นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้แทนภาคประชาชนเมื่อเดือนตุลาคม 2564 และเดือนมกราคม 2565 ระบุว่า เมื่อปี 2548 – 2555 กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) รวมทั้งการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ของโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ต่อมาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ทบทวนและศึกษาเพิ่มเติมผลการศึกษาของกรมชลประทาน และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง : การพัฒนาระยะที่ 1 ช่วงปากแม่น้ำเลย – เขื่อนอุบลรัตน์ เสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ซึ่ง คชก. ได้มีมติให้กรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ผู้แทนภาคประชาชนเห็นว่า โครงการดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ผู้ดำเนินโครงการขาดความเข้าใจในภูมินิเวศ รวมถึงวัฒนธรรมการใช้น้ำและการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึง จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 41 และมาตรา 43 (2) และ (3) ได้ให้การรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสามารถเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน
จากการตรวจสอบปรากฏว่า ขณะที่ สทนช. ศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ กลไกและเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เช่น การจัดทำผังน้ำเพื่อให้เห็นแผนที่หรือแผนผังแสดงระบบทางน้ำในภาพรวมทั้งหมด การแต่งตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง และสะท้อนสภาพอุทกวิทยา สภาพภูมิศาสตร์ ระบบนิเวศ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และวิถีชีวิตของประชาชนในการใช้น้ำ รวมถึงการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในระดับลุ่มน้ำ ซึ่งกลไกเหล่านี้เป็นหนึ่งในช่องทางที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ใช้น้ำและผู้มีส่วนได้เสีย ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในท้องถิ่นของตน
จากการรับฟังข้อเท็จจริงและการสุ่มสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนและผู้ที่จะได้รับผลกระทบตามแนวโครงการพาดผ่าน ทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี และขอนแก่น พบว่า ประชาชนไม่ได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการ เช่น รายละเอียดโครงการ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น การเวนคืนที่ดิน ข้อดีข้อเสีย และการชดเชยเยียวยา โดยเฉพาะผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงต่อทรัพย์สิน เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่ได้รับแบบสอบถามทางไปรษณีย์ ทำให้มีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ อีกทั้งถูกเร่งรัดจากเจ้าหน้าที่ในการตอบแบบสอบถามและส่งกลับ และมีข้อกังวลว่าการตอบแบบสำรวจดังกล่าวจะเป็นการยินยอมให้ใช้ที่ดินด้วย
เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พบว่าโครงการดังกล่าวซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด รวมกว่า 174 กิโลเมตร จะมีผู้ได้รับผลกระทบด้านที่ดินจากการก่อสร้างในระยะที่ 1 ทั้งหมดมากกว่า 1,000 ราย เป็นพื้นที่ทำกินกว่า 1,400 แปลง (10,865 ไร่) และสิ่งปลูกสร้าง 303 หลัง โครงการดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคม แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของประชาชนซึ่งมีผลต่อมาตรฐานการครองชีพอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ หลังจากดำเนินการพัฒนาในระยะที่ 1 ช่วงที่ 1 แล้วเสร็จ กรมชลประทานจะศึกษาและประเมินผลกระทบการพัฒนาระบบชลประทานในระยะต่อไป ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และอาจกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการใช้น้ำของประชาชนเพิ่มเติม การศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในแต่ละระยะโดยแยกส่วนกัน และการให้ข้อมูลเฉพาะการพัฒนาโครงการระยะที่ 1 จึงไม่เพียงพอต่อการพิจารณาตัดสินใจของผู้มีส่วนได้เสีย
แม้ปัจจุบันรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการดังกล่าวยังไม่ได้รับความเห็นชอบจาก คชก. และอยู่ระหว่างผู้รับผิดชอบโครงการประสานการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้คัดค้านเพิ่มเติม แต่เนื่องจากเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล และมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง การดำเนินการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงต้องไม่เป็นเพียงการดำเนินการให้ครบถ้วนในเชิงกระบวนการเท่านั้น แต่รัฐมีหน้าที่รับรองให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิในเชิงเนื้อหา กล่าวคือ ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับผลกระทบต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการทุกขั้นตอน บนพื้นฐานของการได้รับทราบข้อมูลและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจ
นอกจากนี้ สปป.ลาว จะพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม โดยมีที่ตั้งโครงการอยู่เหนือพื้นที่หัวงานแนวผันน้ำโขงอีสาน บริเวณอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งจากการคาดการณ์ผลกระทบจากโครงการดังกล่าวของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat: MRCS) พบว่า โครงการเขื่อนสานะคาม จะมีผลต่อความผันผวนของระดับน้ำในแม่น้ำโขง ดังนั้น การพิจารณาและขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูลฯ จึงต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบ รับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน และให้ประชาชนผู้ใช้น้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ และผู้มีส่วนได้เสีย ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ริเริ่มโครงการด้วย
ในชั้นนี้จึงเห็นว่า การดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง : การพัฒนาระยะที่ 1 ช่วงปากแม่น้ำเลย – เขื่อนอุบลรัตน์ ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้
(1) ให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติชะลอการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทบทวนความจำเป็นและเหมาะสมในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ทุกระยะ โดยมอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน ประสานให้เกิดการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล องค์กรผู้ใช้น้ำ ประชาชนผู้ใช้น้ำในพื้นที่ทั้ง 3 ลุ่มน้ำ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียและที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการ เพื่อร่วมกันปรึกษาหารือและทบทวนความจำเป็นเหมาะสมในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง โดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการเสนอทางเลือกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและวิถีชีวิตวัฒนธรรมการใช้น้ำในพื้นที่ของตน ภายใต้การสนับสนุนข้อมูลอย่างรอบด้านที่เพียงพอต่อการให้ข้อเสนอแนะและความเห็นก่อนการตัดสินใจ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการทบทวนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้
(2) ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เร่งรัดการจัดทำผังน้ำ และทบทวนผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ ผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนผู้ใช้น้ำ ได้มีส่วนร่วมอย่างครบถ้วน และเพื่อให้การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำ สอดคล้องกับความต้องการ ภูมินิเวศ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และวิถีชีวิตของประชาชนแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืน
(3) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาหลักเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนสำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยนำหลักการและกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้ใช้น้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มาเป็นแนวทางประกอบการให้ความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ