วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์สืบจากข่าวสังคมยังจะคาดหวังอะไร..? จาก “กขค.”ถึง “กสทช”...มีก็เหมือนไม่มี

Related Posts

สังคมยังจะคาดหวังอะไร..? จาก “กขค.”ถึง “กสทช”…มีก็เหมือนไม่มี

เหลือบไปเห็นข่าว ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ออกมาแสดงความเป็นกังวลต่อสถานการณ์การควบรวมธุรกิจในปี 2564 ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2564 มูลค่าการควบรวมธุรกิจโดยรวมอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 1 ใน 3 ของมูลค่า GDP ของประเทศไทย

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.)

นัยว่าเฉพาะปี 2564 ที่ผ่านมามีการควบรวมด้วยมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3.4 เท่าจากปี 2563 ที่มีมูลค่าการควบอยู่ที่  0.48 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มธุรกิจบริการมีสัดส่วนควบรวมมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

ขณะที่แนวโน้มการควบรวมกิจการในปี 2565 คาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก  ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และผลพวงจากระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว  ทำให้รูปแบบการประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) เพิ่มมากขึ้น

“แรงกดดันดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจมีแนวโน้มควบรวมธุรกิจเพิ่มมากขึ้น  เพื่อปรับตัวให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น และเพื่อให้อยู่รอดได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่มีแนวโน้มการใช้อำนาจเหนือตลาด หรือมีการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีไม่สามารถแข่งขันได้ และอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญในการกำหนดแนวทางการกำกับดูแล”

สิ่งที่ท่านประธาน กขค.สะท้อนออกมานั้น ไม่ได้ห่างไกลไปจากความเป็นจริงที่ผู้คนในสังคมพากันสัพยอก และกังขาต่อการทำหน้าที่ของ กขค.และสำนักงานแข่งขันทางการค้าได้เป็นอย่างดีกันเป็นปีๆ ว่า “มีก็เหมือนไม่มี” หลังจาก กขค.ต้อง “เสียรังวัด” ไปกับการควบรวมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งยักษ์ เพราะดอดไปไฟเขียวควบรวมให้อย่างง่ายดาย จนทำให้ยักษ์ค้าปลีก-ค้าส่งที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงกว่า 50%  เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทะยานขึ้นไปกินรวบตลาดค้าปลีกค้าส่งของประเทศจนเกือบจะเป็นการครอบงำตลาดแบบเบ็ดเสร็จไปแล้ว

ซึ่งไม่ว่าจะพิจารณากันตามบทบัญญัติกฎหมายแข่งขันทางการค้าฯ หรืออำนาจหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลลักษณะเดียวกัน หากเป็นกรณีในต่างประเทศ หน่วยงานจะต้องติดเบรกสั่งระงับการควบรวมกิจการกันตั้งแต่แรกแล้ว แต่สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กลับไฟเขียวดีลควบรวมค้าปลีกค่าส่งยักษ์ดังกล่าว 

ด้วยเหตุนี้ การที่ท่านประธาน กขค.จะลุกขึ้นมาป่าวประกาศจะเข้มงวดกำกับดูแล กม.แข่งขันทางการค้า เพื่อปกป้องธุรกิจเอสเอ็มอี ป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ใช้อำนาจเหนือตลาด กีดกันการแข่งขันหรือกินรวบตลาด จึงทำให้ผู้คนได้แต่มองด้วยความสมเพชว่าก็แค่ “มหกรรมปาหี่” เท่านั้น  เพราะองค์กรกำกับดูแล กม.แข่งขันทางการค้าของไทยนั้น “มีก็เหมือนไม่มี” นั่นเอง

เช่นเดียวกับสื่อสารโทรคมนาคม ที่กำลังเผชิญกับกรณี “ซุปเปอร์ดีล” ควบรวมกิจการยักษ์สื่อสารโทรคมนาคม ระหว่าง บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTac ซึ่งประธานกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขต.) ก็ “แบไต๋”ออกตัวแรงไปแล้วว่า สำนักงานแข่งขันท่างการค้าและกขต.คงไม่สามารถก้าวล่วงลงไปพิจารณาได้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” ที่มีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ  

เล่น “แบไต๋” ออกตัวแรงกันซะขนาดนี้ ทุกฝ่ายจึงได้แต่ “อึ้งกิมกี่”  แล้วหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช.จะมี “น้ำอิ๊ว”อะไรสกัดหรือยับยั้งซูเปอร์ดีลที่กำลังจะพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศครั้งนี้ได้ เพราะลำพังแค่การกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมตามภารกิจหลักและขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ในปัจจุบัน หน่วยงาน กสทช.ก็ถูกสังคมตั้งข้อกังขาในการทำหน้าที่มาโดยตลอดอยู่แล้ว

เมื่อสแกนลงไปดูกฎหมายและบรรดาเครื่องไม้เครื่องมือขององค์กรกำกับดูแลกิจการสื่อสารโทรคมนาคมแห่งนี้ ที่แม้จะถอดรูปแบบมาจาก กฎหมายแข่งขันทางการค้ามาบังคับใช้ ซึ่งก็รวมไปถึงอำนาจที่จะพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ แต่ไม่รู้ว่า ที่ผ่านมา กสทช.ไปคัดลอกหลักการ ถอดรูปแบบการกำกับดูแลการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมกันอีท่าไหน

วันดีคืนดีก็กลับไปออก กม.จำกัดและลดทอนอำนาจของตนเองขึ้นมาซะงั้น อย่างประกาศ กสทช.ปี 2561 ที่ว่าด้วยมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประกาศที่ กสทช.ไปแก้ไขและยกเลิกประกาศ กสทช.เดิมปี 2553 นั้น ก็จำกัดอำนาจหน้าที่ กสทช.ให้เหลืออยู่เพียง “รับทราบ” การควบรวมกิจการที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่รับใบอนุญาตจาก กสทช.แจ้งมาเท่านั้น ไม่สามารถจะทัดทานหรือสั่งห้ามได้ แม้การควบรวมกิจการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการผูกขาดและจำกัดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมก็ตาม

แต่เดิมตาม ประกาศ กสทช.ปี 2553 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคมเอาไว้ให้ กสทช.สั่งห้ามการควบรวมที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันและการผูกขาดได้ ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่า การควบรวมกิจการอาจทำให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง ให้คณะกรรมการสั่งห้ามควบรวมกิจการ

แต่ประกาศ กสทช.ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนั้น ได้ตัดอำนาจในการระงับการขอควบรวมกิจการออกไป ทำให้ กสทช.ทำหน้าที่เพียงรับทราบและจดแจ้งการควบรวม ไม่สามารถใช้อำนาจที่มีกฎหมายสั่งห้ามการควบรวมที่ส่งผลต่อการผูกขาดและลดการแข่งขันที่ร้ายแรงออกไป

นอกจากนี้ ในเรื่องของกรอบระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติการควบรวมกิจการ ก็ให้น่าฉงน เพราะ กสทช.ได้จำกัดและบั่นทอนอำนาจของตนเอง โดยกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจควบคุมผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะทำการควบรวมกิจการ ต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช.ไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนการดำเนินการ โดยที่ กสทช.ทำได้แค่การจัดตั้งที่ปรึกษาอิสระ(FA) ขึ้นจัดทำความเห็นประกอบรายงานการควบรวมธุรกิจเท่านั้น โดยต้องจัดทำความเห็นประกอบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง

ผลพวงจากประกาศ กสทช.ฉบับนี้ที่เป็นการตัดแขนขาของตนเองนั้น จึงทำให้ผู้รับใบอนุญาตที่จะดำเนินการควบรวมกิจการ เพียงแค่รายงานธุรกรรมการควบรวมที่จะมีขึ้นต่อเลขาธิการ กสทช.เท่านั้น ก็สามารถเดินหน้ากระบวนการควบรวม ทำ Deal Diligence หรือดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ ต่อได้ทันที โดยไม่ต้องขออนุมัติดำเนินการใดๆ จาก กสทช.

ยิ่งในส่วนของการแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระขึ้นศึกษาจัดทำความเห็นประกอบรายงานการควบรวมกิจการที่แม้จะกำหนดให้เลขาธิการ กสทช.เป็นผู้แต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระซึ่งมีคุณสมบัติ โดยจะต้องจัดทำความเห็นประกอบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง แต่เมื่อกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ยื่นขอดำเนินการควบรวมเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย  ก็หมายความว่า การแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระที่ว่า แทบจะกลายเป็นการแต่งตั้งที่ปรึกษา(ไร้อิสระ)หรือต้องดำเนินการตามที่ผู้ยื่นความประสงค์ควบรวมกิจการกำหนดทิศทางให้นั่นเอง

เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่สังคมยังคงตั้งข้อกังขาต่อการพิจารณาดีลควบรวมกิจการครั้งประวัติศาสตร์ทรู-*ดีแทคในเวลานี้ก็คือ  เหตุใด กสทช.ชุดรักษาการในปัจจุบัน ยังคงทำหน้าที่พิจารณาเรื่องนี้อย่างถึงพริกถึงขิง ทั้งที่วุฒิสภาได้โหวตเห็นชอบ กสทช.ชุดใหม่ไปตั้งแต่ปีมะโว้เมื่อปลายปี 64 ไปแล้ว และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้แจ้งรายชื่อว่าที่ กสทช.ชุดใหม่มายังคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง กสทช.ชุดใหม่ไปแล้วตั้งแต่ต้นปี 65

ซึ่งนั่นหมายความว่า กสทช.ชุดรักษาการชุดนี้ ที่เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการแก้ไขประกาศ กสทช.ที่ว่าด้วยการกำกับดูแลการควบรวมกิจการ การกำหนดหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการควบรวมกิจการ โดยยอมตัดแขนขาตนเองจะโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตามที ไม่ควรจะไปพิจารณาเรื่องใหญ่ที่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศเยี่ยงนี้ แต่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาโม่แป้งเอง

แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าแปลก ทั้ง นายกฯ และประธาน กสทช.ชุดรักษาการ(จนรากงอก) ยังคงไฟเขียวให้ กสทช.ชุดนี้ที่ถือได้ว่าพ้นหน้าที่กันไปหมดแล้ว ยังคงอยู่โยงทำการพิจารณาการควบรวมกิจการครั้งประวัติศาสตร์นี้ เสมือนเป็นการเร่ง “ปิดดีล” ให้ได้ก่อนเปลี่ยนผ่านอำนาจไปให้ กสทช.ชุดใหม่ยังไงยังงั้น

สิ่งเหล่านี้มันทำให้คิดเป็นอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากมีไอ้โม่ง- Invisible Hand ชักใยอยู่เบื้องหลังเพื่อกระเตง “ซูเปอร์ดีล” ควบรวมครั้งประวัติศาสตร์นี้ไปสู่เป้าหมายให้ได้ก่อน กสทช.ชุดใหม่จะเข้ามารับไม้ต่อ และปาดหน้ากรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการควบรวมกิจการสื่อสารทารคมนาคมฯ สภาผู้แทนฯ ที่กำลังเร่งเครื่องตรวจสอบเรื่องนี้กันอยู่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนคนไทยและทุกภาคส่วนตอกย้ำมาโดยตลอด  ลำพังแค่การกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมตามภารกิจและขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ในปัจจุบัน หน่วยงาน กสทช.ก็ถูกสังคมตั้งข้อกังขาในการทำหน้าที่มาโดยตลอดอยู่แล้ว หากแม้กรณี “ซูเปอร์ดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทค” ยังแหกกฎบัดกฎหมายไปได้ โดยที่ กสทช.ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ ด้วยข้ออ้าง ไม่มีอำนาจสั่งระงับยับยั้งได้แล้ว

สังคมยังจะคาดหวังอะไรเอากับการทำหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและเสรีขององค์กร กสทช.ได้อีก ตรงกันข้ามน่าจะเป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นว่า องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า( กขค.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)นั้น  “มีก็เหมือนไม่มี”  เสียมากกว่า!

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts