลี่
อะมิ้วส์เม้น จำกัด เป็นผู้ประกอบและผลิตที่โรงงานของตนมิได้เป็นผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักร และมีคำสั่งไม่ฟ้องในข้อหาฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันอันระบุไว้ในบัญชี ข. หมายเลข 28 โดยให้เหตุผลว่า ตู้ขายคีบสินค้า(ตุ๊กตา) ของบริษัทฯ ที่ให้เช่าไปนั้น ไม่ใช่ตู้คีบตุ๊กตา ที่เป็นการพนัน แต่เป็นตู้ขายสินค้า ซึ่งบริษัทฯ ปฏิบัติตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทยที่ 0307.10/ว 1081 เรื่องซักซ้อมแนวทางการพิจารณาเครื่องเล่นซึ่งใช้เครื่องจักรกล ลงวันที่ 19 ก.พ. 63 และเป็นตู้ขายสินค้าเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ตู้คีบตุ๊กตาอันเป็นการพนันตามคำพิพากษาที่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8600/2547 ที่วางบรรทัดฐานไว้ ทั้งนี้ตู้คีบตุ๊กตาของผู้ค้ารายอื่นในท้องตลาดนั้น บริษัทฯไม่ทราบว่า มีทั้งที่เป็นตู้ขายสินค้าและเป็นตู้ที่ผิดกฎหมายหรือไม่
สำหรับ ดร.เกษม ศุภสิทธิ์ เป็นทนายความที่เคยยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกับ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ จนภายหลังต้องยอมยกเลิกประกาศในที่สุด