วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
หน้าแรกการเมืองอดีตตำรวจ 'คุมครู' หวังอะไรได้ใหม? (คำถามที่ชวนหดหู่)

Related Posts

อดีตตำรวจ ‘คุมครู’ หวังอะไรได้ใหม? (คำถามที่ชวนหดหู่)

“…พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร สะท้อน ‘ตำรวจไทย’ อยู่ในระบบเผด็จการแบบทหาร ความคิดและวัฒนธรรมไม่สอดคล้องกับงานที่ต้องอาศัย ความจริงและวิชาการ เข้าที่ไหน เกิดปัญหาที่นั่น!…การจัดรัฐบาลปัจจุบัน ทำให้ความหวัง การปฏิรูปทั้ง ‘การศึกษา’ และ ‘ระบบตำรวจ’ ที่แท้จริงต้องใช้เวลาอีกนาน!…”

‘ตำรวจคุมครู’ หวังอะไรได้ไหม? คำถามชวนหดหู่ ที่อยากชวนคุณผู้อ่านมาลิ้มรสความขื่นขมของ ‘อนาคตการศึกษาไทย’ ผ่านทัศนะของ ‘พ.ต.อ.วิรุตม์’ อดีตรอง ผบก.จเรตำรวจ ที่คลุกคลีกับวงการสีกากีมากว่า 30 ปี และมุมมองของ ‘มิน ลภนพัฒน์’ แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว ที่เชื่อว่าเรื่องนี้ยังมีความหวัง?

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ

1 ในโผคณะรัฐมนตรีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่มีชื่อของ ‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ’ จากพรรคภูมิใจไทย เป็นตัวเต็งนั่งตำแหน่งนี้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากสังคม โดยเฉพาะแวดวงการศึกษาที่หลายสมาคมถึงกับออกแถลงการณ์ขอให้พรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทบทวนการเสนอชื่อ ‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน’ ขึ้นมาเป็นเจ้ากระทรวง เพราะมองว่าการที่ให้ ‘ตำรวจ’ มาคุม ‘ครู’ เป็นอะไรที่ผิดฝาผิดตัวอย่างมาก และอาจทำลายอนาคตการศึกษาไทยให้ล้าหลังลงไปอีก

“ตำรวจเข้าไปอยู่ในหน่วยงานไหน ในความเป็นจริงก่อให้เกิดปัญหาและสร้างความเสียหายให้กับหน่วยงานนั้นและสังคมแทบทั้งสิ้น”

นี่เป็นมุมมองของ ‘พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร’ อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ที่คลุกคลีกับวงการสีกากีมากว่า 30 ปี เขามองว่าเนื้องานของตำรวจและครูต่างกันอย่างสิ้นเชิงเพราะ ‘ตำรวจไทย’ มีระบบงานที่เป็นลักษณะเดียวกันกับทหาร คือ ‘เผด็จการ’ ขณะที่ ‘ครู’ เป็นงานพลเรือนและเป็นงานวิชาการ และความจริงควรสลับให้ ‘สุทิน คลังแสง’ ที่มีประสบการณ์เคยเป็นครูมาก่อน มานั่งกระทรวงนี้แทน ‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน’ และให้ ‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน’ ไปนั่งกระทรวงกลาโหมจะเหมาะกว่าเพราะมียศเหมือนกัน

อีกทั้งจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยทำงานร่วมกับ ‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน’ คิดว่าการมานั่งเป็นเจ้ากระทรวงนี้น่าจะมีปัญหาพอสมควร หรือต่อให้ไม่ใช่ ‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน’ แต่เป็นตำรวจนายอื่นมานั่งตำแหน่งนี้ก็คิดว่ามีปัญหาเหมือนกัน เพราะพื้นฐานความคิดและวัฒนธรรมของตำรวจแตกต่างจากราชการพลเรือน ที่ส่วนใหญ่ไม่อยู่กับความจริง อยู่กับอำนาจเผด็จการเป็นหลัก

โดยเฉพาะหัวใจสำคัญอย่างเรื่องการประเมินผลในระบบราชการของไทย ที่ในทัศนะของ ‘พ.ต.อ.วิรุตม์’ มองว่า ‘มันปลอม’ และไม่มีอะไรที่สะท้อนความจริงได้เลย

“ระบบตำรวจประเทศเราสร้างปัญหาให้กับประชาชนมากขนาดไหน แต่ตำรวจผู้รับผิดชอบหรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่ละยุคสมัย ก็ยังคุยโขมงโฉงเฉงว่าประสบความสำเร็จในการทำงานอย่างนู้นอย่างนี้”

ส่วนคำถามที่ว่าเมื่อ ‘ตำรวจ’ ที่เป็นหน่วยงานที่ปฏิรูปยากที่สุด มานั่งเป็นเจ้ากระทรวงที่ ‘ควรปฏิรูป’ มากที่สุดเช่นกันแบบนี้แล้วจะทำให้การปฎิรูปการศึกษาไทยยากขึ้นไปอีกหรือไม่ ‘พ.ต.อ.วิรุตม์’ ในฐานะเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่ดูเรื่องปฏิรูปตำรวจมาโดยตลอดให้ความเห็นสั้นๆ ว่า คงยากกว่าเดิมอีก 3-4 เท่า พร้อมฝากคำถามถึง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีว่า นอกจากปฏิรูปการศึกษาแล้ว จะปฏิรูปตำรวจหรือแก้ไขปัญหาตำรวจเป็นโจร รับล้มคดี ไม่รับแจ้งความ ที่แทบจะเป็นเรื่องปกติในสังคมไทยนี้ยังไง

“เป็นเรื่องของความชั่วร้ายของระบบการเมืองไทย ช่วงนี้คงไม่มีความหวังอะไรหรอก ต้องรอไปอีกพักใหญ่ รอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง เพราะหลังการเลือกตั้งเราหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ตอนนี้มันพลิกกลับมาแบบนี้อีก แล้วจะให้หวังอะไร”

‘มิน ลภนพัฒน์’ แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว

แต่ในมุมมองของ ‘มิน ลภนพัฒน์’ แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว มองเรื่องนี้ต่างออกไป เขายอมรับว่าแม้ลึกๆ จะรู้สึกไม่พอใจกับการได้ ‘รัฐมนตรี’ ที่ไม่มีประสบการณ์และไม่มีความสามารถเกี่ยวกับระบบการศึกษามาก่อน แต่ยังเร็วไปที่จะบอกว่า ‘หมดหวัง’ และส่วนตัวเขาไม่ได้มีปัญหากับการที่มี ‘ตำรวจ’ มานั่งตำแหน่งนี้ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือเรื่องทัศนคติและมุมมองในการแก้ปัญหาระบบการศึกษาของ ‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน’ ว่าเป็นอย่างไร ภายใต้ข้อจำกัดที่เราไม่สามารถเลือกอะไรได้แล้ว

“เรื่องความสามารถ เรื่องความเหมาะสมก็ส่วนหนึ่งอันนี้มันดูกันไปได้ แต่ตัวทัศนคติ ตัวแนวคิดอันนี้เป็นสิ่งสำคัญว่าจะทำให้มีความหวังได้ไหม ในส่วนตัวของมินคิดว่าต้องลองคุยกับเขาก่อน หรือได้เห็นแนวคิดเขาก่อน”

แต่จากข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้ ‘มิน ลภนพัฒน์’ ยอมรับว่ายังน้อยเกินไปที่จะตัดสินว่า ‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน’ เป็นคนแบบไหน จึงอยากขอเวลาทำความรู้จักและรอดูการทำงานของ ‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน’ ก่อน และตัวเขาเองไม่อยากค้านไปทุกเรื่อง ส่วนปัญหาแรกที่อยากให้ ‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน’ ในฐานะว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ คนใหม่แก้ไขคืออะไรนั้น ‘มิน ลภนพัฒน์’ ตอบอย่างน่าสนใจว่า เมื่อคุณไม่มีประสบการณ์อย่างแรกที่ควรทำ คือ ‘การฟัง’ เพื่อเรียนรู้ปัญหาต่างๆ ที่มีก่อนลงมือแก้ไขมัน

“สิ่งแรกที่ควรทำ เขาต้องฟังทุกส่วนเลย นักเรียน ครู เจ้าหน้าที่ เขาต้องฟังว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันคืออะไร นี่คือสิ่งแรก เพราะเขาไม่มีประสบการณ์ เขาไม่รู้ปัญหาเรื่องนี้ เผลอๆ เขาอาจไม่เคยทำงาน ไม่เคยรับรู้ปัญหาระบบการศึกษาไทยด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่อยากให้เขาใช้เวลาเรียนรู้นานไป เพราะทุกเวลาที่เสียไปปัญหามันเกิดขึ้นตลอด”

ก่อนจบบทความนี้ ผู้เขียนขอยกคำขวัญที่ว่า ‘เด็กคืออนาคตของชาติ’ มาชวนอ่านความหมายระหว่างบรรทัดเพิ่มเติมว่า เด็กไม่เพียงเป็นอนาคต แต่เด็กยังคือปัจจุบันเช่นกัน ดังนั้นการจะมีอนาคตที่ดีต้องเริ่มจากปัจจุบันที่ดีด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว ‘ตำรวจคุมครู’ จะสร้างความหวังให้กับอนาคตของชาติได้มากน้อยแค่ไหน คงเร็วไปที่จะตัดสินอย่างที่ ‘มิน ลภนพัฒน์’ ได้กล่าวไว้ข้างต้น แต่ใครก็ตามที่อ่านมาจนถึงตรงนี้คงปฏิเสธได้ยากว่า ‘ความหวัง’ นั้นค่อนข้างจะริบหรี่โดยแท้

@suebjarkkhao

อดีตตำรวจ ‘คุมครู’ หวังอะไรได้ใหม? (คำถามที่ชวนหดหู่) “…พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร สะท้อน ‘ตำรวจไทย’ อยู่ในระบบเผด็จการแบบทหาร ความคิดและวัฒนธรรมไม่สอดคล้องกับงานที่ต้องอาศัย ความจริงและวิชาการ เข้าที่ไหน เกิดปัญหาที่นั่น!…การจัดรัฐบาลปัจจุบัน ทำให้ความหวัง การปฏิรูปทั้ง ‘การศึกษา’ และ ‘ระบบตำรวจ’ ที่แท้จริงต้องใช้เวลาอีกนาน!…”

♬ เสียงต้นฉบับ – Suebjarkkhao – Suebjarkkhao

สืบจากข่าว รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts