วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์กสม. ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. หาดใหญ่ ควบคุมตัวผู้ต้องหาหญิงปะปนกับชาย แนะกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะตามหลักสากล

Related Posts

กสม. ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. หาดใหญ่ ควบคุมตัวผู้ต้องหาหญิงปะปนกับชาย แนะกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะตามหลักสากล

(กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 36/2566)

กสม. ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. หาดใหญ่ ควบคุมตัวผู้ต้องหาหญิงปะปนกับชาย แนะ ตร. กำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ – เสนอกรมชลประทานทบทวนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวมฯ ชี้ขาดการมีส่วนร่วม หนุนจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำตามกลไกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 36/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  1. กสม. ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. หาดใหญ่ ควบคุมตัวผู้ต้องหาหญิงปะปนกับชาย แนะกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะตามหลักสากล

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องหญิงรายหนึ่ง ระบุว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ผู้ร้องเดินทางไปสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสภาสถาปนิก ซึ่งผู้ร้องให้การรับสารภาพ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ (ผู้ถูกร้อง) ได้นัดหมายให้ผู้ร้องมาพบอีกครั้งในวันถัดมา แต่เมื่อผู้ร้องมาถึงในวันนัดหมาย ผู้ถูกร้องได้ควบคุมตัวผู้ร้องไว้รวมกับผู้ต้องหาชายรายอื่นในรถ โดยให้นั่งรถรวมกันไปยังสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงสงขลา และจอดรถไว้กลางแดดเป็นเวลานานถึง 3 ชั่วโมง ผู้ร้องเห็นว่าตนได้ให้ความร่วมมือโดยตลอดและเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยตนเอง ไม่คิดจะหลบหนี มีหน้าที่การงานและที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับปฏิบัติต่อผู้ร้องเยี่ยงอาชญากรทั้งที่ข้อหาไม่ร้ายแรงและสามารถแจ้งให้ผู้ร้องไปพบที่สำนักงานอัยการหรือศาลด้วยตนเองได้ จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. เห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การนำตัวผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ต้องหาหญิงส่งฟ้องต่อโดยใช้วิธีการควบคุมตัวบนรถยนต์รวมกับผู้ต้องหาชาย เป็นการก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อผู้ร้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา และสอบปากคำ โดยไม่มีการจับกุมแล้ว พนักงานสอบสวนย่อมมีหน้าที่ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ พร้อมกับสั่งให้ผู้ร้องไปพบพนักงานอัยการ แต่พนักงานสอบสวนกลับนัดให้ผู้ร้องมาพบที่สถานีตำรวจอีกครั้งในวันถัดมา เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนในการส่งมอบสำนวนการสอบสวน (ฟ้องด้วยวาจา) ไปยังพนักงานอัยการพร้อมกับตัวผู้ร้อง โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ร้องขึ้นรถที่จัดไว้สำหรับนำส่งตัวผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวในคราวเดียวกัน ร่วมกับผู้ต้องหาชายอีก 4 คน ซึ่งมีทั้งผู้ต้องหาคดียาเสพติด คดีหมิ่นเจ้าพนักงาน และคดีทะเลาะวิวาทโดยใช้อาวุธ ประกอบกับสภาพของรถที่ใช้ในการควบคุมและนำส่งผู้ร้องยังมีลักษณะเป็นรถกระบะที่มีห้องควบคุมตัวแบบปิดมิดชิด โดยไม่มีการแบ่งแยกสัดส่วนหรือพื้นที่ในการควบคุมตัวระหว่างผู้ต้องหาชายกับหญิงอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นหญิงเกิดความรู้สึกหวาดกลัวและอยู่ในสภาวะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย

สำหรับประเด็นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จอดรถไว้กลางแดดเป็นเวลานานนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงอันเชื่อได้ว่า ผู้ร้องถูกควบคุมตัวไว้ในรถที่ใช้ในการนำส่งตัวผู้ต้องหาเป็นเวลานานถึง 3 ชั่วโมง นับตั้งแต่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงสงขลาได้รับสำนวนฟ้องด้วยวาจาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกร้อง ณ เวลา 09.30 น. จนถึงช่วงเวลาเที่ยงวัน เนื่องจากในแต่ละวันสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงสงขลาจะต้องพิจารณาสำนวนเพื่อส่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลหลายคดี และแต่ละคดีไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่ใช้ในการพิจารณาได้อย่างแน่นอน เป็นผลให้ผู้ร้องต้องอยู่ในรถควบคุมตัวที่มีสภาพไม่เหมาะสมสำหรับผู้ต้องขังหญิงเป็นระยะเวลานาน

กสม. เห็นว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ผู้ถูกร้องในลักษณะดังกล่าว เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับการควบคุมตัวผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ต้องหาหญิง และไม่ได้คำนึงถึงความละเอียดอ่อนด้านเพศสภาพ และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามพฤติการณ์แห่งกรณี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้หญิงย่อมมีความจำเป็นและความต้องการเฉพาะด้านที่ต่างไปจากผู้ชาย ทั้งในเรื่องสุขอนามัย สภาพจิตใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความต้องการเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งผู้ต้องขังต่างประเภทกันพึงแยกคุมขังไว้คนละแห่ง โดยคำนึงถึงเพศ อายุ ประวัติด้านอาชญากรรม เหตุผลในทางคดีในการคุมขัง และความจำเป็นต่าง ๆ ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเหล่านั้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่ผู้หญิงอาจถูกล่วงละเมิดขณะถูกควบคุมตัวช่วงก่อนและระหว่างการพิจารณาคดีด้วย ดังนั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จึงเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Mandela Rules) และข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non – custodial Measures for Women Offenders) อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ (สภ. หาดใหญ่) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สรุปได้ ดังนี้

(1) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้ข้อมูลตามรายงานผลการตรวจสอบนี้ สอบสวนหาสาเหตุการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. หาดใหญ่ นำตัวผู้ร้องซึ่งเป็นผู้หญิงไปควบคุมตัวบนรถยนต์ร่วมกับผู้ต้องหาชาย แล้วดำเนินการไปตามหน้าที่และอำนาจเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้อีก และให้จัดรถที่เอื้อต่อความปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้ สภ. หาดใหญ่ใช้ในการนำส่งตัวผู้ต้องหาในจำนวนที่เพียงพอต่อการควบคุมตัวผู้ต้องหาหญิงแยกต่างหากจากผู้ต้องหาชาย รวมทั้งกรณีของผู้ต้องหาที่เป็นเด็กและเยาวชนด้วย

นอกจากนี้ ให้กำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมตัวผู้ต้องหาหญิงในชั้นพนักงานสอบสวน โดยคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ (gender sensitivity) และความต้องการหรือความจำเป็นเฉพาะของผู้หญิง โดยกำหนดเป็นนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติในการนำส่งตัวผู้ต้องหาไปสำนักงานอัยการหรือศาล เพื่อประกันความปลอดภัยให้กับผู้ต้องหาผู้หญิง

(2) ให้สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่กำชับให้พนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ในสังกัด แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิที่จะเดินทางไปพบพนักงานอัยการด้วยตนเองในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ได้ถูกจับกุมหรือควบคุมตัว และให้ใช้วิธีการนัดหมายกับพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่นำส่งสำนวนการสอบสวน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts