วันที่ 9 สิงหาคม 2566 เวลา 13.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 29/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
- กสม. ขอให้กำชับโรงพยาบาลเอกชนไม่ให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวีให้บริษัทเอกชนเพื่อใช้ประกอบการพิจารณารับคนเข้าทำงาน อันเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งร้องเรียนแทนผู้เสียหายรายหนึ่งที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเป็นพนักงานชั่วคราวแผนกบริการอาหารและเครื่องดื่มของโรงแรมแห่งหนึ่ง ในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่าโรงแรมกำหนดเงื่อนไขให้ผู้สมัครงานที่ผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานประจำต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวีที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ก่อนรับเข้าทำงาน จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 กำหนดว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างในสภาพทางกายหรือสุขภาพจะกระทำมิได้ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)ได้ให้การรับรองสิทธิในการทำงาน ซึ่งรวมถึงสิทธิของทุกคนในโอกาสที่จะหาเลี้ยงชีพโดยงานซึ่งตนเลือกหรือรับอย่างเสรี
กสม. เห็นว่า การที่โรงแรมแห่งดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขให้ผู้สมัครงานที่ผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานประจำต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงาน เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสภาพทางกายหรือสุขภาพ และสิทธิของบุคคลในโอกาสที่จะหาเลี้ยงชีพอย่างเสรี และขัดต่อประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การป้องกันและการบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ประกอบกิจการ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 แนวปฏิบัติแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงาน ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2552 และเป็นการไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ เรื่อง โรคเอดส์ในโลกแห่งการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ปัจจุบันโรงแรมดังกล่าว ได้ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้สมัครงานที่ผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานประจำต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวีแล้ว ประกอบกับผู้เสียหายไม่ประสงค์สมัครเป็นพนักงานประจำของโรงแรมแห่งดังกล่าวแล้ว ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งดังกล่าวซึ่งเคยให้บริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีให้กับบริษัทเอกชนเพื่อใช้ประกอบการพิจารณารับบุคคลเข้าทำงาน กรมควบคุมโรค ได้มีหนังสือเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลเอกชนไม่ให้รับบริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีให้กับผู้สมัครงานหรือบุคคลที่เตรียมบรรจุเป็นพนักงาน หรือตรวจสุขภาพประจำปีให้กับสถานประกอบการหรือหน่วยงานภาคเอกชน และปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนแห่งดังกล่าว ได้ยกเลิกให้บริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีให้กับบริษัทเอกชนทุกแห่งแล้ว
จากเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 มีมติเห็นว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนตามคำร้องกรณีนี้เป็นกรณีตามมาตรา 39 (5) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติให้ กสม. ยุติเรื่องหากเป็นเรื่องที่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว
ก่อนหน้านั้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ได้พิจารณารายงานผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีคล้ายคลึงกัน สืบเนื่องจากเมื่อเดือนมีนาคมและเมษายน 2566 มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ได้ร้องเรียนแทนผู้เสียหายสองรายซึ่งติดเชื้อเอชไอวี และสมัครเข้าทำงานกับบริษัทสองแห่ง โดยฝ่ายบุคคลของบริษัททั้งสองให้ผู้เสียหายเข้ารับการตรวจสุขภาพและตรวจหาเชื้อเอชไอวีที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง กรณีดังกล่าว กสม. ได้รับเรื่องไว้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยได้ประสานสอบถามไปยังบริษัทและโรงพยาบาลเอกชนผู้ถูกร้อง ซึ่งต่อมาได้รับทราบว่าบริษัทเอกชนได้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงานทุกตำแหน่ง และโรงพยาบาลเอกชนตามคำร้องได้ยกเลิกรายการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในผู้สมัครงานหรือพนักงานให้แก่บริษัทเอกชน และปฏิเสธการแจ้งผลการตรวจหาเชื้อเอชไอวีให้แก่ผู้ประกอบการ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นใด ทราบด้วย ในส่วนของกรมควบคุมโรคได้มีหนังสือเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 แจ้งไปยังสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเพื่อขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชนไม่รับตรวจหาเชื้อเอชไอวีประกอบการรับเข้าทำงานหรือใช้ประเมินบุคคล อันเป็นกรณีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาตามสมควรแล้ว กสม. จึงมีมติเห็นชอบผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน จึงมีมติให้แจ้งไปยังสมาคมโรงพยาบาลเอกชนอีกครั้งเพื่อกำชับโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งไม่ให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวีในผู้สมัครงานหรือพนักงานรวมถึงแจ้งผลการตรวจหาเชื้อเอชไอวีทุกกรณี