“…สภาผู้แทนดาหน้าถล่ม กสทช.หนัก จัดระเบียบสายสื่อสาร-ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหลว เปิดแผลใหม่สร้างสำนักงานใหม่ 2.7 พันล้านส่อไม่โปร่งใสอีก …”
สภาผู้แทนอภิปรายถล่ม กสทช.แทบเสียศูนย์ ทั้งกรณีปล่อยดีลควบรวมทรู-ดีแทค ลอยแพผู้บริโภค ประธาน กสทช.บินนอกถี่ยิบ สงสัยใช้งบไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือไม่ ปล่อยแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์อาละวาดโดย กสทช.ได้แต่นั่งเอามือซุกหีบ เปิดแผลใหม่สร้างอาคารสำนักงานใหม่ 27,000 ล้านส่อไม่โปร่งใส ด้านประธาน กสทช.แจงสรรหาเลขาธิการโปร่งใส ยันทำตามกรอบ กม.เพราะเป็นอำนาจประธาน กสทช.
@suebjarkkhao “…สภาผู้แทนดาหน้าถล่ม กสทช.หนัก จัดระเบียบสายสื่อสาร-ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหลว เปิดแผลใหม่สร้างสำนักงานใหม่ 2.7 พันล้านส่อไม่โปร่งใสอีก …”
♬ เสียงต้นฉบับ – Suebjarkkhao
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณาระเบียบวาระการประชุมที่ 2.4 รับทราบ “รายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ประจำปี 2565 และรายงานการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. สำนักงานกสทช. และเลขาธิการ กสทช. ประจำปี 2565 โดยที่ประชุม สส.มีมติรับทราบผลการปฏิบัติงานของ กสทช. ก่อนจะเปิดให้ ส.ส.อภิปราย โดยมี ส.ส.ขออภิปรายถึง 30 คน ประธานสภาได้ให้เวลาอภิปรายคนละ 7 นาที โดยในการนี้ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.ได้เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมด้วย
*ประธาน กสทช.เจอซักฟอกเลือกเลขาธิการ “ไม่โปร่งใส”
ทั้งนี้ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.ได้กล่าวรายงานผลการดำเนินงานของ กสทช.ต่อที่ประชุมสภาฯ โดยระว่า กสทช.ชุดนี้เข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายเดือน เม.ย. 2565 โดยตนเองปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธาน กสทช. เพื่อบริหารความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม กิจการดาวเทียมสื่อสารของไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า และสามารถปรับตัวให้ทันต่อบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศ
โดยมีผลการปฎิบัติงานที่สำคัญ เช่น ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน จัดให้มีการประมูลสิทธิในการเข้าวงโคจรดาวเทียม ให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภค และกำกับงาน กสทช.ไปสู่ประชาชนทั่วประเทศอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมทั้งขับเคลื่อนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการเกษตร การศึกษา และด้านสาธารณสุข เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม
ส่วนการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. นั้น ประธาน กสทช.กล่าวว่า การดำเนินการเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติใน พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 61 วรรคหนึ่งที่ระบุว่าให้ประธานกรรมการโดยความเห็นของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการกสทช. ประกอบกับวรรคสอง เลขาธิการกสทช. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ในวันแต่งตั้งและต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 รวมทั้งคุณสมบัติอื่นๆที่ กสทช.กำหนด ซึ่งได้มีประกาศ ประธานกสทช.ประกาศรับสมัครและขยายเวลารับสมัครระหว่างวันที่ 20 มี.ค.2566 ถึงวันที่ 7 พ.ค. 2566 โดยมีผู้สนใจยื่นใบสมัครจำนวน 9 คน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2566 กำหนดการแสดงวิสัยทัศน์และแผนภาพบุคคลในวันที่ 20 ก.ค. 2566 มีผู้เข้าแสดงวิสัยทัศน์จำนวน 8 คน โดยประธานกสทช. และกสทช.ทุกท่านได้ร่วมรับฟังวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ผู้มีสิทธิ์คัดเลือก ขณะนี้ได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่สมควรแต่งตั้งเป็นเลขาธิการกสทช.เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอรายชื่อต่อ กสทช.ต่อไป
*จัดระเบียบสายสื่อสาร-ปราบคอลเซ็นเตอร์เหลว
นายเอกราช อุดมอำนวย ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายว่า การจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าต่างๆ พบว่าในการร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประสบความสำเร็จเพียง 13.27% เท่านั้น ส่วนการนำสายสื่อสารลงดินในปี 2565 จัดทำได้เพียง 35 กม.เท่านั้น จึงอยากให้ กสทช.ดำเนินการตามแผน และมีข้อสังเกตในการจัดทำงบประมาณแต่ละปี จะต้องรายงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้มีคำถามเกี่ยวกับการเป็นองค์กรอิสระ อิสระจริงหรือไม่ เพราะโครงสร้างคณะกรรมการดังกล่าวล้วนมาจากภาคการเมืองแทบทั้งสิ้น กระบวนการและแผนต่างๆจะถูกฝ่ายการเมืองครอบงำหรือไม่
ทั้งยังมีคำถามถึงความโปร่งใสของ กสทช.จากเหตุการณ์ที่ประธาน กสทช.ไม่ยอมรับมติในการปลดรักษาการเลขาธิการกสทช. และรักษาการเลขาธิการ กสทช.ใช้อำนาจในการยกเลิกคณะกรรมการสอบวินัยตนเอง เพราะบทบาทเลขาธิการ กสทช.มีอำนาจค่อนข้างมาก ทั้งดูแลรายรับรายจ่ายของ กสทช.ที่ปีๆหนึ่งได้รับจัดสรรกว่าหมื่นล้านบาท และมีหน้าที่กำกับกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุนกทปส.) ที่ปีๆหนึ่งก็ได้รับมากว่าหมื่นล้านบาทเช่นกัน ประกอบกับกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ก็ไม่โปร่งใส เพราะมีการส่งหนังสือเชิญ แทนที่จะออกประกาศรับสมัครเป็นการทั่วไป
นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กสทช.ยังด้อยบทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการหลอกลวง-ฉ้อโกงประชาชน แม้จะมีการจัดอบรมในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ เพื่อสร้างความรู้เท่าทันให้ประชาชน แต่คนทั้งประเทศกลับประสบเจอการหลอกลวงตลอดเวลา ทั้งการบอกว่า เป็นผู้โชคดีได้รับรางวัล, มีหมายจับต้องไปศาลไปสถานีตำรวจ, มีพัสดุตกค้าง, มีความเกี่ยวข้องกับเว็บพนันต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นมิจฉาชีพ ดังนั้น กสทช.ต้องตอบว่า จะจัดการปัญหานี้อย่างไร และอีกปัญหาสำคัญคือ การถูกล้วงข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน, เบอร์โทรศัพท์, เลขบัตรเครดิต, เลขบัญชีธนาคาร เป็นต้น จนถูกหลอกให้โอนเงินโอนทองต่างๆนั้น กสทช.จะมีแผนงานหรือมาตรการจัดการปัญหานี้อย่างไร เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น นำมาซึ่งความซับซ้อนในการหลอกลวงประชาชนที่แยบยลมากขึ้น ประชาชนหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อมากขึ้น
*สภาถล่มประธานกสทช.บินนอกถี่ยิบ
ในช่วงหนึ่งของการอภิปรายนั้น นางสาวรักชนก ศรีนอก ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า บอร์ด กสทช. เป็นเหมือนองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ สว.คัดเลือกบอร์ดบริหาร แต่ทราบมาว่า นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นหมอโรคหัวใจของผู้มากบารมีทางการเมืองหลายท่านและดำรงตำแหน่งประธาน กสทช. ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้ติดตามการทำงานของท่าน อาทิเรื่องอำนาจการยับยั้งการควบรวม TRUE-DTAC ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ประธาน กสทช.ไม่เข้าใจ job description ตัวเอง หรือกำลังรักษาผลประโยชน์ให้ใครกันแน่ เพราะถ้าไม่ใช่องค์กรท่านแล้วจะมีองค์กรไหนในประเทศที่มีอำนาจในการยับยั้งการควบรวมในครั้งนี้ งานที่เป็นอำนาจหน้าที่ก็ละเว้น แต่งานที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ อย่างการอนุมัติเงินบอลโลก 600 ล้านบาทกลับใช้อำนาจที่คาบเส้นตัดสินใจ
อีกประเด็น คือกรณีประธาน กสทช. หลังรับตำแหน่ง 1 ปี 4 เดือน แต่เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว 15 ครั้งหรือ 120 กว่าวัน คิดเป็น 25% ของเวลางานทั้งหมด ถ้าไปทำงานจริงๆ ตนไม่มีข้อสงสัยอะไร แต่การไปดูงานส่วนใหญ่ปลายทาง คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข่าวลือว่าเป็นประเทศที่ นพ.สรณ มีคลินิกส่วนตัวอยู่ที่นั่นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นความจริง ประชาชนก็ตั้งคำถามว่า นพ.สรณใช้งบในการบินนี้ไปเพื่อเอื้อกับกิจการส่วนตัวหรือไม่ การเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ทำให้กิจการวาระการประชุมต่างๆ ที่สำคัญใน กสทช. ถูกเลื่อนไป เรื่องสำคัญรอตัดสินใจกองอยู่เป็นกองพะเนิน
“ถ้างานคลินิกในต่างประเทศของท่านไม่สามารถละวางได้ หรือสำคัญกว่างานใน กสทช. อย่าทำราวกับว่าตำแหน่งประธานกสทช.เป็นเพียงงานพาร์ตไทม์ เราจะได้หาคนที่พร้อมเหมาะสมมาทำงานตรงนี้” นางสาวรักชนก กล่าว แต่ถูกประธานในที่ประชุมสั่งให้ถอนคำพูดนี้ออกไป
อย่างไรก็ตาม นพ.สรณได้ชี้แจงต่อประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่า ไม่เคยมีคลินิกส่วนตัวทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ สิ่งที่ปรากฏในสื่ออาจเป็นเรื่องเข้าใจผิด โดยที่มีแพทย์ไทยอาวุโส ที่มีชื่อคล้ายกันที่มีคลินิกส่วนตัว และประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสหรัฐอเมริกาและมีคนไทยไปรับการรักษามา อีกประเด็นเรื่องการพิจารณาการควบรวม TRUE-DTAC เป็นมติ กสทช. ไม่ใช่คำสั่งประธาน กสทช. และเรื่องการสรรหาเลขาธิการ กสทช.นั้น ตนได้ชี้แจงไปแล้วว่า ปฏิบัติตามกฎหมาย ตามมาตรา 61 แห่งพ.ร.บ.คลื่นความถี่ฯ
*แฉสร้างตึกใหม่ กสทช. ไม่โปร่งใสหลายจุด
ขณะที่ นายธัญธร ธนินวัฒนาธร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการก่อสร้างสำนักงาน กสทช.แห่งใหม่ มูลค่ากว่า 2,700 ล้านบริเวณ ถ.รัตนาเบศร์ว่า จากกำหนดเดิมที่ต้องก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 ปรากฏว่ามีการปิดทับวันสิ้นสุดโครงการที่ประกาศเอาไว้หน้าพื้นที่ก่อสร้าง ที่ส่อให้เห็นว่าจะก่อสร้างไม่เสร็จ จึงต้องการสอบถามว่าจะมีแนวโน้มเปิดใช้งานเมื่อไหร่
ขณะที่จากการตรวจสอบความคืบหน้าของเนื้องานบางส่วนพบปัญหาความไม่โปร่งใสหลายจุด เช่น ในราคากลางงานจ้างควบคุมงานก่อสร้างวงเงิน 100 ล้านบาท ที่พบว่ามีสัดส่วนเป็นค่าจ้างควบคุมงาน 79.29 ล้านบาท ซึ่งในกระบวนการจัดทำประกาศเชิญชวนทั้ง 3 ขั้นตอนคือการคำนวณราคากลาง เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 62, ประกาศงบประมาณและโครงการเมื่อ 11 มี.ค. 62 และประกาศผู้ได้รับคัดเลือกเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 62 นั้น กลับพบว่าระยะเวลาห่างกันเพียงช่วงละ 1 เดือนเท่านั้นส่อให้เห็นว่ามีกระบวนการฮั้วประมูลไว้ตั้งแต่ต้นหรือไม่ หรือกรณีประกาศคุณสมบัติด้านผลงานของผู้เสนองานจ้างก่อสร้างอาคาร ที่มีการระบุถึงคุณสมบัติตอนหนึ่งว่า ‘หรือหน่วยงานเอกชนที่สำนักงานกสทช. เชื่อถือและสามารถตรวจสอบผลงานได้จริง’ ตรงนี้มีข้อสังเกตว่า เอาเกณฑ์อะไรชี้วัด
#สืบจากข่าว รายงาน